กสทช. เสริมแกร่ง "กลุ่มเปราะบาง" จัดบรรยายเพิ่มศักยภาพ "คนพิการ-ผู้สูงอายุ และผู้ด้อยโอกาสในสังคม" ไม่ให้ตกเป็นเหยื่ออาชญากรรมทางไซเบอร์ มุ่งเน้นพัฒนาการใช้เทคโนโลยี รู้เท่าทันภัย-แนะหลากวิธีเอาตัวรอด พร้อมนำนักจิตวิทยาร่วมจัดชุดความคิดให้กับเหยื่อ

เมื่อวันที่ 20 ธ.ค.66 สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) จัดการบรรยายหัวข้อ "การสร้างความรับรู้เท่าทันภัยทางดิจิทัลและการคุ้มครองผู้บริโภค สำหรับคนพิการ ผู้สูงอายุ และผู้ด้อยโอกาสในสังคม" ซึ่งจัดขึ้นที่อาคารหอประชุมสำนักงาน กสทช. ผ่านระบบออนไลน์ WebEx ไปยังศูนย์อินเทอร์เน็ตสาธารณะ 2,184 แห่งทั่วประเทศ โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม อาทิ นายชาญวุฒิ อำนวยสิน ผู้อำนวยการสำนักบริการโทรคมนาคมโดยทั่วถึงและเพื่อสังคม, นายวีรพนธ์ ศรีนวล ผู้อำนวยการส่วนจัดให้มีบริการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์ทางสังคม

ทั้งนี้ นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รักษาการแทนเลขาธิการ กสทช. กล่าวรายงานถึงวัตถุประสงค์การจัดกิจกรรมครั้งนี้ว่า มีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มศักยภาพของคนพิการ ผู้สูงอายุ และผู้ด้อยโอกาสในสังคมของประเทศไทย ไม่ให้ตกเป็นเหยื่ออาชญากรรมทางเทคโนโลยี และมุ่งเน้นสู่การพัฒนาในการใช้ดิจิทัล

"นอกจากนี้ ยังให้ความสำคัญกับการปลูกฝังจิตสำนึกที่ดี เพื่อให้ความรู้ที่ถูกต้อง รวมทั้งจริยธรรมในการใช้สื่อออนไลน์ เพื่อรับรู้เท่าทันภัยที่อาจจะพบทางไซเบอร์ให้คนพิการ ผู้สูงอายุ และผู้ด้อยโอกาสในสังคมเป็นผู้ใช้งานดิจิทัลและสื่อสังคมออนไลน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และในอนาคตจะสามารถถ่ายทอดความรู้ที่มีต่อไปยังคนรุ่นต่อๆไป" รักษาการแทนเลขาธิการ กสทช. กล่าว

ด้าน ศ.นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธาน กสทช. กล่าวว่า เทคโนโลยีที่เกิดขึ้นใหม่มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ดังที่เห็นตามข่าวเรื่องการหลอกลวงทางออนไลน์ เกิดขึ้นกับทุกเพศทุกวัย ทุกคนอาจเคยได้สัมผัสมาแล้ว โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง เช่น คนพิการหรือประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล ซึ่งจากศูนย์อินเทอร์เน็ตสาธารณะ 2,184 แห่งทั่วประเทศ เรามีหน้าที่ต้องทำให้ประชาชนรู้เท่าทันอันตรายที่จะเกิดขึ้นกับตัวเอง

...

