ปภ.เผยวันส่งท้ายปี 2566 เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนวันเดียวพุ่ง 51 ศพ เจ็บ 416 คน ยอดรวม 3 วัน ช่วงรณรงค์ลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ 2567 ดับแล้ว 128 ศพ เจ็บ 1,151 คน “กาญจนบุรี” ควบแชมป์เกิดอุบัติเหตุ-ผู้บาดเจ็บสะสมสูงสุด ส่วน “กทม.” แชมป์ตายสะสม ขณะที่จังหวัดยอดตายเป็นศูนย์ลดเหลือแค่ 22 จังหวัด ด้านกรมบังคับคดีระบุคดีเมาขับยังครองแชมป์ จากคดีที่ศาลสั่งคุมประพฤติ 3 วัน 2,930 คดี เป็นคดีขับรถขณะเมาสุราถึงร้อยละ 97.75 ขณะที่ผู้คนที่กลับภูมิลำเนาและท่องเที่ยวทยอยเดินทางกลับกรุงจนรถแน่นถนนทุกสายตลอดวัน

ที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เมื่อวันที่ 1 ม.ค. พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ พร้อมด้วยนายโชตินรินทร์ เกิดสม รองปลัดกระทรวงมหาดไทย นายไชยวัฒน์ จุนถิระพงศ์ อธิบดี ปภ. และนายเธียรชัย ชูกิตติวิบูลย์ น.ส.ชัชดาพร บุญพีระณัช รองอธิบดี ปภ.ร่วมแถลงสรุปสถิติอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ 2567 ประจำวันที่ 31 ธ.ค.2566 เกิดอุบัติเหตุ 424 ครั้ง ผู้บาดเจ็บ 416 คน ผู้เสียชีวิต 51 ราย สรุปอุบัติเหตุทางถนนสะสมในช่วง 3 วันของการรณรงค์ (29-31 ธ.ค.2566) เกิดอุบัติเหตุรวม 1,150 ครั้ง ผู้บาดเจ็บ รวม 1,151 ราย ผู้เสียชีวิตรวม 128 ราย จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิต (ตายเป็นศูนย์) มี 22 จังหวัด

...

พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ในฐานะประธานแถลงข่าวสรุปผลการดำเนินงานของศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน (ศปถ.) ช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ.2567 ว่าจากการรวบรวมสถิติอุบัติเหตุทางถนน ประจำวันที่ 31 ธันวาคม 2566 วันที่สามของการรณรงค์ “ขับขี่ปลอดภัย เมืองไทยไร้อุบัติเหตุ” เกิดอุบัติเหตุ 424 ครั้ง ผู้บาดเจ็บ 416 คน ผู้เสียชีวิต 51 ราย สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ขับรถเร็ว ร้อยละ 37.26 ดื่มแล้วขับ ร้อยละ 32.78 ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 86.91 ส่วนใหญ่เกิดบนเส้นทางตรง ร้อยละ 80.19 ถนนใน อบต./หมู่บ้านร้อยละ 37.03 ถนนกรมทางหลวง ร้อยละ 36.56 ช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ช่วงเวลา 00.01-01.00 น. ร้อยละ 8.02 ผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตสูงสุด อยู่ในช่วงอายุ 20-29 ปี ร้อยละ 21.20 จัดตั้งจุดตรวจหลัก 1,780 จุด เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน 51,670 คน โดยจังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ กาญจนบุรี (18 ครั้ง) จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสูงสุด ได้แก่ นครศรีธรรมราช (20 คน) จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด ได้แก่ นครพนม และอุดรธานี (จังหวัดละ 4 ราย)

