บริษัท ฮีดากา โยโก เอ็นเตอร์ไพรส์ ผู้นำธุรกิจ “รีไซเคิล” เศษเหล็ก และของเสียที่ไม่เป็นอันตราย คว้ารางวัลอุตสาหกรรมสีเขียว (Green Industry) ระดับ 5 (GI-5) ประจำปี 2565

และในปีนี้ยังได้รับ “ISO 14064-1” ซึ่งเป็นมาตรฐานที่มีการระบุหลักการและข้อกำหนดระดับองค์กรสำหรับการวัดปริมาณและการรายงานผลการปลดปล่อย และลดปริมาณก๊าซเรือนกระจก

รวมถึงข้อกำหนดสำหรับการออกแบบ การพัฒนา การจัดการ การรายงาน และการทวนสอบบัญชีรายการการปลดปล่อย และการลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกขององค์กร

น่าสนใจว่า...รางวัล “อุตสาหกรรมสีเขียว” ระดับ 5 “เครือข่ายสีเขียว” เป็นรางวัลอุตสาหกรรม สีเขียวระดับสูงสุดและเป็นรางวัลที่ทุกโรงงานของบริษัทได้รับ ซึ่งบริษัทฮีดากาฯมีโรงงานอยู่ 6 แห่งในกรุงเทพฯ สมุทรปราการ ชลบุรี ฉะเชิงเทรา ระยอง และอยุธยา

ในปีนี้มีโรงงานทั่วประเทศได้รับรางวัลดังกล่าวทั้งหมด 80 แห่งจากจำนวนโรงงานทั้งหมด 64,018 แห่ง และในจำนวนโรงงานทั้งหมดที่ได้รับรางวัลเป็นโรงงานของบริษัทฮีดากาฯถึง 6 แห่ง

...

ดร.จุลพงษ์ ทวีศรี อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม บอกว่า การขับเคลื่อน “อุตสาหกรรมสีเขียว” ของกระทรวงอุตสาหกรรมตั้งอยู่บนแนวคิดความสมัครใจของสถานประกอบการที่ต้องการดำเนินธุรกิจให้เป็นมิตรกับ “ชุมชน” และ “สิ่งแวดล้อม” เพื่อมุ่งสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน

โดยดำเนินการอย่างเป็นระบบใน 5 ระดับ จากระดับที่ง่ายไปสู่ระดับที่ยาก ได้แก่ ระดับที่ 1 ความมุ่งมั่นสีเขียว คือ การแสดงความมุ่งมั่นในรูปแบบของนโยบายเป้าหมายและแผนงานที่จะลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และมีการสื่อสารภายในองค์กรให้ทราบโดยทั่วกัน

ระดับที่ 2 ปฏิบัติการสีเขียว คือ การดำเนินกิจกรรมตามนโยบาย เป้าหมายและแผนงานที่กำหนดเพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นรูปธรรมและสำเร็จตามความมุ่งมั่นที่ตั้งไว้

ระดับที่ 3 ระบบสีเขียว คือ การบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นระบบ มีการติดตามประเมินผลและทบทวนเพื่อการพัฒนาอย่างต่อเนื่องหรือการได้รับรางวัลด้านสิ่งแวดล้อมอันเป็นที่ยอมรับ หรือได้รับการรับรองมาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมต่างๆ

ระดับที่ 4 วัฒนธรรมสีเขียว คือ การที่ทุกคนในองค์กรมีจิตสำนึกร่วมกันในการสงวนและรักษาไว้ซึ่งสิ่งแวดล้อมที่ดีและให้ความร่วมมือร่วมใจในทุกด้านของการประกอบกิจการให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและดำเนินการต่างๆ จนกลายเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมองค์กร

ระดับที่ 5 เครือข่ายสีเขียว คือ การขยายขอบเขตของการเป็นอุตสาหกรรมสีเขียวจากภายในองค์กรเองออกสู่ภายนอก ตลอดโซ่อุปทานโดยสนับสนุนให้คู่ค้าและพันธมิตรเป็นอุตสาหกรรมสีเขียวด้วย

