เผยยอดสถิติอุบัติเหตุรวม 5 วัน ช่วงเทศกาลปีใหม่ 2567 เกิด 1,839 ครั้ง มีผู้บาดเจ็บ 1,860 ราย เสียชีวิต 212 ราย ด้าน “บิ๊กโจ๊ก” เผยผลตรวจแอลกอฮอล์ที่สถานีขนส่ง ตั้งแต่ บช.ภ.1-9 และ บช.น.ที่มีการตรวจพนักงานขับรถทั้งสิ้นกว่า 8 พันราย ใน 218 สถานีขนส่ง ไม่พบเมาแล้วขับ ชื่นชมพนักงานขับรถ-ผู้ควบคุมและบริษัทขนส่งที่กวดขันเข้มงวด ชี้หากรณรงค์เข้มข้นทุกเทศกาลอุบัติเหตุจะลดลงและหมดไปแน่นอน

แม้เทศกาลปีใหม่ 2567 ผ่านพ้นไปแล้ว แต่ยังมีผู้ที่ไปฉลองปีใหม่กับครอบครัวที่ภูมิลำเนาและไปท่องเที่ยวในหลายสถานที่ทั่วไทย เดินทางกลับเข้ากรุงเทพฯและปริมณฑล รวมถึงกลับถิ่นฐานที่อยู่หรือจังหวัดที่ทำงานกันอย่างไม่ขาดสาย ส่งผลให้สภาพจราจรบนถนนสายต่างๆยังหนาแน่นด้วยยวดยานนานาชนิด

ที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เมื่อวันที่ 3 ม.ค. นายชาครีย์ บำรุงวงศ์ ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการขนส่งทางบก กระทรวงคมนาคม แถลงสรุปสถิติอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ 2567 ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ 2567 ช่วง 5 วันของการรณรงค์วันที่ 29 ธ.ค.66-2 ม.ค.67 ว่า เกิดอุบัติเหตุรวม 1,839 ครั้ง ผู้บาดเจ็บรวม 1,860 คน ผู้เสียชีวิต 212 ราย จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสุดได้แก่ กาญจนบุรี 69 ครั้ง จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสะสมสูงสุด ได้แก่ กาญจนบุรี 73 คน จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร 15 ราย จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิต ตายเป็นศูนย์ มี 17 จังหวัด จัดตั้งจุดตรวจหลัก 1,792 จุด เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน 51,553 คน จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ กาญจนบุรีและสงขลาจังหวัดละ 12 ครั้ง จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสูงสุด จ.กาญจนบุรี 17 คน

ขณะที่นายเรืองศักดิ์ สุวารี อธิบดีกรมคุมประพฤติ กล่าวถึงการจับกุมผู้ขับขี่รถยนต์กระทำผิดกฎหมายช่วงเทศกาลปีใหม่ว่า คดีที่ศาลสั่งคุมความประพฤติวันที่ 2 ม.ค. มี 2,043 คดี จำแนกเป็น คดีขับรถขณะเมาสุรา 1,988 คดี คดีขับเสพ 53 คดี คดีขับรถประมาท 2 คดี สถิติยอดรวมสะสม 5 วัน ที่มีการควบคุมเข้มงวดตั้งแต่วันที่ 29 ธ.ค.2566-2 ม.ค.2567 จำนวน 5,321 คดี จำแนกเป็นคดีขับรถขณะเมาสุรา 5,195 คดี คดีขับรถประมาท 3 คดี คดีขับเสพ 123 คดี จังหวัดที่มีสถิติคดีขับรถขณะเมาสุรายอดสะสมสูงสุด 3 อันดับ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร 314 คดี หนองคาย 273 คดี และสมุทรปราการ 252 คดี

...

