ปีมังกรเปลี่ยนแปลง 2567 ช่วงเวลาที่โลกกำลังเผชิญการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างรุนแรงทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทย

ตั้งแต่ช่วงเดือน ก.ค.2566 ที่ผ่านมา คนทั่วโลกต่างตื่นตระหนกกับการเข้าสู่ ยุคภาวะโลกเดือด (global boiling) หลังภาวะโลกร้อนสิ้นสุดลง

เมื่อองค์การ NASA ได้ตรวจวัดอุณหภูมิจากสถานีตรวจอากาศนับหมื่นแห่ง พบว่าอุณหภูมิเฉลี่ยที่ซีกโลกเหนือร้อนที่สุดในรอบ 170 ปี และน้ำแข็งละลายไวขึ้น 6-7 เท่าเมื่อเทียบกับ 25 ปีก่อน ซึ่งสาเหตุหลักของภาวะโลกเดือดมาจากการกระทำของมนุษย์ที่ปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงขึ้นต่อเนื่อง อีกทั้งปรากฏการณ์เอลนีโญที่รุนแรง

ดร.รอยบุญ รัศมีเทศ
ดร.รอยบุญ รัศมีเทศ

มนุษย์จะสามารถอยู่รอดได้อย่างไร เมื่ออากาศร้อนจัดเป็นอันตรายถึงชีวิต?

จริงหรือไม่ที่ประเทศไทยจะต้องเผชิญกับภาวะโลกเดือด?

ล้วนแล้วแต่เป็นคำถามที่คาใจผู้คนต่อสภาพภูมิอากาศที่ต้องเผชิญในปี 2567

“ทีมข่าวสิ่งแวดล้อม” ขอทำหน้าที่ไขปริศนาเพื่อให้เห็นถึงทิศทางและแนวโน้มกับการเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้น

...

“ปี 2567 ความแปรปรวนของสภาพอากาศเนื่องจากภาวะโลกร้อนยังเป็นอีกปัจจัยที่ท้าทายสำหรับการประเมินและคาดการณ์สถานการณ์น้ำในปีหน้า ซึ่งอาจเป็นปีที่มีฝนแปรปรวนอีกครั้ง เพราะเราจะเจอกับสภาวะอุณหภูมิผิวน้ำทะเลพลิกกลับอย่างรวดเร็วจากร้อนกลับเป็นเย็น ภาวะเอลนีโญจะสิ้นสุดกลับมาเป็นปกติในเดือน มิ.ย.และอาจจะทะลุลงไปเป็นลานีญาในช่วงปลายปีได้”

ดร.รอยบุญ รัศมีเทศ ผอ.สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (สสน.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หน่วยงานหลักด้านน้ำของประเทศ วิเคราะห์การคาดการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสถานการณ์ฝนของประเทศไทยในปี 2567

ถ้าอยากรู้ว่าสภาพภูมิอากาศจะเป็นอย่างไร ต้องวิเคราะห์การคาดการณ์ฝนก่อน

ที่ผ่านมา สสน. วิเคราะห์การคาดการณ์ฝนของประเทศไทยจากอุณหภูมิผิวน้ำทะเล บริเวณมหาสมุทรแปซิฟิกด้านตะวันตก (ONI หรือ ENSO) มหาสมุทรแปซิฟิกตอนเหนือ (PDO) และมหาสมุทรอินเดีย (DMI) ซึ่งเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อสภาพอากาศและฝนในประเทศไทย โดยใช้หลักคิดที่ว่า “ทะเลปัจจุบันคล้ายกับปีไหน ฝนก็จะมีแนวโน้มคล้ายกับปีนั้น” ทำให้สามารถคาดการณ์ได้ว่าสถานการณ์ฝนในปีปัจจุบันมีความคล้ายคลึงกับปีไหนในอดีต ซึ่ง สสน. ได้ทดสอบและวิเคราะห์ความสอดคล้องปัจจัยนี้มาโดยตลอดตั้งแต่ปี 2549 พบว่าแนวโน้มของฝนที่ตกค่อนข้างสอดคล้องกับปริมาณฝนของปีที่คาดการณ์ได้จากทั้งสามดัชนีดังกล่าว เช่นปี 2554 และ 2560 ที่เป็นปีน้ำมาก และปี 2558 ที่เป็นปีน้ำน้อย ทำให้นำไปใช้ในการวางแผนรับมือและบริหารจัดการน้ำให้กับหน่วยงานต่างๆต่อเนื่องมาทุกปี