ดร.จุลพงษ์ ย้ำว่า โครงการอุตสาหกรรมสีเขียวมีจุดมุ่งหมายเพื่อยกระดับผู้ประกอบการทุกกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีการผลิตภายในโรงงาน ให้พัฒนาไปสู่การเป็นอุตสาหกรรมสีเขียว ซึ่งจะก่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ต่อยอดงานวิจัยและนวัตกรรม เพื่อขับเคลื่อนสู่...BCG Model

“ระบบเศรษฐกิจชีวภาพ”...“ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน”...“ระบบเศรษฐกิจสีเขียว”

ประเด็นสำคัญมีอีกว่า บริษัท ฮีดากา โยโก เอ็นเตอร์ไพรส์ นี้นั้นก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2471 โดย มร.โตชิโอะ ฮีดากา อยู่เมืองไทยมานาน 95 ปีแล้ว...ดำเนินธุรกิจมาแล้วถึง 3 รุ่น

เริ่มดำเนินธุรกิจด้วยการรับซื้อของเก่าและส่งออกไปยังประเทศญี่ปุ่น นับรวมไปถึงประมูลและจำหน่าย ทั้งค้าปลีกและค้าส่งเศษโลหะประเภทอะลูมิเนียม ทองแดง ทองเหลือง สเตนเลส และโลหะอื่นๆ ซึ่งเป็นวัสดุทางอุตสาหกรรมที่ไม่ใช้แล้ว

คำถามสำคัญมีว่า...ปัจจุบันการแข่งขันทางธุรกิจค่อนข้างสูง จะเห็นข่าวโรงงานย้ายฐานการผลิตไปประเทศเพื่อนบ้านอยู่เรื่อยๆ มองอนาคตอย่างไรบ้าง?

ยาซูโอะ อาทิตย์เรืองสิริ ประธานบริษัท วัย 54 ปี บอกว่า ผมรักเมืองไทยครับ ถ้าไม่รักจะอยู่ได้ยังไงมานานถึงขนาดนี้ บริษัทเราดำเนินธุรกิจรับโลหะมาจากโรงงานอุตสาหกรรมด้วยกันที่เกี่ยวข้องกับโลหะ

...

“ถ้าโรงงานเหล่านี้จะย้ายไปก็คงทำอะไรไม่ได้เพราะด้วยเหตุผลเรื่องต้นทุน”

ที่เราทำได้ก็คือการ “รีไซเคิล” ซึ่งก็จะมีหลากหลาย...โลหะ พลาสติก วันนี้เราเก่งเรื่องโลหะ แต่ไม่ได้เก่งเรื่องอื่นๆ เช่น พลาสติก ที่ยังเป็นโอกาสในการพัฒนาตัวเองได้

นอกจากนี้ที่เรากำลังคิดกันอยู่ว่า...เดิมทีทรัพยากรสำคัญนั้นอยู่ใต้ดินที่ต้องขุดมาแล้วต้องมาถลุง แต่ ณ วันนี้ทรัพยากรที่สำคัญอยู่บนดินแล้ว...เป็นของที่มีคนใช้แล้วแต่ทิ้ง ทิ้งโดยที่มีสถานะเป็น... “ขยะ”

ถ้าเลือกเอาเฉพาะสิ่งที่เราต้องการในขยะได้ ดึงโลหะ พลาสติก กระดาษออกมาได้...ก็จะเป็นวัตถุดิบที่สำคัญนำไป “รียูส” ใช้ได้ต่อไป

เป้าหมายในระยะยาว เราจะเดินหน้าอย่างต่อเนื่องในการเข้าสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2588 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2593 เพื่อช่วยแก้ปัญหาโลกร้อนให้เร็วที่สุด

