“ปีใหม่ 2567 จิตใหม่ ชีวิตใหม่” ศ.นพ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส ขออวยพรให้เพื่อนคนไทยทุกคน มีชีวิตใหม่ที่เปี่ยมสุขและทรงคุณค่า
“คนทุกคนมีศักยภาพที่จะเข้าถึงสิ่งสูงสุด คือ ความจริง ความดี ความงาม ที่ทำให้ชีวิตเป็นสุขสูงสุด อวัยวะ เช่น ตับ ไต หัวใจ ยังเปลี่ยนได้ จิตก็เปลี่ยนได้ แต่เปลี่ยนอวัยวะชีวิตไม่เปลี่ยน”
ส่วนถ้าเปลี่ยน “จิต”...“ชีวิต” จะเปลี่ยน
คนตามปกติ จิตเล็ก เพราะติดอยู่ในตัวตนหรืออัตตา ซึ่งเป็นที่แคบเหมือนคนติดคุก ทำให้ไม่มีอิสรภาพ บีบคั้น และความทุกข์ ถ้าลดอัตตาให้เบาบาง จิตจะใหญ่เป็นอิสระ มีศักยภาพสูง มีความสุขมาก
เมื่อกว่า 20 ปีมาแล้ว ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส เตือนว่า...เรากำลังเผชิญ “วิกฤตการณ์ลูกที่ 4 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์” ตั้งแต่กรุงรัตนโกสินทร์ “ประเทศไทย” เผชิญวิกฤตการณ์ใหญ่และยากมา 3 คลื่น ซึ่งก็เอาตัวรอดมาได้ แต่ทว่า...วิกฤตการณ์คลื่นลูกที่สี่นี้ยากกว่าสามลูกแรก
เพราะเป็นวิกฤตการณ์ความซับซ้อน...ที่ยากเข้าใจ และไม่มีใครเข้าใจ
“ในคลื่นวิกฤตการณ์สามลูกแรก เป็นวิกฤตการณ์ที่เข้าใจได้ง่ายว่าศัตรูคือใคร หรืออะไร ถ้ากำหนดศัตรูหรือสาเหตุของปัญหาได้ ก็สามารถกำหนดยุทธศาสตร์เอาชนะได้ในที่สุด แต่ในวิกฤตการณ์ความซับซ้อนทุกสิ่งทุกอย่างเชื่อมโยงกันอย่างยาวไกลและซับซ้อน ทำให้ไม่สามารถกำหนดศัตรูได้”
เมื่อกำหนดไม่ได้ก็ไม่สามารถกำหนดยุทธศาสตร์ที่จะเอาชนะได้ ทำให้ประเทศไทยไม่สามารถก้าวข้ามวิกฤตการณ์เรื้อรัง ไม่ว่าจะมีรัฐบาลแบบใดๆ จนกระทั่งวิกฤติโควิดมาเยือน
...
ซึ่งสะเทือนประเทศอย่างรุนแรงในทุกมิติ แต่พร้อมๆกันนั้นวิกฤติโควิดได้เผยให้เห็นว่า...ประเทศไทยมีความอ่อนแอในตัวเองหลายอย่าง คลื่นลูกที่สี่...ที่ว่าไม่รู้ว่าศัตรูคือใครนั้น
...เผลอๆศัตรูคือตัวเราเอง ซึ่งหมายถึงความอ่อนแอในตัวเอง
ท่านดาไลลามะ เคยกล่าวไว้ว่า ปัญหาของมนุษย์ทุกวันนี้คือความพร่องจิตวิญญาณ และการแก้ไขปัญหาของมนุษยชาติคือการปฏิวัติทางจิตวิญญาณ (Spiritual Revolution)
คำว่า “จิตวิญญาณ” ใช้ทั่วไปในสังคมไทยมาก่อน หมายถึงสิ่งอะไรก็ตามที่มีคุณค่าสูงทางจิตใจ เราจึงนำคำที่ใช้ในสังคมไทยมาใช้เรียกว่าสุขภาวะทางจิตวิญญาณ ต่อมาได้มีการปรับเปลี่ยนมาใช้คำว่าสุขภาวะทางปัญญา ทั้งนี้คำว่า “จิต” หมายถึง “ความรู้สึกนึกคิด”