ดร.รอยบุญ เปิดเผยด้วยว่า ก่อนอื่นเราย้อนกลับมาดูก่อนว่าในปี 2566 ที่ผ่านมา จากที่ต้นปีมีกระแสตื่นตัวเรื่องประเทศไทยจะประสบปัญหาภัยแล้งต่อเนื่องยาวนาน 3 - 5 ปี เนื่องจากสถานการณ์เอลนีโญที่จะเกิดต่อเนื่อง 3 ปีเป็นอย่างน้อยนั้น ก็ต้องบอกว่าเราไม่ได้คิดแบบนั้นมาตั้งแต่แรก เพราะแม้ ดัชนี ENSO จะชี้ให้เห็นว่าประเทศไทยอยู่ในสภาวะเอลนีโญ ก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่เกิดฝนตกหนักหรือไม่มีฝนเกิดขึ้น เพราะเรายังได้รับอิทธิพลจากมหาสมุทร อินเดีย รวมทั้งมหาสมุทรแปซิฟิกตอนบน ดังนั้น ดัชนี ENSO ไม่ใช่ดัชนีเดียวที่จะใช้ในการประเมินหรือคาดการณ์ฝนของประเทศไทย แต่ปีที่ผ่านมาก็ได้แสดงให้เห็นแล้วว่า ประเทศไทยเผชิญกับสภาวะการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศอย่างเห็นได้ชัด จากอุณหภูมิ ผิวน้ำทะเลที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว จากเย็นไปร้อน เปลี่ยนจากลานีญาข้ามไปสู่เอลนีโญอย่างรวดเร็ว ทำให้เมื่อช่วงต้นปีเราเจอกับลมใต้ ซึ่งเป็นลมฤดูร้อนที่อ่อนกำลังเป็นอย่างมาก การไม่มีลมมาช่วยจึงเป็นสาเหตุหนึ่งที่เสริมให้ฝุ่น PM 2.5 ไม่ถูกพัดพา ออกไป ฝุ่นจึงกระทบยาวนานจนถึงช่วงเดือน เม.ย. ทั้งๆที่ควรจะเบาบางลงไปตั้งแต่เดือน ก.พ. เหมือนอย่างปีก่อนๆ รวมทั้งน้ำทะเลที่ร้อนขึ้นทั่วทั้งมหาสมุทรแปซิฟิกและมหาสมุทรอินเดีย จึงเกิดปัญหาและส่งผลให้เราเริ่มต้นฤดูฝนด้วยฝนที่ตกน้อยและฝนทิ้งช่วงตามมา รวมถึง อุณหภูมิพื้นผิวฝั่งมหาสมุทร แปซิฟิกที่อุ่นทั้งผืน แทบจะไม่มีจุดปะทะกันระหว่างอุณหภูมิร้อนและเย็น ซึ่งเป็นจุดสำคัญที่ทำให้เกิดการก่อตัวของแนวพายุ จึงทำให้ในปีนี้มีพายุจากฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิกเข้าประเทศไทยจำนวนน้อยมาก

...