นอกจากธุรกิจที่ทำแล้ว เราก็ต้องให้ความรู้กับเด็ก เยาวชน ให้รู้จักคัดแยกขยะในครัวเรือนก่อนเริ่มตั้งแต่ต้นทาง...แต่ละบ้าน แยกขยะสด ขยะแห้ง ขยะพลาสติก ขวดทำให้ไม่ต้องมาเสียเวลา เมื่อคัดแยกแล้วก็นำไปรีไซเคิลได้เป็นอย่างดี นี่คือสิ่งสำคัญเป็นการสอนให้เด็กรู้จักคัดแยกขยะเป็นการสร้างวินัย

“ไม่ต่างกับการขี่มอเตอร์ไซค์ต้องใส่หมวกกันน็อก ถ้าไม่เคยใส่เลยเด็กก็จะไม่รู้ว่าจำเป็น แต่ถ้าเริ่มตั้งแต่แรก วันไหนไม่ใส่...เด็กก็จะต้องถาม ทำไม? พ่อไม่ใส่ครับ เป็นสิ่งที่ผู้ใหญ่ต้องปลูกฝังตั้งแต่เด็กๆ”

สอนวันนี้...ไม่ใช่ว่าอีก 3 ปีจะได้ผล หากแต่จะเกิดผลในอีก 10 ปีข้างหน้า...ทุกคนจะแยกขยะได้ เหมือนประเทศญี่ปุ่นจะชัดเจนในเรื่องนี้มาก ต้องแยกขยะไม่อย่างนั้นทิ้งแล้วจะไม่มีใครเก็บ

...

“เราไม่ได้ทำธุรกิจเพื่อกำไรอย่างเดียว แต่เรายังสร้างวัฒนธรรมที่ดีด้วยศักยภาพที่เรามีอยู่ เราเองก็มีพนักงานที่มีลูกมีหลาน เราก็เริ่มจากส่งรถทีมงานไปสอน ไปปลูกฝังในโรงเรียนที่ลูกๆหลานๆพนักงานเรียนอยู่ เด็กๆก็ภูมิใจนี่เป็นบริษัทพ่อแม่ของเขา ปลูกฝังการรีไซเคิลเป็นเรื่องดี”

“รีไซเคิล”...ยังมีวัตถุดิบอื่นที่ทำได้อีกมากมาย นวัตกรรมจากพันธมิตรโรงงานในญี่ปุ่นยังพัฒนาต่อไปให้นำมาปรับใช้ได้ นำข้อดีมาศึกษาต่อยอดได้ เช่นวันนี้เราเจอกับปัญหาฝุ่นพิษ PM2.5 หนักหนาส่วนหนึ่งก็มาจากอุตสาหกรรม ไอเสียรถยนต์...ก็ยังสามารถแก้ด้วยการเพิ่มภาษี เมื่อเลิกใช้ก็นำรถเก่ามากๆไปรีไซเคิลได้

“อุตสาหกรรม”...เมื่อมีผู้ผลิตก็ต้องมีผู้กำจัด ต้องมีผู้ “รีไซเคิล” ตราบใดถ้ามีคนใช้ชีวิตอยู่ก็ต้องมีคนทำความสะอาดเช่นกัน คอยดูแลสร้างสมดุล เพื่อรักษาและดำรงคงไว้ซึ่ง “สิ่งแวดล้อม” ที่ดีอย่างยั่งยืน

ความคล้ายกันของรากฐานในวิถีชีวิต ทำให้มีความเข้าใจกันอยู่ในระดับหนึ่งและด้วยนิสัยของคนไทยเราก็เข้าใจว่าจุดไหนดีที่สุดก็นำจุดนั้นมาปรับใช้...เอาจุดดีของทุกคนมาประยุกต์ใช้ในเส้นทาง
ดำเนินธุรกิจ

...

“การที่เราอยู่ในวงการนี้มานานเกือบ 100 ปีแล้ว บริษัทต่างชาติที่อยู่ในเมืองไทยนานขนาดนี้น่าจะมีน้อย สุดท้ายนี้...ขอให้ประเทศไทยมีแต่สิ่งดีๆโดยเฉพาะเรื่องสิ่งแวดล้อมครับ”.

คลิกอ่านคอลัมน์ "สกู๊ปหน้า 1" เพิ่มเติม