ในทางพุทธคือเบญจขันธ์ ประกอบด้วย รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
จิตมีลักษณะสมมติ คือ มีความรู้สึกสุขทุกข์ได้ มีความจำได้ มีความคิดปรุงแต่งได้ มีการรับรู้ทางวิญญาณได้ ส่วนคำว่า “วิญญาณ” ในทางพุทธศาสนา หมายถึง การรู้เวลามีผัสสะโดยมีอายตนะทั้ง 6 เป็นเครื่องรับ ได้แก่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และ ใจ
คำว่า Spiritual หมายถึง มิติที่เหนือวัตถุ ในทางพุทธเรียก “โลกุตตระ” หรือเหนือโลก สมัยกรุงรัตนโกสินทร์จงใจไม่ใช้คำนี้จนกระทั่งท่านอาจารย์พุทธทาสมาฟื้นกลับมาใช้ พร้อมยังฝากปณิธานไว้ 3 ข้อคือ
ข้อแรก...ขอให้ศาสนิกชนของศาสนาต่างๆเข้าถึงหัวใจของศาสนาของตน เพราะหัวใจของทุกศาสนาคือ Spiritual หรือโลกุตตระ ซึ่งไม่รู้จะมีศาสนาไปทำไมถ้าเป็นเรื่องพื้นๆในระนาบเดียวกัน แต่ตรงนี้เหนือขึ้นไป
ทุกศาสนาจะมีเรื่องที่ไม่ใช่หัวใจแล้วจะไปทะเลาะกันที่ตรงนั้น
ถัดมา...ท่านพุทธทาสขอให้มีความร่วมมือกันระหว่างศาสนา ข้อสุดท้าย...ขอให้มนุษย์ถอนตัวออกจากวัตถุนิยม ซึ่งก็คือมุ่งไปสู่ระนาบของจิตวิญญาณ หรือ Spiritual หรือโลกุตตระ นั่นเอง
ท่านอาจารย์พุทธทาสใช้ตลอดชีวิตทำโลกุตตรโอสถให้เป็นยาสามัญประจำบ้าน คือทำให้เป็นเรื่องชีวิตประจำวัน เพราะคนไทยพุทธมักถือว่าโลกุตตระเป็นเรื่องห่างไกล แต่จะบอกว่าทางพุทธไม่ได้คิดอย่างนี้ก็คงไม่ได้ เพียงแต่อาจใช้คำอื่น เช่น ความดีงาม กุศล จิตสูง ความเป็นมนุษย์ ฯลฯ
ทางพุทธศาสนามีหลักที่เรียกว่า “ไตรสิกขา” ได้แก่ ศีล สมาธิ ปัญญา ซึ่งคำว่า “ปัญญา” ในทางพุทธมีความหมายพิเศษ เพราะพระพุทธเจ้าถือว่าความทุกข์ของมนุษย์เกิดจากอวิชชาหรือความไม่รู้
เพราะฉะนั้นปัญญาจะทำให้หมดทุกข์และเกิดสุขตามมา สุขภาวะจึงเกิดจากปัญญา และปัญญาในทางพุทธหมายถึงการลดความเห็นแก่ตัวลง ที่สุดแล้วเราจะถึง “อนัตตา” คือความไม่มีตัวตน
ดังนั้น ปัญญาที่ใช้ในที่นี้ก็คือ “สุขภาวะทางปัญญา”
พุทธศาสนายังเน้นเรื่องความเมตตากรุณา คือถ้ามีเมตตากรุณาก็ถือว่ามีปัญญา แต่ถ้าเห็นแก่ตัวก็ไม่ถือว่ามีปัญญาเพราะไม่ถือว่ามีคุณค่าทางจิตวิญญาณ
“การมีเมตตากรุณาถือว่าเริ่มต้นในทิศทางของจิตวิญญาณ ในพระไตรปิฎกก็บอกว่า ถ้าเผื่อแผ่เมตตาไปทุกทิศทุกทางอย่างไม่มีที่สิ้นสุดก็สามารถบรรลุธรรมได้”
...
