สำหรับภาคเกษตร ณ ห้วงเวลานี้ คงไม่มีประเด็นอะไรดราม่า ถูกพูดถึงในสังคมเท่ากับเรื่องหมูเถื่อนอีกแล้ว เพราะนอกจากจะบั่นทอนเกษตรกรไทยจนง่อยเปลี้ยเสียขาแล้ว ยังเบียดบังภาษีที่ประเทศชาติควรจะได้รับที่สุด การปปราบปรามหมูเถื่อนอย่างจริงจัง จึงเป็นเสมือนวาระแห่งชาติ ที่บัญชาตรงโดยนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี

นายสิทธิพันธ์ ธนาเกียรติภิญโญ นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งประเทศไทย ย้อนรอยให้ฟังถึงขบวนการค้าหมูเถื่อนว่า ย้อนกลับไปปลายปี 2563 อุตสาห กรรมหมูทั่วประเทศต้องอยู่ในภาวะเกือบล่มสลาย หมูในประเทศเสียหายไปเกือบ 50% จากระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร หรือ AFS เกษตรกรบางส่วนล้มหายตายจาก รายย่อยอาการน่าเป็นห่วง หมูในประเทศขาดแคลนจนมีราคาพุ่งสูง หมูมีชีวิต กก.ละ 100-105 บาท เนื้อหมูชำแหละ กก.ละ 180-200 บาท บางพื้นที่ราคาสูงกว่านี้ จำต้องนำเข้าหมูจากต่างประเทศ เพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการบริโภคในประเทศ ช่วงนี้พ่อค้าหัวใสเรียกได้ว่า “หวานหมู”

...

ต่อมาเมื่อมีการควบคุมได้ เกษตรกรมีความรู้ในการป้องกันโรคนี้ จนสถานการณ์ใกล้เข้าสู่ภาวะปกติ แต่พ่อค้าก็ยังคงนำเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ส่วนใหญ่เป็นหมูชิ้น หมูสามชั้น และเครื่องใน เพราะเป็นชิ้นส่วนที่ต่างชาติไม่นิยมบริโภค และเป็นหมูที่ใกล้หมดอายุหรือไม่ก็หมดอายุแล้ว ที่จะต้องถูกทำลายทิ้ง และมีการใช้สารเร่งเนื้อแดง ที่ไทยห้ามใช้มาราว 20 ปี

ส่วนใหญ่นำเข้าจากประเทศแถบอเมริกาใต้และยุโรป โดยเฉพาะบราซิล อาร์เจนตินา และเนเธอร์แลนด์ คาดการณ์ว่าถ้านับสะสมที่กระจายไปตามหัวเมืองต่างๆ มีการนำเข้าหมูเถื่อนแล้วไม่ต่ำกว่า 10,000 ตู้ ตู้ละ 25 ตัน เท่ากับมีหมูเถื่อนผ่านแผ่นดินไทยแล้วอย่างน้อยถึง 250,000 ตัน หรือ 2,250,000,000 กก.

สำหรับขบวนการหมูเถื่อนที่เข้ามามากที่สุดคาดว่าน่าจะเป็นท่าเรือแหลมฉบัง ด้วยการสำแดงเท็จเป็นอาหารทะเล แล้วกระจายส่งไปตามจังหวัดต่างๆ กระทั่งเกิดการปราบปรามอย่างจริงจังตั้งแต่ปลายรัฐบาลที่แล้ว จึงสันนิษฐานว่ามิจฉาชีพน่าจะเริ่มรู้ทัน เลยเบนหัวเรือไปประเทศเพื่อนบ้าน แล้วใช้กองทัพมดค่อยๆขนเข้ามาในบ้านเรา แบบนี้จะให้เชื่อว่าเจ้าหน้าที่รัฐ โดยเฉพาะด่านหน้าอย่างศุลกากรไม่มีส่วนเกี่ยวข้องได้อย่างไร

...

อย่างไรก็ตาม ปัญหาคนเลี้ยงหมูไม่ได้มีแค่หมูเถื่อนเท่านั้น ยังถูกเคราะห์ซ้ำกรรมซัดจากสถานการณ์โควิด-19 ค่าพลังงานที่สูงขึ้น และวัตถุดิบอาหารสัตว์แพงขึ้น จากภาวะสงคราม 25-30% และคาดว่าปีหน้าจะปรับตัวขึ้นอีก ทำให้เกษตรกรต้องแบกรับต้นทุน เพราะเราต้องนำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์ถึง 60% จนปัจจุบันต้นทุนเกษตรกรอยู่ที่ กก.ละ 80 บาท แต่ราคาหมูมีชีวิตหน้าฟาร์มอยู่ที่ 60-70 บาท โดยหมู 1 ตัว จะมีต้นทุนอาหารถึง 65% ทำให้เกษตรกรต้องแบกภาระขาดทุนมานานนับปี.

ทีมข่าวเกษตร

คลิกอ่าน “ข่าวเกษตร” เพิ่มเติม