พล.ต.อ.สุรเชษฐ์กล่าวว่า สรุปอุบัติเหตุทางถนนสะสมในช่วง 3 วันของการรณรงค์ (29-31 ธ.ค. 2566) เกิดอุบัติเหตุรวม 1,150 ครั้ง ผู้บาดเจ็บรวม 1,151 คน ผู้เสียชีวิต รวม 128 ราย จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสุด ได้แก่ กาญจนบุรี (44 ครั้ง) จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสะสมสูงสุด ได้แก่ กาญจนบุรี (43 คน) จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร (8 ราย) จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิต (ตายเป็นศูนย์) มี 22 จังหวัด

พล.ต.อ.สุรเชษฐ์กล่าวอีกว่า ในวันที่ 1 ม.ค.2567 ยังอยู่ในช่วงเฉลิมฉลองต้อนรับเทศกาลปีใหม่ ประชาชน บางส่วนยังคงเดินทางท่องเที่ยวและทำบุญตามสถานที่ต่างๆ รวมถึงส่วนใหญ่เดินทางกลับเข้ากรุงเทพ มหานครและจังหวัดเขตเศรษฐกิจในภาคต่างๆ ทำให้เส้นทางหลักและเส้นทางสายรองที่เชื่อมต่อระหว่างจังหวัด มีปริมาณรถหนาแน่น ศปถ.จึงประสานจังหวัด อำเภอ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดูแลความปลอดภัยและอำนวยความสะดวก ในการเดินทางแก่ประชาชน เจ้าหน้าที่ประจำจุดตรวจบังคับใช้กฎหมายอย่างต่อเนื่องในเส้นทางสายต่างๆ โดยเฉพาะเส้นทางสายรองที่เชื่อมต่อระหว่างหมู่บ้านและอำเภอ ประชาชนใช้เป็นทางลัดออกสู่ถนนสายหลัก พร้อมคุมเข้มผู้ขับขี่ที่มีพฤติกรรมเสี่ยง ทั้งขับรถเร็ว ดื่มแล้วขับ ไม่ใช้อุปกรณ์นิรภัย รวมถึงประเมินความพร้อมของผู้ขับขี่ เพื่อป้องกันอุบัติเหตุจากการขับรถเร็วและง่วงหลับใน นอกจากนี้ ให้ดูแลความปลอดภัยของประชาชนบริเวณสถานีขนส่ง ตรวจสอบพนักงานขับรถและสภาพรถโดยสารให้มีความพร้อมในการให้บริการผู้โดยสารและอำนวยความสะดวกในการเดินทางของประชาชนอย่างต่อเนื่อง

วันเดียวกัน นายเรืองศักดิ์ สุวารี อธิบดีกรมคุมประพฤติ กล่าวถึงสถิติคดีที่เข้าสู่กระบวนการคุมความประพฤติ ว่า วันที่ 31 ธ.ค.2566 มีคดีทั้งสิ้น 2,286 คดี เป็นคดีขับรถขณะเมาสุรา 2,247 คดี และคดีขับเสพ 39 คดี ยอดสะสมสถิติคดีที่ศาลสั่งคุมประพฤติ 3 วัน ระหว่างวันที่ 29-31 ธ.ค.2566 มีจำนวนทั้งสิ้น 2,930 คดี จำแนกเป็นคดีขับรถขณะเมาสุรา 2,864 คดี คิดเป็นร้อยละ 97.75 คดีขับเสพ 65 คดี คิดเป็น ร้อยละ 2.22 คดี ขับรถประมาท 1 คดี คิดเป็นร้อยละ 0.03 เมื่อเปรียบเทียบสถิติพบว่าคดีขับรถขณะเมาสุรา ปี 2565 จำนวน 1,687 คดี และปี 2566 จำนวน 2,864 คดี เพิ่มขึ้นจำนวน 1,177 คดี จังหวัดที่มีสถิติ คดีขับรถขณะเมาสุราสะสมสูงสุด 3 อันดับ ได้แก่ กรุงเทพมหานครและสมุทรปราการ 198 คดีเท่ากัน หนองคาย 173 คดี และนนทบุรี 150 คดี

