นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ ผอ.สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) กล่าวว่า กรณีผู้มีอาการเจ็บป่วยไม่มากหรือเจ็บป่วยเล็กน้อย หากต้องไปพบแพทย์ในโรงพยาบาลจะต้องเสียเวลาคนละเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 1 ชั่วโมงหรือมากกว่านั้น พบว่ามีประชาชนมาใช้ประโยชน์ประมาณ 5 แสนกว่าครั้ง จำนวน 2 แสนกว่าคน เฉลี่ยคนละประมาณ 2 ครั้ง เพราะฉะนั้นการลดผู้ป่วย 5 แสนกว่าคน ที่ต้องไปโรงพยาบาลจะทำให้ทุกฝ่ายให้บริการได้ดีขึ้น โดยโรคที่พบส่วนใหญ่ 1 ใน 3 เป็นโรคไข้หวัด เจ็บคอ ไม่สบายเล็กๆน้อยๆ ซึ่งไม่จำเป็นต้องไปแออัดอยู่ที่โรงพยาบาล หากสามารถไปรับยาที่สถานบริการสุขภาพใกล้บ้านน่าจะเป็นประโยชน์มาก ทั้งนี้ สวรส.ได้ทำวิจัยเชิงระบบและได้ประเมินโครงการรับยาที่ร้านยา

ซึ่งสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้นำไปใช้พัฒนานโยบายรับยาที่ร้านยาเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน โดยตั้งเป้าว่าร้านยา 1 ร้านควรให้บริการครอบคลุมประชาชน 10,000 คนในช่วงแรก และเนื่องจากมีผู้ใช้บริการบัตรทองอยู่ประมาณ 48 ล้านคน ทั้งประเทศควรมีร้านยาที่เข้าร่วมโครงการรับยาที่ร้านยาประมาณ 4,800 ร้าน หรือตั้งเป้าไปที่ 5,000 ร้าน และควรมีการกระจายไปในพื้นที่ให้ครอบคลุมการรับบริการให้มากที่สุด

นพ.ศุภกิจกล่าวต่อว่า ปัจจุบันมีร้านยาที่สมัครเข้าร่วมโครงการแล้วประมาณ 1,500 ร้าน ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังเร่งรัดให้ได้ 5,000 ร้าน แต่ร้านยาส่วนใหญ่ที่เข้าร่วมโครงการเป็นร้านยาที่อยู่ในพื้นที่เขตเมืองและอยู่ในกรุงเทพมหานคร ซึ่งควรผลักดันให้เกิดการกระจายไปยังจังหวัดต่างๆ มากขึ้น โดยร้านยาที่จะเข้าร่วมโครงการต้องมีมาตรฐานที่เรียกว่า Good Pharmacy Practice (GPP) ซึ่งเป็นมาตรฐานสากลที่ใช้กันทั่วโลก

นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า การรับบริการเจ็บป่วยเล็กน้อยที่ร้านยาใกล้บ้านแทนการไปโรงพยาบาลจะช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายจากภาครัฐได้ 466-683 บาทต่อครั้ง และช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายที่เป็นค่าเดินทางและค่าเสียเวลาของประชาชนได้ 665-901 บาทต่อครั้ง.

...

อ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ทั้งหมดที่นี่