“แต่แล้วฝนก็มาและตกหนักจนท่วมในช่วงเวลาเพียง 1 เดือนเศษ” ผอ.สสน. ระบุและกล่าวว่า ดัชนีมหาสมุทร แปซิฟิกตอนเหนือ (PDO) และมหาสมุทร อินเดีย (DMI) เริ่มแสดงผลให้ร่องมรสุมเริ่มพาดผ่านประเทศไทยในสัปดาห์สุดท้ายของเดือน ส.ค. และพาดผ่านต่อเนื่องเดือน ก.ย.ยาวไปจนถึงสองสัปดาห์แรกของเดือน ต.ค.โดยเฉพาะเดือน ก.ย.เกิดฝนตกหนักและมีปริมาณฝนมากกว่าค่าปกติในพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน จนเกิดน้ำท่วมและอุทกภัยขึ้น “จากไม่มีน้ำพลิกกลับมาเป็นน้ำท่วม” และเพียงเดือนเดียวได้น้ำไหลลงเขื่อนอย่างเป็นกอบเป็นกำ หากลองนึกภาพตามตั้งแต่ 1 ม.ค. ถึง 31 ส.ค.2566 รวมระยะเวลา 8 เดือน ปริมาณน้ำใช้การใน 4 เขื่อนหลัก ได้แก่ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ มีปริมาณน้ำที่ใช้การได้ 3,428 ล้านลูกบาศก์เมตร ถึงกับมีความกังวลว่าเมื่อสิ้นสุดฤดูฝนประเทศไทยจะขาดแคลนน้ำในหน้าแล้งปี 2567 เป็นอย่างมาก และคงต้องขอร้องเกษตรกรงดการทำนาปรัง แต่เพียงแค่ 1 เดือน กลับมีน้ำไหลลง 4 เขื่อนหลักถึง 6,534 ล้านลูกบาศก์เมตร ดีดปริมาณน้ำใช้การได้เพิ่มขึ้นเป็น 11,084 ล้านลูกบาศก์เมตร นั่นหมายความว่าฝนที่ตกลงมา ในเดือน ก.ย.และต้นเดือน ต.ค. เพียงเดือนเศษทำให้เกิดปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนต่างๆ ทั่วประเทศมหาศาล ทำให้ประเทศไทยรอดจากภัยแล้งเกือบทั่วประเทศ

ในปี 2567 ความแปรปรวนของสภาพอากาศเนื่องจากภาวะโลกเดือดยังเป็นอีกปัจจัยที่ท้าทายสำหรับการประเมินและคาดการณ์สถานการณ์น้ำในปีนี้ ซึ่งอาจเป็นปีที่มีฝนแปรปรวนอีกครั้ง เพราะเราจะเจอกับสภาวะอุณหภูมิผิวน้ำทะเลพลิกกลับอย่างรวดเร็ว จากร้อนกลับเป็นเย็น ภาวะเอลนีโญจะสิ้นสุดกลับมาเป็นปกติในเดือน มิ.ย. และอาจจะทะลุลงไปเป็นลานีญาในช่วงปลายปีได้

...

เมื่อวิเคราะห์การคาดการณ์สถานการณ์ฝนของประเทศไทยจากอุณหภูมิผิวน้ำทะเลบริเวณมหาสมุทรแปซิฟิกด้านตะวันตก (ONI หรือ ENSO) มหาสมุทรแปซิฟิกตอนเหนือ (PDO) และมหาสมุทร อินเดีย (DMI) พบว่ามีพฤติกรรมการพลิกกลับแบบนี้คล้ายคลึงกับปี 2516 หรือ 2553 โดยทั้ง 2 ปีนี้มีการพลิกกลับหรือเปลี่ยนผ่านจากสภาวะเอลนีโญกลับมาเป็นกลางและเข้าสู่สภาวะลานีญาอย่างรวดเร็วภายใน 1 ปี อาจทำให้ “ครึ่งปีแรกฝนน้อย ครึ่งปีหลังฝนมาก” ในครึ่งปีแรกเราอาจยังต้องเตรียมการรับมือฝนน้อยอยู่ในบางพื้นที่ที่เมื่อถึงฤดูฝนอาจยังมีฝนตกไม่มาก เช่น จังหวัดในภาคกลาง โดยเฉพาะอุทัยธานี สุพรรณบุรี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง ด้านตะวันออกของนครสวรรค์ กาญจนบุรี ราชบุรี เพชรบุรีและประจวบคีรีขันธ์ ส่วนครึ่งปีหลังมีโอกาสฝนมากและกลับมาเกิดน้ำท่วมมีสูงมาก โดยเฉพาะจะมีโอกาสมากที่เมื่ออุณหภูมิน้ำทะเลพลิกกลับจากร้อนและไปเย็น “ทำให้ทะเลปั่นป่วน พายุก่อตัวได้ง่าย” ซึ่งต้องจับตาการคาดการณ์นี้อย่างใกล้ชิด

