เมื่อวันที่ 14 พ.ย. ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บรรยายพิเศษทางออนไลน์เรื่องโควิด-19 ไข้หวัดใหญ่ และ RSV เรื่องที่ควรรู้ตอน หนึ่งว่า ช่วงฤดูฝน ประเทศไทยจะพบผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจที่สำคัญ 3 โรค คือ โรคโควิด-19 โรคไข้หวัดใหญ่ และไวรัส RSV ซึ่งเป็นไวรัสที่ก่อโรคในระบบทางเดินหายใจ ซึ่งทั้ง 3 โรคนี้เป็นโรคที่รักษาได้และมาตามฤดูกาล สำหรับโรคโควิด-19

ปี 2566 มียอดผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตลดลง ประเทศไทยเสียชีวิตสัปดาห์ละ 1 คน ซึ่งอาจจะไม่ต่างจากโรคไข้หวัดใหญ่ แสดงให้เห็นว่าเชื้อมีความรุนแรงลดลงเรื่อยๆ แต่โรคก็จะยังอยู่กับเราไปตลอด โรคโควิด-19 ในปัจจุบันถูกปรับให้เป็นโรคประจำฤดู นอกจากนี้เรายังมียารักษาที่องค์การอนามัยโลกแนะนำคือ ยาแพคโลวิด เรมดิซิเวียร์ และโมลนูพิราเวียร์ เท่านั้น ส่วนตัวคิดว่าโรคโควิด-19 ตอนนี้เกมโอเวอร์แล้ว และเป็นโรคที่เข้าสู่ฤดูกาล ทุกอย่างเข้าที่แล้ว ส่วน การรับวัคซีนโควิด-19 ควรปฏิบัติเหมือนการรับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ คือ เน้นกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ กลุ่ม 608 และให้ตามช่วงเวลาที่ดีที่สุดคือ ก่อนเข้าสู่ฤดูฝน คือ เดือน เม.ย.-พ.ค. และวัคซีนที่ดีก็คือ ควรเป็นวัคซีนที่ผลิตตรงกับสายพันธุ์ที่ระบาดให้มากที่สุด และควรให้กับกลุ่มเสี่ยง 608 และเด็กเล็ก ส่วนคนทั่วไปก็สามารถรับได้เป็นเข็มกระตุ้น

สำหรับโรคไข้หวัดใหญ่นั้น ศ.นพ.ยงกล่าวว่า ปี 2566 ไข้หวัดใหญ่ระบาดมาก สายพันธุ์ที่ระบาดส่วนใหญ่คือ สายพันธุ์ A ได้แก่ A/H1, A/H3, และสายพันธุ์ B/Victoria พบน้อยกว่า ส่วนสายพันธุ์ B/Yamagata ทั่วโลกไม่พบมาแล้ว 3 ปี ดังนั้น องค์การอนามัยโลกให้คำแนะนำกับบริษัทผู้ผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่ว่า ต่อไปควรผลิตเพียง 3 สายพันธุ์ก็เพียงพอ ดังนั้น ปีหน้าเราก็น่าจะฉีดวัคซีนป้องกันเพียง 3 สายพันธุ์ก็น่าจะเพียงพอ แต่เมื่อฉีดแล้วก็ยังมีโอกาสเป็นได้ จึงต้องฉีดป้องกันทุกปี ช่วงเวลาที่เหมาะสมที่สุดที่จะฉีดคือ ช่วงเดือน เม.ย.-พ.ค. เพื่อป้องกันก่อนเข้าสู่ฤดูฝน

...

ศ.นพ.ยงกล่าวต่อว่า ส่วนไวรัส RSVเป็นโรคทางเดินหายใจ ซึ่งหลายคนเข้าใจผิดว่าเกิดเฉพาะในเด็ก แต่ความจริงเป็นโรคที่เกิดได้กับทุกอายุ แต่ส่วนใหญ่เด็กเล็กเมื่อเป็นแล้วจะมีอาการรุนแรง โดยเฉพาะ 1 ปีแรก และผู้สูงอายุ 70 ปีขึ้นไป ฤดูกาลที่พบไวรัส RSV คือ ช่วงเปิดภาคเรียน ฤดูฝน ของทุกปี เด็กบางคนติดเชื้อซ้ำได้ทุกปี ปัจจุบันมียารักษา แต่จะให้เฉพาะกลุ่มเสี่ยงที่มีอาการรุนแรง ส่วนวัคซีนป้องกันอนุญาตให้ใช้ในผู้สูงอายุเท่านั้น สำหรับหญิงตั้งครรภ์กำลังอยู่ในระหว่างการศึกษาวิจัย.

อ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ทั้งหมดที่นี่