สร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ สำหรับครัวเรือนเปราะบาง หนึ่งในของขวัญปี 2567 ของ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ที่เจ้ากระทรวง วราวุธ ศิลปอาชา มอบหมายให้ทุกกรมดำเนินการจัดหาให้กับกลุ่มเป้าหมายในความดูแลรับผิดชอบ

กรมกิจการเด็กและเยาวชน (ดย.) จึงจัดทำ “โครงการพัฒนาเยาวชนสู่ผู้ประกอบการเพื่อสังคม หรือ New Gen Start Up เพื่อสังคม” สู่เป้าหมายตอบโจทย์การสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ พร้อมๆกับการตระหนักถึงความรับผิดชอบต่อสังคมด้วย

นางอภิญญา ชมภูมาศ อธิบดี ดย. เปิดเผยถึงแนวคิดที่มาโครงการว่า สืบเนื่องจากอัตราการเกิดน้อยลง ทั้งยังเกิดคำกล่าวที่ว่า “เกิดน้อยด้อยคุณภาพ” ดย.เป็นหนึ่งในกรมที่มีภารกิจในการดูแลส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาเด็กและเยาวชนให้เติบโตอย่างมีคุณภาพ สู่อนาคตที่พร้อมทำงานหาเลี้ยงชีพด้วยตนเอง รวมถึงการดูแลรับผิดชอบคนในครอบครัว และ จากสถานการณ์ที่เด็กเกิดน้อยด้อยคุณภาพ เราจึงจำเป็นต้องทำให้เด็กที่เกิดน้อยอยู่แล้วมีคุณภาพยิ่งขึ้น ขณะเดียวกันผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ เป็นช่องทางให้อาชีพใหม่ๆเกิดขึ้นมากมาย สภาวการณ์ต่างๆดังกล่าว ทำให้เยาวชนบางกลุ่มยังไม่รู้ว่าอาชีพใหม่ๆที่เกิดขึ้นในยุคที่สถานการณ์เปลี่ยนแปลงไป ควรเป็นอาชีพประเภทใด อีกประเด็นสำคัญคือ ทำอย่างไรให้อาชีพนั้นๆดำเนินการด้วยความตระหนักถึงความรับผิดชอบต่อสังคมด้วย จึงเป็นที่มาของ โครงการพัฒนาเยาวชนสู่ผู้ประกอบการเพื่อสังคม หรือ New Gen Start Up เพื่อสังคม บนหลักการที่จะช่วยเสริมความรู้ความคิดความเชื่อมั่นในธุรกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise–SE) ให้กับเยาวชนเพื่อเสริมความรู้ความเข้าใจ และมีความเชื่อมั่นในธุรกิจ SE โดยใช้คุณค่าและศักยภาพในตัวเยาวชนเองเป็นผู้ขับเคลื่อน สร้างความตระหนักรู้และรับผิดชอบต่อตนเองและสังคมด้วย

...

อภิญญา ชมภูมาศ
อภิญญา ชมภูมาศ

“เป้าหมายโครงการ เบื้องต้นจะดำเนินการในกลุ่มเยาวชนอายุ 18-25 ปี ที่มีความสนใจ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มนิสิตนักศึกษาที่อยู่ในสถาบันการศึกษาหรืออยู่นอกระบบการศึกษา รวมทั้งเยาวชนจากสภาเด็กและเยาวชน จำนวน 1,000 คน เพื่อเข้ารับการอบรมแบ่งเป็น 4 รุ่นใน 4 ภูมิภาค โดยจะเปิดรับสมัครในช่วงมกราคม-กุมภาพันธ์ 2567 จากนั้นช่วงเดือนมีนาคม-สิงหาคม 2567 กลุ่มเยาวชนดังกล่าวจะเข้ารับการอบรมความรู้ และสร้างความเข้าใจในธุรกิจ Social Enterprise ตามหลักสูตร ได้แก่ ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับธุรกิจเพื่อสังคม, การประเมินผลกระทบทางสังคม, ผลตอบแทนทางสังคม, กฎหมายเบื้องต้นเกี่ยวกับธุรกิจเพื่อสังคม, การจดทะเบียนและสิทธิประโยชน์วิสาหกิจเพื่อสังคม รวมถึงการจัดทำช่องทางการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ (Platform) เป็นต้น หลังจากนั้นจะมีการพิจารณาคัดเลือกผ่านการเสนอแผนงานโครงการให้เหลือจำนวน 100 คน เพื่อเข้าสู่ระยะการพัฒนาต่อยอดให้เป็นผู้ประกอบการเพื่อสังคม ซึ่งจะเข้ามาอยู่ในค่ายอบรมเรียนรู้ธุรกิจเพื่อสังคมเข้มข้นขึ้น รวมถึงการเรียนรู้ช่องทางการสร้างแพลตฟอร์ม ช่องทางสื่อสารแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับกลุ่มธุรกิจเพื่อสังคม” อธิบดี ดย.ขยายความเพื่อให้เห็นภาพโครงการชัดเจนขึ้น

ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวได้รับความร่วมมือจาก ศ.ดร.กนก วงษ์ตระหง่าน ที่ปรึกษา รมว.พม. เป็นพี่เลี้ยงโครงการให้คำปรึกษาแนะนำ นอกจากนี้ยังได้ทีมของ น.ส.เอริกา เมษินทรีย์ ผู้ร่วมก่อตั้ง Youth In Charge และสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม (สวส.) ร่วมสนับสนุน ทั้งระยะต่อไปจะประสานความร่วมมือกับมหาวิทยาลัย สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) และสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) เพื่อร่วมกันพัฒนากลุ่มเยาวชน 100 คนที่ผ่านการคัดเลือก ผลที่คาดหวังอย่างน้อย 80% ของผู้เข้าร่วมอบรมจะมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการประกอบธุรกิจเพื่อสังคมสำหรับผู้ประกอบการรุ่นเยาว์ มีความตระหนักรู้ เกิดแนวทางการทำธุรกิจเพื่อสังคมร่วมกับเครือข่าย และมีช่องทางการขับเคลื่อนธุรกิจเพื่อสังคม เยาวชนได้รับการส่งเสริมศักยภาพ เตรียมความพร้อมทักษะอาชีพที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน และสามารถพึ่งพาตนเองได้ สำหรับโครงการนี้กำหนดระยะเวลาดำเนินการเบื้องต้น 3 ปีระหว่างปี 2567-2569 โดยสิ้นปี 2567 จะมีการประเมินผลถอดบทเรียนเพื่อพัฒนาและดำเนินการต่อเนื่องในปี 2568-2569 ซึ่งใน 100 คนแรกที่ได้รับการคัดเลือกและผ่านการอบรมอย่างเข้มข้น จะเป็นโมเดลที่นำไปสู่การขยายผลในรุ่นต่อไป

...

“เราใช้ทรัพยากรธรรมชาติ หรือทรัพยากรประเทศกันมาก จนส่งผลต่อสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป เป็นผลจากที่เราดำเนินการสิ่งต่างๆ โดยอาจจะไม่คำนึงถึงผลกระทบ ไม่ได้ตระหนักถึงความรับผิดชอบต่อสังคมมากเท่าที่ควร โดยเฉพาะกลุ่มเด็กและเยาวชนที่กำลังจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ในอนาคต หากทุกฝ่ายรวมถึงตัวเด็กและเยาวชนเองไม่เรียนรู้และตระหนักถึงความรับผิดชอบต่อสังคมตั้งแต่บัดนี้ อาจจะส่งผลให้ต้องเผชิญความเสี่ยงจากสภาพการเปลี่ยนแปลงต่างๆ มากขึ้นในอนาคต โครงการนี้จึงเป็นอีกส่วนที่ เราคาดหวังว่าเด็กและเยาวชนรุ่นนี้ไม่ว่าจะอยู่ในสถานะอาชีพอะไร จะเป็นคนรุ่นต่อไปที่ดำเนินธุรกิจใดๆ ก็ตาม คงไม่ได้คำนึงถึงแต่ผลกำไรเพียงอย่างเดียว แต่ยังคำนึงถึงผลกระทบความรับผิดชอบต่อสังคมด้วย เพื่อการมีอาชีพที่มั่นคง สามารถเป็นเสาหลักของครอบครัวแล้ว ยังเชื่อมต่อการสร้างความมั่นคงให้กับประเทศชาติด้วย” นางอภิญญา กล่าวถึงความมุ่งมั่นในการสร้างจิตสำนึกและตระหนักรู้ของเยาวชน

...

ทีมข่าวการพัฒนาสังคม เห็นด้วยและสนับสนุนอย่างยิ่งกับการสร้างความตระหนักถึงความรับผิดชอบต่อสังคมโดยรวม เพราะคงไม่ใช่ภารกิจของคนรุ่นใดรุ่นหนึ่ง แต่การช่วยกันดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ เพื่อส่งต่อให้คนรุ่นต่อๆไป เป็นภารกิจของมนุษยชาติทุกคนที่จะต้องให้ความสำคัญ โดยเฉพาะกลุ่มเด็กและเยาวชนที่กำลังเติบโตและต้องเผชิญผลลัพธ์ที่เกิดจากผลการกระทำของทุกคนในวันนี้ นอกจากเป็นการสร้างเกราะรับมือความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ให้กับตัวเองแล้ว

ยังเป็นพลังสำคัญในการสร้างสรรค์โลกใบนี้ให้ปลอดความเสี่ยงจากภัยต่างๆที่จะเกิดขึ้นในอนาคตด้วย.

ทีมข่าวการพัฒนาสังคม

อ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ทั้งหมดที่นี่