กระทรวงการต่างประเทศ ในปี 2567 ต้องจับตามอง เพราะต้องแสดงให้เห็นเด่นชัด ในการสานสัมพันธ์กับ 3 ชาติมหาอำนาจ ทั้งสหรัฐอเมริกา จีน และรัสเซีย มหามิตรที่ตัดทิ้งกันไม่ได้ ด้วยมิติความสัมพันธ์ที่มีต่อกันมานาน

แต่เบาใจได้ เพราะ นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.ต่างประเทศ มีคุณปู่เป็นอดีตปลัดกระทรวงการต่างประเทศ และบิดาก็เคยทำงานอยู่กระทรวงนี้มาก่อน ทำให้เข้าใจบริบทของกระทรวงนี้ดี

นอกจากนี้ นายจักรพงษ์ แสงมณี รมช.ต่างประเทศ เป็นคนหนุ่มมีความตั้งใจทำงาน มี นายสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว อดีตปลัดกระทรวง มาเป็น ผู้ช่วย รมว. และ นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ อดีตเอกอัครราชทูต เป็นที่ปรึกษา รมว. การทำงานแน่นยิ่งขึ้น

ช่วงปี 2566 เชื่อว่าคงเข้าใจประจักษ์ชัดแล้วว่า งานกระทรวงการต่างประเทศ ไม่ใช่มีเรื่อง การต่างประเทศ อย่างเดียว ที่ต้องให้ทัดเทียมนานาประเทศ การดูแล ช่วยเหลือ และบริการ คนไทยทั้งในและต่างประเทศ ก็เป็นเรื่องสำคัญ เพราะส่งผลกระทบต่อความเป็นพลเมืองไทย และรายได้เข้าประเทศ

ดังนั้น ปี 2567 นายปานปรีย์ จึงมีนโยบายให้ความสำคัญเรื่องการดูแล ช่วยเหลือ และบริการคนไทยอย่างเต็มที่ กรมการกงสุล หน่วยงานที่ได้รับรางวัลบริการดีเยี่ยมทุกปี ปัจจุบันมี นายรุจ ธรรมมงคล เป็นอธิบดี และ นายศรัณย์ เจริญสุวรรณ ปลัดกระทรวงคอยดูแล จึงปรับการบริการประชาชนในมิติต่างๆ

...

1.การอพยพคนไทยจากภัยสงคราม

ปีที่ผ่านมา การอพยพประสบผลลุล่วงด้วยดีแม้จะประสบความยากลำบากและอุปสรรคนานับประการ แต่ไทยมีความพร้อมและทำงานเป็นทีมภายใต้กลไก RRC (Rapid Response Center) ที่มีหน่วยงานต่างๆ ประชุมเร่งด่วน มีแผนงานอพยพที่เตรียมไว้ก่อนหน้าและนำมาปรับปรุงแผน การใช้เครื่องบินกองทัพอากาศ บมจ.การบินไทย แอร์เอเชีย และไทยไลออนแอร์ สำหรับการขนส่ง

2.การปรับปรุงระบบการลงตราและวีซ่าฟรี

การจัดประชุมร่วมกับทั้งหน่วยงานความมั่นคง และหน่วยงานการท่องเที่ยว การค้าและการลงทุนเพื่อปรับปรุง กฎระเบียบวีซ่าที่เป็น friendly user และระบบลดขั้นตอนและเอกสารต่างๆ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยว นักธุรกิจ ทบทวนมาตรการพิเศษทางวีซ่า เพื่อดึง foreign talents มาทำงานในไทย

การริเริ่มการยกเว้นการตรวจลงตรา (วีซ่าฟรี) ตามข้อเสนอของ ททท. และภาคเอกชนไทย เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวเป้าหมาย เช่น จีน คาซัคสถาน อินเดีย และไต้หวัน เป็นต้น