ขณะที่ นายต่อพงศ์ เสลานนท์ กสทช. (ด้านการส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของประชาชน) กล่าวในการบรรยายเรื่อง "เข้าถึงอย่างเข้าใจ" ว่า มนุษย์มีพัฒนาการด้านการสื่อสาร จากการใช้ภาษากายมาสู่การใช้จดหมายและหนังสือ จนมาถึงปัจจุบันที่ใช้คลื่นความถี่เป็นตัวกลางส่งผ่านข้อมูลข่าวสาร ทำให้ปริมาณข้อมูลต่างๆ ถูกกระจายไปอย่างกว้างขวางมากมายมหาศาล โดยคลื่นความถี่มีอยู่ในทุกที่ ขึ้นอยู่กับว่า เราจะใช้เครื่องมือผลิตคลื่นความถี่เพื่อกระจายเป็นสื่อสัญญาณในพื้นที่นั้นหรือไม่ และนอกจากคลื่นความถี่ที่อยู่ในอากาศและอวกาศหรือดาวเทียมแล้ว ยังมีคลื่นที่ไปตามสายไม่ว่าสายทองแดงหรือสายไฟเบอร์ออพติค ทั้งหมดนี้เป็นการทำให้พื้นที่ต่างๆ มีระบบสื่อสารเชื่อมโยงถึงกัน อย่างในอดีตจะส่งจดหมายจาก จ.แม่ฮ่องสอน ไปยัง จ.ยะลา อาจใช้เวลาถึงผู้รับประมาณ 1-2 สัปดาห์ แต่ปัจจุบันพื้นที่ต่างๆ ถูกร้อยเรียงเชื่อมโยงด้วยคลื่นความถี่ และโครงสร้างพื้นฐานทางโทรคมนาคม การส่งข้อความไปหากันไม่ได้ใช้เวลาเป็นวัน แต่เป็นเพียงเสี้ยววินาที และกิจกรรมในการสื่อสารข้อมูลก็จะเพิ่มขึ้นมาก อีกทั้งเพิ่มขึ้นพร้อมกันทั้งประเทศหรือทั้งโลก ไม่ใช่เพียงจุดใดจุดหนึ่ง เราจึงอยู่ในยุคที่เรียกว่าโลกาภิวัตน์ หรือ Globalization

"ไม่ว่าท่านจะอยู่ที่ไหนเราก็สามารถสื่อสารไปยังที่ที่ไกลในเชิงระยะทาง แต่ว่าภายใต้คำว่า Globalization หรือว่าโลกาภิวัตน์ หรืออินเทอร์เน็ต ระยะทางไม่ได้เป็นความหมายถ้าปลายทางนั้นมีโครงข่ายโทรคมนาคม สิ่งที่ผมกำลังพูด ผมกำลังจะบอกในจุดที่หนึ่งในเรื่องความเข้าถึง ก็คือเมื่อเรามีโครงข่ายโทรคมนาคมไปถึง มันเชื่อมโยงพวกเราทุกคน แล้วข้อมูลที่เดินทางไปมันไปแบบไม่เลือกปฏิบัติ ความหมาย คือ ผู้ที่ใช้ข้อมูลข่าวสารนั้นจะเลือกใช้ข้อมูลข่าวสารอย่างไร" นายต่อพงศ์ กล่าว

นายต่อพงศ์ กล่าวต่อว่า ดังนั้นการเชื่อมโยงระหว่างเราไปสู่สิ่งใดสิ่งหนึ่ง ผู้ที่มีความสามารถในการกำหนดและตัดสินใจหลัก จึงไม่ใช่คนส่งแต่เป็นตัวเราที่จะเลือกเข้าถึงข้อมูลข่าวสารอะไรและอย่างไร สิ่งที่เท่ากันของทุกคนคือโครงข่ายโทรคมนาคม แม้จะมีบางจุดที่ความเร็วช้าบ้าง แต่ก็ใกล้เคียงกัน แต่ความแตกต่างในการตัดสินใจของแต่ละบุคคล คือ ประเด็น เช่น จะอ่านอะไร จะซื้ออะไร จะใช้ข้อมูลอย่างไร และจุดนี้คือความไม่เท่าเทียม เพราะในโลกแห่งความเป็นจริงคนเรามีความแตกต่าง อาทิ สภาพร่างกาย ถิ่นกำเนิด ระดับการศึกษา ฐานะทางเศรษฐกิจ ฯลฯ ซึ่งในสังคมที่ให้สิทธิเสรีภาพประชาชนอย่างเต็มที่ ทุกคนส่วนหนึ่งมีหน้าที่แสวงหารายได้เพื่อดำรงตน แต่ขณะเดียวกันจะมีกลุ่มคนที่ไม่สามารถหรือมีอุปสรรคในการที่จะได้ประโยชน์อย่างเต็มที่ จากข้อมูลข่าวสารที่ผ่านโครงข่ายโทรคมนาคม และสิ่งนี้คือหน้าที่สำคัญทั้งของ กสทช. สถาบันการศึกษา ตลอดจนหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ที่จะทำอย่างไรให้คุณูปการของการเชื่อมโยงโครงข่ายสังคมในยุคข้อมูลข่าวสาร ให้ประโยชน์กับสังคมให้ได้มากที่สุด

