สถิติกระทรวงสาธารณสุขบ้านเรามีแนวโน้มคนเป็นโรคเบาหวานเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในปี 2566 มีผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มขึ้น 3 แสนคนต่อปี ขณะที่ปี 2565 มีผู้ป่วยโรคเบาหวานสะสม 3.3 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปี 2564 ถึง 1.5 แสนคน

จากแนวโน้มดังกล่าว องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย หรือ อ.ส.ค.จึงร่วมกับมหาวิทยาลัยมหิดล นำโดย ผศ.ดร.สุภัทร์ ไชยกุล ภาควิชาโภชนวิทยา คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จัดทำโครงการวิจัยพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารทางการแพทย์สำหรับผู้ป่วยเบาหวาน โดยใช้น้ำนมโคสดแท้ 100% ของ อ.ส.ค.เป็นวัตถุดิบหลัก เพื่อทดแทนผลิตภัณฑ์นำเข้าจากต่างประเทศ ภายใต้การสนับสนุนทุนวิจัยจากสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก.

นายสมพร ศรีเมือง ผู้อำนวยการองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) อธิบายถึงที่มาของผลิตภัณฑ์อาหารทางการแพทย์สำหรับผู้ป่วยเบาหวาน โดยทีมนักวิจัยได้ใช้น้ำนมโคและข้าวจากเกษตรกรไทยมาเป็นส่วนผสมหลัก ทำให้ผลิตภัณฑ์มีต้นทุนการผลิตลดลงเมื่อเทียบกับสินค้าในท้องตลาด ผลจากการวิจัยนี้ยังเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมในกลุ่มผลิตภัณฑ์ High value product ที่มีศักยภาพสูง และเป็นที่ต้องการของตลาดในอนาคต

...

“นอกจากนี้ยังเป็นอีกช่องทางหนึ่งในการส่งเสริมพัฒนาด้านการเกษตร การเลี้ยงโคนม การแปรรูป และการเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรของไทยในการใช้เทคโนโลยีการผลิตอาหาร เพื่อการแก้ไขปัญหาด้านการแพทย์และการสาธารณสุขของประเทศ ทำให้ไทยมีความสามารถในการผลิตผลิตภัณฑ์อาหารทางการแพทย์ ป้อนสู่ตลาดในประเทศและระดับโลกได้อีกด้วย โดย อ.ส.ค. มีแผนที่จะเปิดตัวอย่างเป็นทางการในปี 2567 ซึ่งมั่นใจว่าจะเป็นทางเลือกให้กับผู้ป่วยโรคเบาหวาน และตอบโจทย์ตลาดในประเทศได้เป็นอย่างดี”

ทั้งนี้ ผลิตภัณฑ์อาหารทางการแพทย์สำหรับผู้ป่วยเบาหวาน มีความจำเป็นสำหรับผู้ป่วยและมีความต้องการเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตามจำนวนผู้ป่วยหรือแม้กระทั่งผู้ที่ต้องการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดที่เพิ่มมากขึ้น โดยผลิตภัณฑ์ที่จำหน่ายในท้องตลาดส่วนใหญ่นำเข้ามาจากต่างประเทศและมีราคาแพง ผู้ป่วยที่มีความจำเป็นต้องบริโภคต้องแบกรับค่าใช้จ่ายสูง โดยการบริโภคผลิตภัณฑ์ 1 มื้ออาหาร ต้องมีค่าใช้จ่ายประมาณ 60 บาทขึ้นไป ผู้ป่วยต้องบริโภค 5 มื้ออาหาร ทำให้มีค่าใช้จ่ายประมาณวันละ 300 บาท ด้วยเหตุนี้จึงเป็นที่มาของการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารทางการแพทย์ให้สามารถผลิต เพื่อจำหน่ายได้ในประเทศจากน้ำนมโคที่เลี้ยงในประเทศมาใช้เป็นวัตถุดิบเป็นครั้งแรก

โดยที่ผ่านมาวัตถุดิบทดแทนคาร์โบไฮเดรตของอาหารทางการแพทย์ ส่วนใหญ่จะใช้แป้งดัดแปลงจากข้าวโพด หรือมันสำปะหลัง และข้าวยังไม่มีการใช้ร่วมกับโปรตีนจากน้ำนมเป็นวัตถุดิบในผลิตภัณฑ์อาหารทางการแพทย์สำหรับผู้ป่วยเบาหวานที่คิดค้นขึ้นนี้มีสูตร โดยกระบวนการผลิตที่มีความเฉพาะ เพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่มีค่าพลังงาน และปริมาณของสารอาหารครบถ้วนตามข้อแนะนำทางด้านโภชนาการของผู้ป่วยเบาหวาน โดยวิจัยและพัฒนาขึ้น 2 สูตรด้วยกัน คือสูตรน้ำนมโค และสูตรน้ำนมโคปราศจากน้ำตาลแล็กโทสแบบยูเอชที

สำหรับผลิตภัณฑ์ทั้ง 2 สูตรนี้ได้ผ่านการวิจัย พัฒนา ผลิตระดับอุตสาหกรรมและผ่านการรับรองคุณภาพด้านโภชนาการ อ้างอิงมาตรฐานหรือแนวทางการบริโภคอาหารสำหรับผู้ป่วยเบาหวานขององค์กรสุขภาพระดับสากล ความปลอดภัยและผ่านการทดสอบทางคลินิก ที่ยืนยันได้ว่าผลิตภัณฑ์ทั้ง 2 สูตร มีค่าดัชนีน้ำตาลต่ำ สามารถใช้บริโภคทดแทนมื้ออาหารได้สำหรับผู้ที่มีเบาหวานหรือน้ำตาลในเลือดสูง โดยมีสูตรปราศจากน้ำตาลแล็กโทส เป็นทางเลือกสำหรับผู้มีภาวะการย่อยแล็กโทสบกพร่อง และสามารถใช้บริโภคได้ในกลุ่มผู้พักฟื้น ผู้สูงอายุ หรือผู้ที่มีความ ต้องการพลังงานและเสริมสารอาหาร.

...

กรวัฒน์ วีนิล

คลิกอ่าน "ข่าวเกษตร" เพิ่มเติม