ขณะที่ผู้นำรัฐบาลเดินสายหาตลาดทางการค้า จากต่างประเทศ หาผู้ลงทุน เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ เพิ่มรายได้ผลิตภัณฑ์มวลรวม แต่นักธุรกิจนักลงทุนจากทั่วโลกจะมั่นใจในการค้าได้อย่างไร หากกระบวนการยุติธรรม โดยเฉพาะระบบงานยุติธรรมทางอาญาขาดความน่าเชื่อถือ หรือไม่มีประสิทธิภาพ
งานยุติธรรมจึงต้องเดินหน้าควบคู่ฝ่ายรัฐบาล
หนึ่งในกระบวนการยุติธรรม คือ ศาลยุติธรรม มีนางอโนชา ชีวิตโสภณ เป็นประธานศาลฎีกา มีวิสัยทัศน์ “ต่อยอด ขยายผล และสร้างสรรค์ความยุติธรรมที่ยั่งยืน โดยมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง” โดยวางแนวปฏิบัติ 4 ทิศทาง คือ 1.ที่พึ่ง 2.เที่ยงธรรม 3.เท่าเทียม 4.ทันโลก
ประธานศาลฎีกาเขียนนโยบายแล้วก็เร่งนำไปปฏิบัติ ดังนี้ “ที่พึ่ง” คือเมื่อประชาชนเดือดร้อนหรือมีข้อพิพาท ศาลยุติธรรมต้องเป็นที่พึ่งของประชาชนในอันดับแรก คือการส่งเสริมระงับข้อพิพาททางเลือกให้คู่วิวาทได้สมานฉันท์ โดยไม่มีค่าใช้จ่าย พัฒนาช่องทางให้ประชาชนมาใช้บริการศาลแบบง่ายๆ ขจัดระบบงานที่ซ้ำซ้อน ประสานกับหน่วยงานอื่นเพื่อความรวดเร็วในการพิจารณาพิพากษาหรือคำสั่งศาล
...
“เที่ยงธรรม” ศาลต้องใช้อำนาจตุลาการด้วยความบริสุทธิ์ยุติธรรม เป็นหลักประกันเสรีภาพประชาชน ผู้พิพากษามีความเชี่ยวชาญในกฎหมายชำนัญพิเศษ เพิ่มมาตรการเยียวยาเหยื่อจากการละเมิดกฎหมาย แก้ไขฟื้นฟูเยาวชนที่กระทำผิดอย่างครบวงจร “เท่าเทียม” คือ ประชาชนที่มาศาลต้องได้รับการปฏิบัติที่เสมอภาคเท่าเทียม เช่น การปล่อยชั่วคราว การจัดหาที่ปรึกษากฎหมายแก่ประชาชน
“ทันโลก” ด้วยการนำระบบเทคโนโลยีสารสน เทศ และส่งเสริมบุคลากรศาลเพิ่มความรู้ประสบ การณ์จากสถานศึกษา ผลงานล่าสุดคือการนำระบบไกล่เกลี่ยคดีก่อนฟ้องคดีอาญา เช่น ยักยอก ฉ้อโกง หมิ่นประ มาท ทำให้เสียทรัพย์ บุกรุก และคดีแพ่งทุกประ เภท โดยศาลจะเป็นคนกลางมาพูดคุยกันและยุติข้อพิพาทเป็นคำพิพากษาตามยอมโดยไม่ต้องฟ้องคดี
สำนักงานอัยการสูงสุดเป็นผู้ใช้อำนาจกึ่งตุลาการ มีนายอำนาจ เจตน์เจริญรักษ์ เป็นอัยการสูงสุด มีอำนาจใช้กฎหมายตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด การฟ้องคดีเอาคนชั่วมาเข้าคุกด้วยกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และปกป้องผลประโยชน์ของรัฐด้วยการว่าต่างแก้ต่างคดีที่ส่วนราชการไปก่อเรื่อง และเป็นที่ปรึกษากฎหมายแก่รัฐก่อนที่จะเข้าทำสัญญา พักหลังอัยการมีบทบาทในการช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมายแบบให้เปล่าอีกด้วย
อสส.คนใหม่มีแนวคิดพัฒนาคุณภาพการสอบสวนคดีของอัยการ การบังคับคดีและการประนีประนอมยอมความของคู่พิพาท โดยล่าสุด อสส.จะขอแก้ไขกฎหมายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เกี่ยวกับกำหนดระยะเวลาการสอบสวนให้ชัดเจน ในกรณีตำรวจส่งสำนวนให้อัยการพิจารณา อัยการจะได้รอบคอบในการตรวจสั่งสำนวน การเร่งรัดการสอบสวนเพิ่มเติม และที่น่าสนใจคือ ศึกษาและวิเคราะห์ให้อัยการมีอำนาจในการสืบสวน เป็นหน่วยงานของอัยการเอง เพื่อสนับสนุนงานสอบสวนของอัยการ ทั้งนี้ อสส.จะผลักดันให้อัยการทำงานเชิงรุก พัฒนางานส่งผู้ร้ายข้ามแดน การบังคับคดีภาครัฐพัฒนาบุคลากร กระจายงานออกไปยังภูมิภาค ทุกคนต้อง
ทำงานด้วยความซื่อสัตย์สุจริต การสอบวินัยข้าราชการต้องมีประสิทธิ ภาพ และส่ง เสริมสุขภาพกายสุขภาพจิตที่ดี
ดร.วิเชียร ชุปไธสง นายกสภาทนายความ ในพระบรมราชูปถัมภ์ คนปัจจุบัน ได้เน้นการช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมายเชิงรุก ดังนี้ 1.จัดอบรมกฎหมายที่ประชาชนควรรู้ผ่านทั้งระบบออนไลน์และระบบออนไซต์ทั่วทุกภูมิภาค 2.ร่วมมือหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน ให้ความรู้ทางด้านกฎหมายแก่ประชาชนเพื่อให้เข้าถึงกระบวนการยุติธรรมอย่างแท้จริง 3.จัดทำโครงการคลินิกกฎหมายเคลื่อนที่โดยรถโมบายให้บริการประชาชน 4.จัดตั้งศูนย์ให้ความช่วยเหลือสุภาพสตรีที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศ ด้วยการจัดหาทนายความที่เป็นผู้ไว้คอยช่วยเหลือ 5.การช่วยเหลือคดีที่เป็นการคุ้มครองประโยชน์สาธารณะ หรือที่ประชาชนได้รับผลกระทบเป็นจำนวนมาก และ 6.การให้บริการแก้หนี้ให้ประชาชนที่ยากไร้และไม่ได้รับความเป็นธรรม
...
ในปี 2567 กระบวนการยุติธรรมจะเร่งทำงาน เพื่อให้ประชาชนปลอดภัยอย่างเสมอภาค.
เชษฐ์ สุขสมเกษม
อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่