กสทช.พิรงรองเรียกร้องรัฐบาลเร่ง ศึกษาวางกรอบ ดูแล พัฒนาการใช้ AI พบความเสี่ยง 3 อันดับแรก คือ ข้อมูลข่าวสาร ที่ไม่ถูกต้อง, ความปลอดภัยทางไซเบอร์ และประเด็นลิขสิทธิ์ พบ AI ที่คนนิยมใช้งานมากที่สุดกลับเป็น AI ที่คำนึงถึงประเด็นจริยธรรมน้อยที่สุด

น.ส.พิรงรอง รามสูต กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ด้านกิจการโทรทัศน์ กล่าวระหว่างการไปร่วมเป็นวิทยากรในการประชุมเชิงวิชาการระดับนานาชาติ ประจำภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก ครั้งที่ 16 หรือ The 16th International Telecommunications Society Asia-Pacific Regional Conference (ITS Asia-Pacific 2023) ในการเสวนาหัวข้อ AI Governanceand Ethics: Asian Countries’ Perspectives ในวันที่ 28 พ.ย.2566 ณ โรงแรมรอยัล ออคิด เชอราตัน โฮเทล แอนด์ ทาวเวอร์ กรุงเทพฯ

ระบุ ปี 2566 เป็นปีที่ผู้คนตื่นเต้นกับพัฒนาการที่ก้าวกระโดดของปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI ที่ก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็ว พร้อมกันนั้น ก็เกิดคำถามถึงภยันตรายที่ AI อาจนำมาสู่มวลมนุษยชาติในการสำรวจล่าสุดโดย McKinsey & Com pany “The state of AI in 2023: Generative AI’s breakout year” พบว่าข้อมูลข่าวสารที่ไม่ถูกต้อง ความปลอดภัยทางไซเบอร์ และลิขสิทธิ์ เป็นประเด็นความเสี่ยงที่ถูกพูดถึงเป็น 3 อันดับแรกของการใช้ AI

ดังนั้น  จึงมีเหตุผลหลายประการที่จำเป็นต้องมีการกำกับดูแลที่เกี่ยวข้องกับ AI เช่น กรณีที่ AI ที่คนเข้าถึงมากที่สุดกลับเป็น AI ที่คำนึงถึงประเด็นทางจริยธรรมน้อยที่สุด ดังจะเห็นได้จากระบบอัลกอริทึม (algorithm) ของแพลตฟอร์มสื่อสังคมออนไลน์และวิดีโอสตรีมมิงจะเลือกนำเสนอเพื่อดึงดูดให้ผู้ชมเสพติดหน้าจอมากกว่าที่จะปิดกั้นการมองเห็นของข้อมูลที่ไม่เป็นความจริง

...

นอกจากนี้  ปัจจุบัน AI ยังเรียนรู้และตัดสินใจได้เองมากขึ้นโดยที่มนุษย์อาจยังไม่เข้าใจวิธีคิดและเหตุผลเบื้องหลังการตัดสินใจของ AI ด้วยซ้ำ ไม่เพียงเท่านั้น การเข้ามามีบทบาทที่เพิ่มขึ้นของ AI ยังทำให้ปัญหาความเหลื่อมล้ำยิ่งรุนแรงมากขึ้น ตั้งแต่ระดับบุคคลไปจนถึงระดับประเทศ

น.ส. พิรงรอง กล่าวว่า มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องหาจุดสมดุลในการกำกับการพัฒนาและการใช้ AI เพราะหากควบคุมมากเกินไปก็อาจจำกัดความเจริญก้าวหน้า แต่หากปล่อยให้มีอิสระมากเกินไปก็อาจเป็นอันตรายต่อสังคมได้ ทั้งนี้ รัฐบาลต่างๆจะต้องหากรอบในการระบุลักษณะ ประเมินและตอบสนองต่อ AI ประเภทต่างๆและความท้าทายที่จะเกิดขึ้น

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของประเทศไทย ซึ่งยังไม่มีกฎหมายกำกับเกี่ยวกับ AI จะต้องวางแนวทางบนพื้นฐานของความเข้าใจเกี่ยวกับความสามารถของ AI, ผู้เล่นหลักๆในการพัฒนา AI, โอกาสและอันตรายที่อาจเกิดขึ้น

ทั้งนี้  การประชุมเชิงวิชาการระดับนานาชาติดังกล่าว เป็นเวทีเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholder) มีโอกาสแลกเปลี่ยนวิสัยทัศน์ที่เกี่ยวข้องกับประเด็นความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและประเด็นความท้าทายทางด้านเทคโนโลยีและโทรคมนาคมผ่านเวทีการประชุมหลัก (Plenary session) ได้แก่ ประเด็นเรื่องการควบรวมระหว่างกิจการโทรคมนาคม จริยธรรม AI และประเด็นสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมโทรคมนาคม.

อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่