"แต่การเข้าถึงถ้าขาดความเข้าใจในความแตกต่างหลากหลายของบุคคล ความเข้าถึงนั้นก็อาจไม่กลายเป็นคุณ แต่อาจกลายเป็นการหยิบยื่นอาชญากรรม หรือสร้างเส้นทางให้อาชญากรเดินไปถึงบ้านเรา ดังนั้นแล้ว 2 คำนี้ เข้าถึง เข้าใจ จึงต้องอยู่คู่กัน พูดง่ายๆเข้าถึงอาจจะมองว่า เป็นเรื่องของโครงข่ายอุปกรณ์ต่างๆ  เข้าใจคือเรื่องของความแตกต่างหลากหลายของบุคคล และความเข้าใจนี้ที่จะทำให้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ หรือปัญหาของผู้ที่ถูกกระทำ หรือเป็นเหยื่อของอาชญากรรมทางไซเบอร์ลดลง" นายต่อพงศ์ กล่าว

...

ขณะที่ พล.อ.ต.อมร ชมเชย เลขาธิการคณะกรรมการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ บรรยายเรื่อง "การใช้ชีวิตบนโลกออนไลน์ให้ปลอดภัยและมีความสุข" ฉายภาพการหลอกลวงหลายรูปแบบ ทั้งการหลอกให้รักแล้วโอนเงิน หลอกให้ลงทุน หลอกว่ามีแหล่งเงินกู้ หลอกขายของ ฯลฯ ซึ่งมิจฉาชีพจะเล่นกับอารมณ์ความรู้สึก เช่น ความรัก ความโลภ ความกลัว พร้อมแนะนำจุดสังเกต อาทิ คำโฆษณาชวนเชื่อว่ามีสินค้าราคาถูกกว่าที่ควรจะเป็น หรือการทำงาน-การลงทุนที่สร้างรายได้ผลตอบแทนสูงผิดปกติ ก็มีความเสี่ยงสูงว่านั่นคือกลอุบายของคนร้าย

ด้าน น.ส.ศศกร วิชัย นักจิตวิทยาคลินิกเชี่ยวชาญ กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข กล่าวในการเสวนา "การบรรยาย การเยียวยาทางจิตใจผู้ประสบภัยทางออนไลน์ ก้าวข้ามความเจ็บปวดที่เกิดขึ้น" แนะนำวิธีดูแลความรู้สึกของตนเองหลังพลาดท่าตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพ ว่า ลองนึกถึงสิ่งที่ตัวเรายังเหลืออยู่ เช่น แม้เราจะเสียทรัพย์สินไป แต่ยังมีชีวิตอยู่ ยังมีครอบครัวอยู่ หน้าที่การงานก็ยังอยู่ และสิ่งต่างๆ คุณงามความดี ความภาคภูมิใจต่างๆ ที่เราสั่งสมมาตั้งแต่เล็กจนโต ซึ่งสิ่งเหล่านี้ใครก็มาฉกฉวยเอาจากเราไปไม่ได้

...