ปัจจุบันการค้าระหว่างประเทศสำหรับ “จีนในตลาดอาเซียน” ยังคงเติบโตขยายเพิ่มสูงมากขึ้น เนื่องจากจีนเป็นทั้งตลาดการส่งออก และการนำเข้าสินค้าของประเทศสมาชิกอาเซียนรายใหญ่แห่งนี้

อันมีปัจจัยเกื้อหนุนสำคัญจาก “ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP)” ส่งผลให้กลุ่มประเทศอาเซียนมีความสัมพันธ์ “ทางการค้า-การส่งออกร่วมกัน” จนทำให้จีนพัฒนาความร่วมมือด้านโลจิสติกส์เพิ่มการติดต่อทางบกระบบรางรถไฟลาว-จีนในการขนส่งสินค้าระหว่างจีนกับอาเซียนให้มีความสะดวกรวดเร็ว

“สกู๊ปหน้า 1” ได้ร่วมเดินทางกับสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เพื่อดูงานแผนการพัฒนาเศรษฐกิจและวัฒนธรรม สปป.ลาว ตามคำเชิญของสมาคมนักข่าวลาว ในระหว่างนี้ได้แวะดูเศรษฐกิจท้องถิ่นแขวงหลวงน้ำทาโดยมี บุญส่ง แก้วมณีวงศ์ ประธานหอการค้า และอุตสาหกรรมแขวงหลวงน้ำทา ให้การต้อนรับว่า

บุญส่ง แก้วมณีวงศ์
บุญส่ง แก้วมณีวงศ์

...

ความจริงแล้ว “หลวงน้ำทา” ตั้งอยู่ทิศตะวันตกเฉียงเหนือสุดของ สปป.ลาว มีประชากรประมาณ 2 แสนคน แบ่งเป็น 5 เมือง  ในจำนวนนี้มี 3 เมืองติดชายแดนเมียนมา และชายแดนจีน ทำให้มีเส้นทาง R3A จากด่านบ่อหานของจีน-ด่านบ่อเต็น สปป.ลาวผ่านเข้ามาหลวงน้ำทา เวียงภูคา และด่านห้วยทราย-ด่านเชียงของประเทศไทย

ส่วนใหญ่คนในพื้นที่นี้ “มักประกอบอาชีพเกษตรกรรม” โดยเฉพาะยางพารางที่มีเนื้อที่ปลูกประมาณ 3.7 หมื่นเฮกตาร์ส่งให้โรงงานของคนจีนที่กระจายอยู่หลวงน้ำทา 10 แห่ง รับซื้อราคา 20-30 บาท/กก. ทั้งยังมีการปลูกอ้อย ปลูกมันสำปะหลัง เพื่อป้อนให้โรงงานของคนจีนเช่นกัน

แล้วในช่วง 4-5 ปีมานี้ “กลุ่มนักลงทุนชาวจีน” ได้เข้ามาลงทุนเช่าพื้นที่ในการปลูกแตงโม และบางส่วนก็เป็นการลงทุนร่วมกันระหว่าง 2 ฝ่าย เพราะคนลาวมีข้อจำกัดทางการตลาดจำเป็นต้องพึ่งพา “ทุนจีน” ในการส่งสินค้าไปจีนผ่านถนน R3A หรือระบบรางรถไฟ สร้างรายได้ให้คนท้องถิ่นเฉลี่ย 1,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ/คน/ไร่

ไม่เท่านั้นยังมี “ทุนจีนขนาดใหญ่ประมาณ 10%” เข้ามาลงทุนด้านโรงผลิตไฟฟ้าพลังงานน้ำบริเวณตอนใต้ของหลวงน้ำทา รวมถึงทำโรงงานผลิตกระดาษ และฟาร์มเลี้ยงวัว-ควายขนาดใหญ่ ซึ่งรัฐบาลจีนได้ให้โควตานำเข้าสินค้าประเภทเกษตรแบบไม่เก็บภาษีตามนโยบายส่งเสริมการลดปลูกฝิ่นตามแนวชายแดน

ในส่วน “การท่องเที่ยวหลวงน้ำทา” นับแต่โควิดคลี่คลายหลายชาติเปิดประเทศทำให้มีนักท่องเที่ยวเข้ามาสัมผัสความเป็นวัฒนธรรม และความงามของธรรมชาติในป่าสงวนแห่งชาติ 2 แสนกว่าเฮกตาร์กันคึกคักขึ้น

ยิ่งกว่านั้นในปี 2567 “เป็นปีแห่งการท่องเที่ยวลาว” เราก็มีแผนบูรณะแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ และปรับปรุงโรงแรม ร้านอาหาร ระบบขนส่งโดยสารสาธารณะ เพื่ออำนวยความสะดวกดึงดูดนักท่องเที่ยวที่จะเข้ามาด้วย

