สวัสดีปีใหม่ 2567 นะครับ ท่านผู้อ่านไทยรัฐที่เคารพ...ขอความสุข ความเจริญความโชคดีมีชัย จงเป็นของท่านผู้อ่านทุกคน...ความเจ็บอย่าใกล้ ความไข้อย่ามี สุขีสุขีตลอดปีใหม่นี้นะครับ

เนื่องจากข้อเขียนวันนี้เป็นวันแรกของปีใหม่ เป็นธรรมเนียมที่ผมปฏิบัติมาตั้งแต่วันแรกๆที่มีโอกาสเขียนคอลัมน์นี้...ถือขออนุญาตเขียนอย่างเป็นกันเองอย่างเปิดอกเปิดใจ คุยนั่นคุยนี่แบบไม่ซีเรียสไปพลางๆก็แล้วกัน

หลายครั้งที่ผมได้รับเชิญไปพูดคุยกับน้องๆนิสิตนักศึกษาที่ร่ำเรียนวิชาสื่อสารมวลชน...จะมีคำถามว่าทำไมถึงตั้งชื่อคอลัมน์ว่า “เหะหะพาที” มีที่มาที่ไปอย่างไร?

ผมก็จะตอบไปว่า คำว่า “เหะหะ” แปลว่าเสียงหัวเราะของคนเมาสุราตามคำบัญญัติของพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน เพราะฉะนั้น เมื่อเอามาสมาสกับคำว่า “พาที” ซึ่งแปลว่าการพูดจา...จึงมีความหมายว่า “พูดจาแบบคนเมาสุรา”

อันเป็นความตั้งใจดั้งเดิมของกองบรรณาธิการไทยรัฐในยุคโน้นที่อยากจะมีคอลัมน์เบาๆพูดจาหรือเขียนแบบยียวนแบบกวนๆ ไม่เป็นโล้เป็นพายแต่อ่านสนุกสักคอลัมน์หนึ่งมาช่วยแบ่งเบาคอลัมน์หนักๆที่เข้มแข็ง และทรงพลังทางการเมืองที่มีอยู่แล้วหลายๆคอลัมน์

ดังนั้นเมื่อนำลงพิมพ์หรือเปิดตัวหรือจะเรียกให้โก้หน่อยคือ Debut (เดบิวต์) ครั้งแรกเมื่อวันที่ 2 มกราคม 2516 เป็นต้นมานั้น จึงออกมาในสไตล์ตลกๆ ล้อเหตุการณ์บ้านเมืองเอาสนุกไปวันๆอย่างที่ว่า

ผ่านไป 3 เดือน ผมชักจะหมดมุกและล้ออะไรไม่ออก ก็เลยลองเปลี่ยนสไตล์หันมาเขียนถึงเรื่องที่มีสาระดูบ้าง

ช่วงนั้นประมาณต้นๆเดือนเมษายน 2516 เป็นช่วงปิดเทอมใหญ่ นักเรียนที่สอบชั้นมัธยมต้นมัธยมปลายแล้วต่างเตรียมตัวหาที่เรียนต่อ...บ้างก็จะไปสายอาชีวะ บ้างก็จะไปสายสามัญ

...

ทำให้นึกถึงสมัยตัวเองตอนเรียนจบมัธยม 6 จากต่างจังหวัดลงมาเรียนต่อกรุงเทพฯ แต่มืดแปดด้านไม่รู้จะเรียนอะไรดี?

เพราะไม่มีครูแนะแนวและไม่มีใครมาบอกว่าควรเรียนอะไร?

ผมก็เลยลองเขียนแนะแนวว่าถึงฤดูเรียนต่อแล้ว น้องๆจะเรียนอะไรกันดีหนอ? ไปขอข้อมูล ไปขอสัมภาษณ์สถาบันต่างๆ มาเขียนผ่านคอลัมน์นี้เป็น มินิซีรีส์ อยู่ 10 กว่าวัน

แจ็กพอตเลยครับ กลายเป็นเรื่องฮิตที่เอเย่นต์หนังสือพิมพ์ส่งข่าวมาบอกทาง ผอ.กำพล วัชรพล ซึ่งช่วงนั้นดูแลฝ่ายจำหน่ายไทยรัฐด้วยตัวท่านเองว่า เด็กๆต่างจังหวัดชอบมาก ขอให้เขียนต่ออย่ารีบจบ

ทำให้ต้องยืดออกไปเขียนได้เกือบ 20 วัน นอกจากเรียนต่อทุกระดับในประเทศไทยแล้ว ยังถือโอกาสแนะวิธีไปเรียนต่อเมืองนอกด้วย

จากจุดนี้เองทำให้ผมตัดสินใจหันมาเขียนเรื่องที่เป็นสาระและเป็นความรู้มากขึ้น ไม่จำเป็นจะต้องจำกัดวงอยู่แค่เรื่องล้อเลียนหรือเรื่องตลกๆตามแนวทางเดิมเท่านั้น

เป็นที่มาของการเขียนแนะนำทฤษฎีเศรษฐศาสตร์อย่างง่ายๆผ่านคอลัมน์นี้ เพื่อให้ผู้อ่านไทยรัฐเข้าใจเวลาอ่านหรือฟังรายงานสถานการณ์เศรษฐกิจของสภาพัฒน์ หรือแบงก์ชาติได้มากขึ้น

จำได้ว่าคอลัมน์นี้เป็นคอลัมน์รายวันของหนังสือพิมพ์หัวสีคอลัมน์แรกที่เขียนถึง GDP และวันแรกที่ปล่อยออกมาโดนแฟนคลับวิพากษ์วิจารณ์ชนิดหน้าแตกไปเลยทีเดียว

หาว่าเขียนอะไรก็ไม่รู้...อ่านแล้วหลายรอบยังไม่รู้เลยว่า GDP คืออะไร? เป็นเหตุให้ต้องกลับมาเขียนใหม่ อธิบายยาวขึ้น

มาถึงวันนี้คำว่า GDP ไม่ใช่คำแปลกประหลาดของคนไทยอีกแล้ว...กลับกลายเป็นคำสามัญประจำบ้านที่รู้จักกันทั่วประเทศว่าหมายถึงอะไร และเพ่ิมขึ้นมากน้อยแค่ไหนในแต่ละไตรมาส

ครับ! ก็ถือโอกาสคุยถึงความหลัง คุยถึงที่มาที่ไปของคอลัมน์นี้ที่เริ่มจากเจตนารมณ์ที่จะเป็นคอลัมน์ตลกๆ แต่บานปลายมาเป็นอะไรก็ไม่รู้อย่างที่ท่านกำลังอ่านอยู่ทุกวันนี้

เผลอแผล็บเดียว 51 ปี ย่างเข้าปีที่ 52 แล้วนะครับ...ไวเหมือนโกหก ตามที่สำนวนนักเขียนรุ่นเก่าๆ ท่านเปรียบเทียบเอาไว้จริงๆ

ขอขอบคุณอีกครั้งนะครับที่ยังติดตามอ่านมาจนถึงวันนี้

สวัสดีปีใหม่ครั้งที่ 52 นะครับท่านผู้อ่านที่เคารพ.

“ซูม”

คลิกอ่านคอลัมน์ "เหะหะพาที" เพิ่มเติม