สำหรับตลอดวัน บนถนนสายหลักที่มุ่งหน้าเข้า กทม.ทั้งถนนมิตรภาพ ถนนพหลโยธิน ถนนสายเอเชีย ถนนสุขุมวิท ถนนเพชรเกษม กลับมาหนาแน่นด้วยยวดยานสารพัดชนิดอีกครั้ง หลังหมดช่วงหยุดยาวในเทศกาลเฉลิมฉลองปีใหม่ 2567 โดยถนนหลายเส้นทางในอำเภอเมืองนครสวรรค์ ทั้งที่ผ่านเข้าสู่ตัวเมือง และถนนสายเลี่ยงเมือง เต็มไปด้วยรถยนต์ทำให้ถนนทางหลวงหมายเลข 1 พหลโยธิน ฝั่งขาล่อง มีปริมาณรถที่แออัดเต็มผิวจราจร

...

ขณะที่ถนนมิตรภาพตั้งแต่เข้า จ.นครราชสีมา ที่แยก อ.บัวลาย-แยก อ.สีดา ต่อเนื่องแยกบ้านวัด อ.คง แยก ต.ตลาดแค อ.โนนสูง แยก ต.ตลาด อ.เมือง ต่อเนื่องเส้นบายพาสเลี่ยงเมืองนครราชสีมา-ทางขึ้นมอเตอร์เวย์ M6 กม.6 มีปริมาณรถมากขึ้น และสภาพการจราจรหนาแน่นขึ้นที่ กม.36 รอยต่อจาก ต.กลางดง อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา ซึ่งเส้นทางดังกล่าวเป็นทางลงเนินกลางดง รถต่อแถวยาววิ่งลงมาเข้าเขต อ.มวกเหล็ก จ.สระบุรี รถชะลอตัวบางช่วง ทางลงเนินเขาจัน อ.มวกเหล็ก จนถึงทางลงเนินเขาวัดซับบอน อ.แก่งคอย รถมีจำนวนมาก ขณะเดียวกันตำรวจทางหลวงได้เปิดทางพิเศษจากหลัก กม.ที่ 40 ต.กลางดง มาสู่ กม.ที่ 17 อ.แก่งคอย จ.สระบุรี เพื่อระบายรถเข้า กทม.

ต่อมาช่วงบ่าย นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.มหาดไทย นำคณะขึ้นเฮลิคอปเตอร์ของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ตรวจสภาพจราจรทางอากาศบนถนนมิตรภาพ จากศูนย์ฝึกยุทธวิธีตำรวจกลาง อ.ปากช่อง ไปถึงจุดทางขึ้นถนนมอเตอร์เวย์ M6 พร้อมตรวจบนถนนมิตรภาพควบคู่กันไป ถึงทางลงมอกลางดง เข้าเขต อ.มวกเหล็ก จ.สระบุรี จากนั้นเดินทางติดตามตรวจสภาพการจราจร ณ สภ.หนองสาหร่าย และจุดทางออก M6 มาบรรจบกับถนนมิตรภาพ ที่การจราจรติดขัดเพราะปริมาณรถที่เพิ่มขึ้นบวกกับสภาพเหมือนเป็นคอขวด จากนั้นได้ฟังบรรยายสรุปสภาพการจราจรที่จุดบริการ โดยมี พล.ต.ต.ณรงค์ฤทธิ์ ด่านสุวรรณ ผบก.ภ.จ.นครราชสีมา อยู่ประจำจุด รวมถึงรับทราบถึงอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นที่ อ.สูงเนิน กรณีคนขับรถหลับในพุ่งชนจุดบริการประชาชน ทำให้ผู้ใหญ่บ้านเสียชีวิตในหน้าที่ โดยให้มีการช่วยเหลือทั้งเรื่องประกันและเครือข่ายให้ครอบครัวไม่ลำบาก

...