หลังจากนั้นคณะได้ออกเดินทางมุ่งหน้าไปยัง “บ่อเต็นด่านชายแดนฝั่งตรงข้ามเมืองบ่อหานสิบสองปันนาของจีน” ก่อนแวะชมเขตเศรษฐกิจพิเศษบ่อเต็น ทั้งนี้ ตามการสอบถามคนท้องถิ่น เล่าให้ฟังว่า สำหรับเขตเศรษฐกิจพิเศษบ่อเต็น “รัฐบาลลาว” ให้สัมปทานแก่นักลงทุนจีนสร้างมาตั้งแต่ปี 2550

เดิมเปิดให้บริการบ่อนกาสิโนทำให้กลุ่มทุน และนักท่องเที่ยวจีนเข้ามาเยอะมาก และไม่นานกาสิโนก็ถูกสั่งปิดจากปัญหาอาชญากรรม นักพนันชาวจีนบางคนติดหนี้พนันไม่จ่ายถูกทรมานจนเสียชีวิต “รัฐบาลลาวจึงไม่อนุญาตให้เปิดกาสิโน” แล้วปรับรูปแบบเป็นธุรกิจศูนย์การค้าแหล่งท่องเที่ยวทำให้เขตเศรษฐกิจพิเศษแห่งนี้เงียบลง

...

ก่อนที่ “รัฐบาลลาว” จะให้นักลงทุนรายใหม่ลือกันว่า “นักธุรกิจฮ่องกง” เป็นผู้ได้รับสัมปทาน 90 ปี ในการพัฒนาบนพื้นที่แห่งนี้ใหม่ เพื่อทำให้บ่อเต็นเป็นเมืองเขตการค้า การท่องเที่ยว และสนามกอล์ฟ ทั้งยังพัฒนาเป็นศูนย์โลจิสติกส์การขนส่งสินค้าสำคัญจากจีนตอนใต้เข้าสู่ลาว และประเทศไทย

ทำให้รัฐบาลจีนสนับสนุนทางอ้อมลงทุนพัฒนาถนนเส้นทาง R3A และทางรถไฟบ่อเต็น-นครหลวงเวียงจันทน์ หรือทางรถไฟสายจีน-ลาวลำเลียงสินค้าและผู้โดยสารจากจีนตอนใต้ เพื่อเชื่อมต่อกับรถไฟไทยในอนาคต และในปี 2567 สปป.ลาวมีแผนปรับปรุงเขตเศรษฐกิจพิเศษบ่อเต็นให้เป็นส่วนหนึ่งในกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวด้วย

ต่อจากนั้น “ทีมสกู๊ปหน้า 1” ได้นั่งรถไฟจากสถานีนาเตย-เวียงจันทน์ เพื่อชมโครงข่ายการคมนาคมทางรางของ สปป.ลาว เมื่อถึงเวียงจันทน์มีโอกาสได้พูดคุยกับ ดาววอน พะจันทะวง รองประธานบริหารหอการค้าและอุตสาหกรรมแห่งชาติ สปป.ลาว เล่าให้ฟังถึงสถานการณ์เศรษฐกิจการค้า-การลงทุนในลาวว่า

ดาววอน พะจันทะวง
ดาววอน พะจันทะวง

...

นับตั้งแต่ สปป.ลาวมีรถไฟฟ้า “จำเป็นต้องมีค่าใช้จ่ายสูง” ทำให้รัฐบาลมุ่งหารายได้ด้วยการลงทุนด้านการผลิตไฟฟ้าพลังงานน้ำและการส่งออกเกษตรกรรมโดยเฉพาะยางพาราที่มีการปลูก 3 แสนเฮกตาร์ หรือ 1.8 ล้านไร่ สามารถสร้างรายได้เข้าประเทศ 300-400 ล้านดอลลาร์/ปี และช่วยให้คนลาวมีงานทำได้กว่า 35,000 ครอบครัว

ส่วนหนึ่งเกิดจาก “ปล่อยให้คนจีนเช่าที่ดิน” ในการเพาะปลูกเกษตรกรรมส่งออกไปตลาดจีน ไม่ว่าจะเป็นยางพารา กล้วย มันสำปะหลัง “ด้วยคนลาวมีที่ดินมักไม่ทำประโยชน์ใดๆ” เพราะทำไปไม่คุ้มการลงทุน เช่น ถ้าจะพัฒนาที่ดินทำกินจะมีรายได้ 1 หมื่นบาท/ไร่ หากปล่อยให้เช่าไม่ต้องทำอะไรจะอยู่ที่ 2.5 หมื่นบาท/ไร่/เดือน

ประเด็นคือว่า “อสังหาริมทรัพย์ในลาวราคาถูกลง” เพราะเท่าที่ตรวจสอบราคาที่ดินในนครหลวงเวียงจันทน์เมื่อก่อนราคาอยู่ที่ 4,000 ดอลลาร์/ตารางเมตร แต่ตอนนี้ราคาขายกัน 1,500 ดอลลาร์สหรัฐฯ/ตารางเมตร สาเหตุราคาที่ดินตกลงก็เพราะไม่มีคนสนใจซื้อจากสภาวะเศรษฐกิจหลังโควิดย่ำแย่ทำให้คนลาวประหยัดการใช้จ่าย

...