รวมทั้งการปรับปรุงระบบ e-visa phase 2 ให้ครอบคลุมไปทั่วโลก สำหรับการยื่นเอกสาร online โดยไม่ต้องมาแสดงตน และเร่งสนับสนุนการเจรจาในกรอบ FTA กับต่างประเทศเพื่อให้คนไทยสามารถเข้าประเทศอื่นๆได้มากขึ้นโดยไม่ต้องขอวีซ่า

3.การพัฒนาหนังสือเดินทางระยะที่ 4

การเตรียมการสำหรับหนังสือเดินทางรุ่นต่อไป ระยะที่ 4 ซึ่งมีแผนที่จะเปลี่ยน ภาพบุคคลจาก ภาพขาว-ดำ เป็นภาพสีและ features ต่างๆที่ป้องกันการปลอมแปลงและการยื่นเอกสารและการแสดงตัวตน online เป็นต้น เพิ่มความรวดเร็วในการทำ-จัดส่งหนังสือเดินทาง อีกก้าวสำคัญของหนังสือเดินทางไทย

ปัจจุบันมีสำนักงานหนังสือเดินทาง 27 แห่ง ปี 2567 จะเปิดเพิ่มที่ จ.สระแก้ว อีกแห่ง และจังหวัดชายแดนที่เป็นเมืองการค้าและการลงทุน โดยเพิ่มเครื่องทำหนังสือ เดินทางอัตโนมัติด้วยตนเอง (Kiosk) ไปยังสำนักงานต่างจังหวัดมากขึ้นด้วย

พร้อมทั้งเปิด บริการวันเสาร์–อาทิตย์ ตลอดปี ที่ สนง.หนังสือเดินทางฯ ปทุมวัน (เอ็มบีเค เซ็นเตอร์) และ สนง.หนังสือเดินทางฯ บางใหญ่ (เซ็นทรัล เวสท์เกต) นอกจากนี้เปิดบริการหนังสือเดินทางเคลื่อนที่ สัญจรไปต่างจังหวัดทั่วประเทศ ในปี 2567 เดือนละ 1 ครั้ง จำนวน 12 ครั้ง

4.การนำเทคโนโลยี AI Generative เพื่อสนับสนุนการบริการ

การก้าวไกลให้ทันโลกโดยนำเทคโนโลยี AI ขั้นสูงมาสนับสนุนการให้บริการในด้านการตอบข้อมูล การรับความช่วยเหลือและเรื่องร้องเรียนต่างๆ ผ่านศูนย์ Call Center 24 ชั่วโมง และ application มือถือ Thai Consular ซึ่งให้บริการข้อมูล การบริการต่างๆ ครบวงจรแล้ว โดยใช้เทคโนโลยี blockchain และ chat GPT เข้ามาเสริมการให้ระบบปฏิบัติงาน ตลอดจนการหารือกับ สอวช. สำหรับโครงการ Quantum Computing เพื่อนำมาปรับปรุงการให้บริการในอนาคตอีก 4 ปีข้างหน้า

5.การประชุมหารือ Consular Dialogue กับประเทศเป้าหมาย

ปัญหาผีน้อยในเกาหลี ปัญหาคนไทยใช้ประโยชน์จากวีซ่าฟรีที่ญี่ปุ่น และบาห์เรน ทำให้เกิดปัญหาการพำนักอย่างผิดกฎหมายเพื่อทำงานมากขึ้น อาทิ การพำนักผิดกฎหมายของคนไทยในญี่ปุ่น (ไปแล้วไม่กลับ) เพิ่มจำนวนเป็น 11,522 คน ส่งผลเสียต่อภาพลักษณ์ของประเทศไทยในสายตามิตรประเทศ

...