วันเดียวกัน พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร. เดินทางไปที่สถานีขนส่ง จ.นครราชสีมาและ จ.ขอนแก่น ตรวจจุดคัดกรองเมาแล้วขับบริเวณสถานีขนส่ง ตามแผนรณรงค์เมาไม่ขับ เริ่มมาตั้งแต่ปลายปีช่วงเจ็ดวันอันตรายและเผยว่า ผลการตรวจแอลกอฮอล์ที่สถานีขนส่งตั้งแต่ บช.ภ.1-9 และ บช.น. พบมีการเรียกตรวจพนักงานขับรถทั้งสิ้น 8,420 ราย จาก 218 สถานีขนส่ง ไม่พบมีพนักงานขับรถโดยสารคนใดเมาแล้วขับ ถือเป็นเรื่องที่ต้องชื่นชมทั้งพนักงานขับรถผู้ควบคุมไปจนถึงบริษัทขนส่งที่เอาใจใส่กวดขันอย่างเข้มงวด ขอชื่นชมเจ้าหน้าที่ทุกภาคส่วนที่ให้ความร่วมมือในการรณรงค์เมาไม่ขับจนทำให้สถิติอุบัติเหตุและผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุลดลงเป็นที่น่าพอใจ มั่นใจว่าหากรณรงค์เข้มข้นในทุกเทศกาลจะทำให้จำนวนผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตรวมถึงพิการจากอุบัติเหตุลดลงและหมดไปอย่างแน่นอน ส่วนคนที่พบว่าดื่มสุราแล้วมาขับขี่ยวดยานพาหนะ มีบท ลงโทษทางกฎหมายที่รุนแรง เอาจริงเอาจัง

ในส่วนการเดินทางของผู้คนนั้นเมื่อช่วงเช้าวันที่ 3 ม.ค. สภาพการจราจรบนถนนสาย 304 ยังคงมีปริมาณรถเดินทางกลับภูมิลำเนาหรือกลับเข้ากรุงเทพฯมาทำงานกันอย่างหนาแน่น ตั้งแต่เขตรอยต่อ อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา ผ่าน อ.นาดี อ.กบินทร์บุรี อ.ศรีมหาโพธิ จ.ปราจีนบุรี ถึงเขตรอยต่อสะพานแยกถนนสาย 359 ต.เขาหินซ้อน อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา มีปริมาณรถหนาแน่นตลอดทั้งคืนวันที่ 2 ม.ค. ต่อเนื่องถึงเช้า มีตำรวจจราจรและตำรวจทางหลวงคอยอำนวยความสะดวกตามทางร่วมทางแยกตลอดเส้นทาง ให้ประชาชนเดินทางด้วยความสะดวกรวดเร็ว

ส่วนที่ถนนมิตรภาพตั้งแต่ กม.ที่ 42 อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา จนถึง อ.มวกเหล็ก ถึงแยกตัวเมืองสระบุรีขาเข้ากรุงเทพฯมีรถหนาแน่นตลอดเส้นทางและใช้ความเร็วได้ 30-40 กม./ชั่วโมง บางช่วงรถหยุดนิ่งหรือชะลอตัว มีตำรวจทางหลวงหินกอง สระบุรีเปิดเส้นทางพิเศษให้อย่างต่อเนื่อง เมื่อรถวิ่งเลี้ยวซ้ายเข้าสู่ถนนพหลโยธินมุ่งหน้าเข้า กทม. มีรถหนาแน่นเพิ่มขึ้นจากรถที่วิ่งมาจาก จ.ลพบุรี และ จ.เพชรบูรณ์ อีกจุดคือแยกบายพาสจากแยกโรบินสันสระบุรี ถนนมิตรภาพเบี่ยงซ้ายผ่าน 4 แยกวัดพระพุทธฉาย ตรงมาบรรจบถนนพหลโยธินตรง กม.99 ต.หนองนาค อ.หนองแค มีรถหนาแน่นเป็นพิเศษเพราะมีรถตรงจากตัวเมืองสระบุรีเข้ามาสมทบทำให้รถชะลอตัวและหนาแน่นยาวไปจนถึง อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา

อ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ทั้งหมดที่นี่