ถ้าเทียบกับ “ประเทศไทย” แม้ได้รับผลกระทบจากโควิดเช่นกัน “แต่โครงสร้างเศรษฐกิจแข็งแรงกว่า” ดังนั้นในปี 2567 สปป.ลาว ต้องหันหาจุดเด่นการลงทุนดึงต่างชาติเข้ามาลงทุนให้มากขึ้น เช่น พลังงานไฟฟ้าเพราะลาวมีเขื่อนจำนวนมากเหมาะกับการสร้างโรงผลิตไฟฟ้าพลังงานน้ำสามารถลดต้นทุนผลิตได้สูง

แล้วเรื่องนี้ลาวก็มองว่า “ไทยเป็นคู่ร่วมลงทุนรายใหญ่สำคัญ” เพราะเป็นตลาดที่มีความต้องการไฟฟ้าสูงและเป็นผู้รับซื้อไฟฟ้าจากลาวรายใหญ่ทำให้ลาวมีโครงการพัฒนาไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์เพิ่มมาใหม่ด้วย

สิ่งสำคัญ “บ่อแร่ทองคำใน สปป.ลาว” มีแหล่งกำเนิดแร่ชนิดนี้ค่อนข้างเยอะเมื่อก่อนสามารถผลิตได้ประมาณ 3 ตัน/ปี “สร้างรายได้ให้ประเทศหลายพันล้านบาท” ปัจจุบันบริษัทเอกชนจีนเข้ามาเทกโอเวอร์ทำให้การผลิตเพิ่มขึ้นสูงถึง 10 กว่าตัน/ปี และมีเป้าหมายในการผลิตให้ได้ 20 ตัน/ปีจากบ่อทองคำที่มีอยู่กว่า 40-50 แห่ง

อีกทั้งนักลงทุนชาวจีนยังมาลงทุน “เหมืองโปแตส และถ่านหิน” ได้รับสัมปทานดำเนินกิจการ 90 ปี

ในส่วน “นักลงทุนไทย” ถ้ามองในระยะยาวสิ่งที่น่าลงทุนคือ “การเลี้ยงสัตว์” โดยเฉพาะวัวแต่ต้องมีระบบรองรับในฤดูแล้งที่ค่อนข้างขาดอาหารใช้เวลาดูแล 7-8 ปีก็สามารถขายได้ นอกจากนี้ยังมีธุรกิจประเภทแบบแฟรนไชส์เริ่มทยอย มาลงทุนในลาว เช่น ปตท. ซีพี ในอนาคตลาวกับไทยน่าสามารถลงทุนร่วมกันเพิ่มมากขึ้น

สำหรับ “การขับเคลื่อนเศรษฐกิจในปี 2567” ในเรื่องนี้คงต้องเน้นผลักดัน “ธุรกิจ SME” เพื่อให้คนลาวมีรายได้โดยรัฐบาลมีกองทุน SME สนับสนุน 10 ล้านดอลลาร์ และคิดอัตราดอกเบี้ย 3% ทั้งส่งให้ผู้สนใจไปฝึกอบรมในไทย สุดท้ายปีหน้าลาวจะเป็นประธานอาเซียนก็จะเน้นการท่องเที่ยว และการส่งออกเกษตรกรรมเพิ่มขึ้น

ปัญหาถัดมาคือ “ค่าแรงขั้นต่ำในลาวอยู่ที่ 100 ดอลลาร์/เดือน หรือ 3,500–3,600 บาท” เรื่องนี้ทำให้คนลาวส่วนหนึ่งออกไปทำงาน “ในไทย” เพราะค่าแรงสูงกว่าเฉลี่ย 1 หมื่นบาท/เดือน แล้วถ้าดูตามข้อมูลจากธนาคารโลก พบว่าแรงงานลาวอาศัยอยู่ในไทยมีอยู่ 2 แสนคน แต่ตัวเลขจริงน่าจะอยู่ที่ประมาณ 3-4 แสนคน

นอกจากนี้ “ลาวยังมีข้อจำกัดในการจ้างงาน” ด้วยสภาพเศรษฐกิจการลงทุนน้อย แม้ว่าที่ผ่านมารัฐบาลจะมีการส่งเสริมสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษขึ้นหลายแห่ง แต่ความสามารถรับคนทำงานได้เพียง 1-2 หมื่นคน สิ่งนี้ทำให้คนลาวเรียนหนังสือน้อยลง ส่วนใหญ่ตัดสินใจไปทำงานในไทย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้และจีนที่ต้องการแรงงานลาวสูง

ทั้งหมดนี้คือความเคลื่อนไหว “กลุ่มทุนจีน” เข้ามาลงทุนตลาดการค้า-การลงทุนในลาวช่วงหลายปีที่ผ่านมาที่ “ประเทศไทย” จำเป็นต้องเตรียมพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคตด้วย.

คลิกอ่านคอลัมน์ "สกู๊ปหน้า 1" เพิ่มเติม