ถึงตรงนี้ขอตัดกลับไปที่ประเด็น “มรรควิธีจิตใหม่ชีวิตใหม่” ศ.นพ. ประเวศ อธิบายขยายความว่า เริ่มจากเจริญสติเป็นเนืองนิตย์ สติทำให้เข้าถึงความจริง...มีไมตรีจิตอันไพศาล ต่อเพื่อนมนุษย์และสรรพสิ่ง ความรัก...ความเมตตาที่แผ่ไปทุกทิศทุกทาง เป็นเมล็ดพันธุ์แห่งความสุขที่ไปงอกงามขึ้นในที่ต่างๆ
ต่อเนื่องไปถึง “จิตจักรวาล”...ทำจิตเล็กให้เป็นจิตใหญ่ โดยเอาใจไปเชื่อมโยงกับธรรมชาติที่กว้างขวางใหญ่โตเกินจักรวาล เมื่อจิตใหญ่ก็จะรักผู้คน...สรรพสิ่ง เกิดปัญญา...ความสุข การเข้าถึงธรรม (ชาติ) และ...มีหัวใจเพื่อเพื่อนมนุษย์ ในการทำงานทุกอย่าง หัวใจเพื่อเพื่อนมนุษย์ทำให้จิตเล็กกลายเป็นจิตใหญ่
“ทำให้งานทุกอย่างมีคุณค่าสูง นี้ก็คือการทำความดีทั้งปวงนั่นเอง มนุษย์ขาดความดีไม่ได้”
ถัดมา...รวมตัวร่วมคิดร่วมทำในกิจสาธารณะต่างๆ ทำให้เกิดสังคมเข้มแข็ง สังคมเข้มแข็งทำให้เกิดความเป็นธรรม ทุกคนควรมีประสบการณ์สร้าง ชุมชนเข้มแข็ง คือ สามารถพัฒนาอย่างบูรณาการ 8 มิติ คือ เศรษฐกิจ จิตใจ สังคม สิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม สุขภาพ การศึกษา ประชาธิปไตย
“ชุมชนเป็นฐานของการสร้างประเทศที่มีบูรณภาพและดุลยภาพเป็น...แผ่นดินศานติสุข”
พร้อมๆกับ สุนทรียธรรม...เข้าถึงความงามของทุกสิ่งทุกอย่าง เป็นทางเข้าถึงสิ่งสูงสุดคือความจริง ความดี ความงาม ทั้ง 3 อยู่ที่เดียวกัน คนเข้าถึงธรรมจะสัมผัสความงามในสรรพสิ่ง ทำให้เกิดความสุขลึกล้ำ
ทำจิตให้ปีติปราโมทย์บันเทิง นึกถึงการทำเรื่องดีๆ ทั้งหมดข้างต้นจะเกิดความปีติปราโมทย์แผ่ไปทั่วเนื้อทั่วตัว
นี้คือภาวะเปี่ยมสุขและทรงคุณค่า สุดท้าย...สมาธิ ความปีติปราโมทย์ทำให้เกิดความสงบระงับหย่อนคลายเป็นปัจจัยนำของสมาธิ สมาธิทำให้จิตสงบ เป็นสุข
...
มีพลังมาก เป็นปัจจัยให้สำเร็จในการงานทุกชนิด
ทั้งหมดข้างต้นนี้คือมรรค 8 แห่ง... “จิตใหม่ชีวิตใหม่” ถ้าเจริญให้มากชีวิตจะเปี่ยมสุขและทรงคุณค่า...เป็นชีวิตที่น่าอยู่ เป็น “พลเมืองอารยะ” ที่จะช่วยกันถักทอโลกขึ้นมาใหม่ เป็นโลกที่มนุษยชาติและสรรพสิ่งจะร่วมกันอย่างสันติสมดุลและยั่งยืนงดงาม
“ขอให้เพื่อนคนไทยทุกคนมีชีวิตใหม่ที่งดงาม เปี่ยมสุข และทรงคุณค่าครับ” ศ.นพ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส กล่าวทิ้งท้าย.
คลิกอ่านคอลัมน์ "สกู๊ปหน้า 1" เพิ่มเติม