อีกด้านหนึ่งตั้งแต่ช่วงเช้าจดค่ำ ตามสถานีขนส่งรถโดยสารสาธารณะและสถานีรถไฟ ก็เนืองแน่นไปด้วยผู้คนที่กลับมาจากภูมิลำเนาและท่องเที่ยว ต่างหอบหิ้วสัมภาระต่างๆมารอขึ้นรถโดยสารกลับกรุงเทพฯ และจังหวัดอื่นๆ โดยที่สถานีขนส่งเชียงใหม่แห่งที่ 3 (ขนส่งอาเขต) ต.วัดเกต อ.เมืองเชียงใหม่ มีประชาชนและนักท่องเที่ยวจำนวนมากมารอขึ้นรถโดยสารประจำทาง ทำให้บรรยากาศที่สถานีขนส่งคึกคัก ทั้งนี้ ขนส่งจังหวัดเชียงใหม่ได้เพิ่มเที่ยวรถโดยสารมากกว่าช่วงปกติขึ้นอีกร้อยละ 30 เช่นเดียวกับสถานีขนส่งนครสวรรค์เนืองแน่นด้วยผู้คนที่มารอรถโดยสารกลับกรุง

ส่วนที่สถานีขนส่งผู้โดยสารนครราชสีมา แห่งที่ 2 ประชาชนจากจังหวัดต่างๆ อาทิ จ.เลย ชัยภูมิ ขอนแก่น อุบลราชธานี สุรินทร์ บุรีรัมย์ อุ้มลูกจูงหลานและหอบหิ้วสัมภาระข้าวของทั้งข้าวสาร ข้าวเหนียว อาหารแห้ง รวมถึงทำข้าวเหนียวไก่ย่าง-หมูทอดมารับประทานระหว่างทาง มายืนอออยู่หน้าห้องจำหน่ายตั๋ว เพื่อซื้อตั๋วโดยสาร ขณะที่สถานีขนส่งกบินทร์บุรี สถานีขนส่งที่เชื่อมระหว่างภาคตะวันออกกับภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีประชาชนมารอรถโดยสารเป็นจำนวนมาก ทำให้รถบัสและรถตู้มีผู้โดยสารเต็มคันตลอดเวลา ขณะบางส่วนขับรถส่วนตัวกลับ ทำให้การจราจรถนนสาย 304 นครราชสีมา-ปราจีนบุรี กลับมาหนาแน่นเป็นบางช่วง

...

จากนั้นในช่วงเย็นที่สถานีขนส่งกรุงเทพ (หมอชิต 2) ประชาชนจากจังหวัดต่างๆ ทยอยเดินทางมาถึงอย่างต่อเนื่อง โดยบริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) แจ้งข้อมูลการเดินรถเที่ยวขากลับ ประจำวันที่ 31 ธ.ค.2566 ว่า มีประชาชนทยอยเดินทางกลับเข้ากรุงเทพฯ จำนวน 48,677 คน ใช้รถโดยสารรถ บขส.,รถร่วมฯ และรถตู้ จำนวน 3,506 เที่ยว คาดว่าประชาชนจะทยอยเดินทางกลับตั้งแต่ช่วงเย็นวันที่ 1 ม.ค.จนถึงวันที่ 3 ม.ค.จึงจัดรถโดยสารทั้ง รถ บขส. รถร่วมฯ รถตู้ กว่า 3,000 เที่ยว รองรับผู้โดยสารได้กว่า 53,000 คนต่อวัน ไม่ต่างจากที่สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ (สถานีกลางบางซื่อ) ชาวไทยและชาวต่างชาติทยอยเดินทางมาถึงตั้งแต่ช่วงเย็นถึงค่ำอย่างต่อเนื่อง ส่วนใหญ่ยังมีการขนสัมภาระและสิ่งของต่างๆ รวมถึงข้าวสารอาหารแห้ง กลับมาไว้เป็นเสบียงเพื่อลดค่าครองชีพใน กทม.ด้วย

อ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ทั้งหมดที่นี่