ก่อนจะอธิบายความหมายคำ “แต๊ะเอีย” ในศัพท์สรรพรรณนา (สถาพรบุ๊คส์ 2565) อาจารย์ปรัชญา ปานเกตุ เริ่มเรื่องก่อนว่า ผลของความสัมพันธ์ไทยจีน เกิดปรากฏการณ์ทางภาษา คือมีผู้รู้สองภาษาในสังคมไทย ส่งผลให้คำจีนปะปนอยู่ในภาษาไทยมาก

เรายืมคำภาษาจีนมาใช้ทับศัพท์ จนคุ้นเคยในชีวิตประจำวัน เช่น ไต้ก๋ง ฮ่องเต้ (ฮกเกี้ยน) ก๋วยเตี๋ยว ซีอิ๊ว (แต้จิ๋ว) โจ๊ก ปาท่องโก๋ (กวางตุ้ง)

คำยืมภาษาจีน ต้องใช้อักษรกลางไม้ตรี และไม้จัตวามาก ทำให้ไทยต้องคิดเครื่องหมายวรรณยุกต์ตรี และจัตวา เพื่อใช้เขียนคำยืมภาษาจีนเป็นหลัก

ต่อมา จึงเขียนคำยืมภาษาอื่น เช่น ญวน ลาว ส่วนคำไทยใช้กับคำเลียนเสียงธรรมชาติ หรือเสียงอุทาน

นักวิชาการ เช่น สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ, สุริยา รัตนกุล, อิงอร สุพันธุ์วณิช และวิภาวรรณ อยู่เย็น ต่างมีข้อสันนิษฐานเรื่องการใช้ไม้ตรีและจัตวาครั้งแรก ตามหลักฐานที่พบ

ผลการวิเคราะห์ข้อมูลของวิภาวรรณ ไม้จัตวาปรากฏครั้งแรกสมัยธนบุรี ในคำว่า “หมูอี๋” (ตำแหน่งอุปราชเมืองกวางตุ้ง) ดังนี้

ครั้นถึงวันที่จะทำโดยกำหนด เดือนสิบเอ็ดขึ้นทศมาสจึงจงตก “หมูอี๋” ให้ลีลา มาเชิญทูตกับข้าหลวงจร (นิราศพระยามหานุภาพไปเมืองจีน)

ส่วนไม้ตรีปรากฏครั้งแรกสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น คือพบคำว่า “นำก๊ก” ในจดหมายเหตุรัชกาลที่ 1

อาจารย์ปรัชญาบอกว่า ภาษาเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรม เช่นเดียวกับเทศกาลประเพณี ความแพร่หลายของภาษากับเทศกาลต่างๆของจีนในสังคมไทย จึงสะท้อนให้เห็นการประสานกลมกลืนทางวัฒนธรรมของจีน และไทย

ในประเทศไทย คำอวยพรที่ใช้กันทั่วไปในเทศกาลตรุษจีน คือ “ซินเจียยู่อี่ ซินนี้ฮวดใช้”

“ซุนเหลียน” หรือกลอนคู่ในวสันตฤดู แปลแบบเอาความว่า “เดือนอ้ายใหม่จงได้สมจินตนา ปีใหม่มาพูนทรัพย์นับอนันต์”

...

อาจารย์ปรัชญาให้ความรู้ภาษาจีนไทย มาถึงตรงนี้ แล้วจงใจ เอ่ย “ซินเจียยู่อี่ ซินนี้ฮวดใช้” เป็นคำอวยพรปีใหม่ ต้อนรับปี 2565 ปีที่อาจารย์กำลังเขียน และทิ้งท้ายประโยค “ที่สำคัญขอให้ได้รับแต๊ะเอีย เงินก้นถุงท้ายปี”

ผมขยักวรรคเกริ่นนำเรื่องของอาจารย์ปรัชญา ขอมาใช้จบคอลัมน์ตัวเอง...วันนี้

“แต๊ะเอีย” หรือ “แตะเอีย” เป็นภาษาพูดของจีนแต้จิ๋ว อาจารย์ถาวร สิกขโกศล แปลเอาความว่า “เงินก้นถุงท้ายปี” เงินชนิดนี้จีนกลางเรียก “วาซุ่ยเฉียน” แต้จิ๋วเรียก “เอี๊ยบส่วยจี๊” แปลว่า “เงินกด” (ท้าย) ปี

แต่ภาษาพูดเรียกว่า “แตะเอีย” แปลว่า ทับเอว ถ่วงเอว

สมัยก่อนเงินทำจากโลหะ นิยมเก็บใส่ถุงแล้วเคียนเอว หรือใช้เชือกร้อยผูกเอว เงินถุงที่ให้ท้ายปีจึงถือว่าเป็นเงิน “ถ่วงเอว”

เด็กรุ่นผมไม่ทันใช้ แต่ทันเห็น “สตางค์แดง” เงินเหรียญหนึ่งสตางค์ ขโมยแม่เอาไปใช้เเล่น “ล้อต๊อก” กับเพื่อนๆ

นึกภาพตอนได้ “แต๊ะเอีย” สักถุง เอามาเคียนเอว หรือร้อยเอว ถ้าได้ 20 เหรียญน่าจะหนักสักแค่ไหน ยิ่งเมื่อได้ถึง 100 เหรียญ หรือ 1 บาท ท่ามันคงจะหนักหน่วงถ่วงเอวบรรลัย

เงินแต๊ะเอียสมัยนั้น จะได้อารมณ์เดียวกับ 1 หมื่นที่รัฐบาลท่านจะให้ เมื่อถึงเดือนพฤษภาปีหน้า...หรือไม่

เงินเดือนเราแค่นี้ เงินฝากเท่านี้ เอ! เราจะเข้าข่ายได้...หรือเปล่า...แล้วเรื่องหนักใจกว่า เรื่องกติกา ได้มาแล้วจะเอาไปซื้ออะไร? ซื้อที่ไหน? เมื่อไหร่จะเอาตั๋วแต๊ะเอียไปขึ้นเงินจริงๆได้

เรื่องเงินแต๊ะเอีย ที่ธรรมเนียมจะได้วันขึ้นปีใหม่ แต่ต้องไปได้เอากลางปี... เป็นเรื่องยุ่งนุงนัง หนักหน่วงหัวใจคนแก่รุ่นผม ได้ถึงขนาดนี้เอาทีเดียว.

กิเลน ประลองเชิง

คลิกอ่านคอลัมน์ "ชักธงรบ" เพิ่มเติม