การประชุมหารือด้านกงสุลกับญี่ปุ่น เกาหลี และประเทศอื่นๆ จึงมีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะเข้ามาแก้ไขปัญหาดังกล่าวร่วมด้วยระหว่างไทยและหน่วยงานในประเทศดังกล่าว

6.การพัฒนาองค์กรสู่ความยั่งยืน

ปัจจุบันกรมการกงสุลตั้งอยู่ถนนแจ้งวัฒนะ มีสถานีรถไฟฟ้าสายสีชมพูอยู่หน้าอาคาร การจะพัฒนาองค์กรสู่ความยั่งยืน โดยการพัฒนาบุคลากรให้มี service mind เพราะมีส่วนร่วมต่อการพัฒนาองค์กร “ทุกความเห็นเรารับฟัง” ตัวอาคารกรมฯจะเริ่มพัฒนานำร่องโซลาร์รูฟ เพื่อใช้พลังงานแสง อาทิตย์ในการผลิตไฟฟ้า ศูนย์อาหารชั้นล่างจะใช้ระบบกำจัดขยะอาหารสดเพื่อทำเป็นปุ๋ยนำไปใช้เป็น carbon credit

ขณะที่ข้อมูลส่วนบุคคลของผู้รับบริการจะถูกจัดเก็บในระบบศูนย์ Data Centre เพิ่มระบบ Cloud เป็นการจัดเก็บข้อมูลที่มีคุณภาพและมาตรฐานสูง ตามมาตรฐาน ISO 50001 ด้านพลังงาน และ ISO 27001 มาตรฐานหลักในหมวดระบบมาตรฐานความปลอดภัยสารสนเทศ

ก้าวใหม่ในปี 2567 ของ กรมการกงสุล จึงต้องก้าวสู่มิติใหม่ในการบริการถึงใจประชาชนและชาวต่างประเทศ ก้าวถึงปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นและแก้ไข เพื่อให้ทัดเทียมนานาประเทศ รวมทั้งก้าวทันยุคเทคโนโลยีใหม่ๆที่จะนำมาใช้ประสานกัน

...

แต่ต้นปี 2567 กรมการกงสุล ก็ยังมีบริการไว้เป็น “ของขวัญปีใหม่บริการทันใจ” อีกเช่นเคย ได้แก่

1.พาสปอร์ตทันใจ ทำเช้า-ได้บ่าย-จ่ายอัตราปกติ จำนวน 100 คน/วัน (จองคิวออนไลน์และวอล์กอิน) ยื่นก่อน 11.30 น. รับเล่ม เวลา 14.30-16.30 น. วันที่ 2-12 ม.ค.2567 (ยกเว้นเสาร์-อาทิตย์) ที่กรมการกงสุล ถนนแจ้งวัฒนะ แห่งเดียว

2.บริการแปลเอกสารภาษาอังกฤษ (ฟรี) (จำกัดคนละ 1 เอกสาร ต้องเป็นเอกสารของตนเอง และแปลเพื่อทำนิตกรณ์เอกสารเท่านั้น) วันที่ 2-12 ม.ค.2567 (ยกเว้นเสาร์-อาทิตย์) ที่กรมการกงสุล, สนง.หนังสือเดินทางฯ ภูเก็ต-เชียงใหม่-พัทยา

3.บริการรถทะเบียนบริการเคลื่อนที่ โดย กรมการกงสุล ร่วมกับ กทม. ทำบัตรประจำตัวประชาชน คัดสำเนาภาษาอังกฤษ ได้แก่ ทะเบียนบ้าน, สูติบัตรและมรณบัตร วันที่ 15-26 ม.ค.2567 (ยกเว้นเสาร์- อาทิตย์) ที่ลานจอดรถกรมการกงสุล แจ้งวัฒนะ

ที่ขาดไม่ได้คือ คอลเซ็นเตอร์ กรมการกงสุล โทร. 0-2572-8442 ยังบริการทุกปัญหาที่ เดือดร้อนและสอบถามได้ตามนโยบาย “การทูตเพื่อประชาชน ทุกหนแห่งเราดูแล”.

ทีมข่าวภูมิภาค

อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่