สรุปภาพรวมสำหรับการคาดการณ์สถานการณ์ในปี 2567 คือในช่วง 6 เดือนแรกจะมีปริมาณฝนน้อยกว่าปกติ อาจเกิดฝนทิ้งช่วงเดือน มิ.ย. และฝนจะมีปริมาณมากกว่าค่าปกติในช่วงครึ่งปีหลัง และเกิดพายุที่อาจกระทบกับประเทศไทยจนเสี่ยงที่จะเกิดอุทกภัยได้

...

ดร.รอยบุญ ยังทิ้งท้ายไว้ว่า อย่างไรก็ตาม เราสามารถติดตามการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศที่พลิกไปพลิกมาแบบนี้ได้ ซึ่งหากเรารู้ทันถึงสภาพอากาศและเข้าใจสถานการณ์ได้อย่างทันท่วงที เราจะพร้อมรับมือกับภัยพิบัติที่อาจจะเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นอุทกภัยหรือภัยแล้งก็ตาม ย่อมเป็นประโยชน์ในการเตรียมพร้อมรับมือในสภาวะการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศอย่างรวดเร็วเช่นนี้ โดยเฉพาะการเตรียมความพร้อม จากระดับชุมชน ถือเป็นวิธีการรับมือที่ดีที่สุดที่จะสู้กับความไม่แน่นอนของสภาพอากาศเช่นนี้ได้ เกษตรกรมีน้ำเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดในการดำรงชีพ ต้องเรียนรู้และเตรียมแหล่งน้ำขนาดเล็กของชุมชนหรือแก้มลิงเอาไว้รับฝนที่ก็จะตกลงมาในพื้นที่ เพื่อให้มีน้ำใช้ในช่วงแล้งตลอดไปจนฝนทิ้งช่วงและบรรเทาภัยในช่วงน้ำหลากได้จะช่วย ลดแล้ง ลดท่วม ลดความเสี่ยงและสร้างความมั่นคงทางด้านน้ำ บริหารน้ำ ได้ตลอดทั้งปี

นอกจากนี้ ประชาชนและเกษตรกร สามารถติดตามสถานการณ์ฝนหรือสถานการณ์น้ำได้ที่ แอปพลิเคชัน “ThaiWater” ที่ สสน.พัฒนาขึ้น สามารถดาวน์โหลดได้ทั้งระบบ Android และ IOS โดยจะมีข้อมูลสถานการณ์ปัจจุบันและคาดการณ์ฝนล่วงหน้าถึง 7 วัน หรือที่เว็บไซต์คลังข้อมูลน้ำแห่งชาติ www.thaiwater.net รวมทั้งหลายแห่งมีข้อมูลระดับจังหวัดเป็น ศูนย์ข้อมูลน้ำจังหวัด ที่พร้อมให้เข้าไปสอบถามและติดตามสถานการณ์น้ำได้ เมื่อทราบข้อมูลคาดการณ์ที่แม่นยำ ทั้งประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะนำไปใช้วางแผนการใช้ชีวิตประจำวันได้

การรู้เท่าทันและเตรียมพร้อมรับมือภัยพิบัติจากสถานการณ์น้ำ รวมถึงการบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ จะช่วยลดผลกระทบและความเสียหาย ทั้งด้านทรัพย์สินและชีวิตของประชาชนได้ดีที่สุด!

ทีมข่าวสิ่งแวดล้อม

อ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ทั้งหมดที่นี่