นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ ที่ปรึกษากรมสุขภาพจิต ให้สัมภาษณ์กรณีการก่อเหตุของกลุ่มนักเรียนอาชีวะ ที่รวมกลุ่มในลักษณะองค์กรและก่อคดีว่า ไม่ใช่เรื่องของนักเรียนทุกคน เป็นแค่เฉพาะบุคคล และไม่ใช่เรื่องของ 2 สถาบันเท่านั้น โดยพฤติกรรมการก่อความรุนแรงแบ่งเป็น 2 ปัจจัยคือ 1.ปัจจัยหลักเป็นเรื่องของบุคลิกภาพ และแนวโน้มการก่อความรุนแรงอยู่บนพื้นฐานเฉพาะบุคคล 2.ปัจจัยแวดล้อมหรือปัจจัยเสริม ได้แก่ รุ่นพี่หรือนักเรียนในอดีตของสถาบัน ซึ่งกลุ่มคนเหล่านี้ล้วนแต่มีปัญหาเรื่อง Self-esteem หรือการเห็นคุณค่าในตนเองที่เป็นไปในทางลบ ไม่ใช่การชักชวนการแสดงออกในทางบวก วิธีแก้ปัญหาต้องทำในระบบอาชีวศึกษาทั้งระบบ โดยสำนักงานคณะกรรมการอาชีวศึกษาต้องเปลี่ยนระบบการดูแลเด็กใหม่เป็นแบบทวิภาคี ไม่ใช่แก้ไขปัญหาแบบเหวี่ยงแห แต่ต้องดูเฉพาะนักเรียนที่มีปัญหา ซึ่งเชื่อว่าครูประจำชั้นมีวิธีการสังเกตและทราบพฤติกรรมเด็กอยู่แล้ว สามารถสังเกตเห็นได้จากการขาดเรียน, ผลการเรียน หรือให้ทำแบบสอบถาม ทุกอย่างเหล่านี้สามารถแบ่งแยกเด็กได้ ไม่อยากให้แก้ปัญหาแบบเหมารวม แนวทางหนึ่งคือส่งเสริมให้เด็กอาชีวะเรียนไปด้วย ทำงานไปด้วย เพื่อความรับผิดชอบและได้อยู่กับผู้ใหญ่ที่ดี เรียนรู้การมีความรับผิดชอบ
นพ.ยงยุทธกล่าวด้วยว่า ส่วนการแก้ไขปัญหารุ่นพี่ที่อาจมีแอบแฝงเข้ามาหาประโยชน์ หรือสร้างการยอมรับในหมู่รุ่นน้องนั้น เชื่อว่าทางตำรวจมีระบบการจัดการได้ สามารถตรวจสอบ และจับกุมหากมีการส่งเสริมให้กระทำความผิด ขณะเดียวกัน การนำเสนอข่าวหรือพฤติกรรมของรุ่นพี่เหล่านี้ เมื่อเป็นเรื่องที่ถูกเปิดเผยขึ้น ต้องไม่นำเสนอแบบดราม่า ยกย่อง เพราะอาจเกิดพฤติกรรมเลียนแบบ กลายเป็นการส่งเสริมให้เกิด Self-esteem ในทางที่ผิดได้.
อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่
...