สถานการณ์ในปี 2567 “ฝุ่น PM 2.5” มีแนวโน้มรุนแรงจากปรากฏการณ์เอลนีโญส่งผลต่อปริมาณฝนน้อยกว่าปกติ “สภาพอากาศแห้งแล้งเกิดไฟป่าและค่าฝุ่นพิษมาเร็ว” บวกกับความกดอากาศสูงแผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยทำให้อากาศปิด ลมสงบ ฝุ่นละอองไม่ฟุ้งกระจายสะสมในพื้นที่เกินมาตรฐาน

ส่งสัญญาณถึง “คนไทย” ต้องเผชิญฝุ่นหนักสุดในหลายปีสังเกตจาก “กรุงเทพฯ ปริมณฑล และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ” เริ่มพบฝุ่น PM2.5 มีแนวโน้มเกินมาตรฐานเฝ้าระวังมาตั้งแต่สัปดาห์ที่ 3 ของเดือน ต.ค.2566 สาเหตุจากฝีมือมนุษย์ในการใช้ประโยชน์จากป่า พื้นที่การเกษตร รวมถึงการจราจร ขนส่ง และโรงงานอุตสาหกรรม

สะท้อนปัญหาจาก นฤพนธ์ ทิพย์มณฑา ผอ.สำนักป้องกันปราบปราม และควบคุมไฟป่า ผ่านเวทีถอดบทเรียนวิกฤติ PM2.5 และอนาคตอากาศสะอาดของประเทศไทย บอกว่า ตามหลักแหล่งกำเนิดของฝุ่น PM2.5 มาจากการเผาแล้วในปีที่ผ่านมาปัญหาไฟป่าก็ค่อนข้างหนักรุนแรงมาก

ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.2565-31 พ.ค.2566 พบจุดฮอตสปอตสะสมทั่วประเทศ 1.7 แสนจุด ในจำนวนนี้เป็นพื้นที่ป่าประมาณ 69.33% แยกเป็นป่าอนุรักษ์ประมาณ 7 หมื่นจุด และป่าสงวนประมาณ 5 หมื่นจุด แล้วจุดฮอตสปอตสูงสุด คือ ภาคเหนือ 5.2 หมื่นจุด หรือ 8.9 ล้านไร่ เช่น จ.เชียงใหม่ พบจุดฮอตสปอต สูงถึง 7 พันจุด

...

ภาคกลาง และภาคตะวันออก 1 หมื่นจุด เช่น จ.กาญจนบุรี 9 พันจุด ภาคอีสาน 7.5 พันจุด เช่น จ.เลย 2 พันจุด ภาคใต้ 132 จุด ทั้งยังมีนอกพื้นที่ ป่าอนุรักษ์อีก 5.3 หมื่นจุด คิดเป็น 30.67% สาเหตุจากฝีมือมนุษย์ที่มีพฤติกรรมการเผาหาของป่า ล่าสัตว์ เลี้ยงปศุสัตว์ หรือเผาขยายที่ทำกินพื้นที่เกษตรโดยไม่มีแนวกันไฟลามเข้าพื้นที่ป่า

ส่วนการแก้ปัญหาไฟป่าอนุรักษ์ปี 2566 “ปรับแผนตามสถานการณ์” ที่มีสถานีควบคุมไฟป่าทั่วประเทศ 150 สถานี และกำลังพล 6,500 คน แบ่งเป็นภาคเหนือ 71 สถานี กำลังพล 3,400 คน ภาคอีสาน 39 สถานี กำลังพล 1,500 คน ภาคกลางและภาคตะวันออก 23 สถานี กำลังพล 900 คน ภาคใต้ 17 สถานี กำลังพล 600 คน

แม้ว่าเราจะมีสถานีควบคุมไฟป่าครอบคลุมทุกภูมิภาค “แต่การปฏิบัติหน้าที่ในการควบคุมไฟป่าก็ยังไม่เพียงพอต่อจำนวนพื้นที่ที่ค่อนข้างมาก” ทำให้ต้องมีการตั้งชุดปฏิบัติการพิเศษดับไฟป่า 15 ชุด (หน่วยเสือไฟ) 225 นาย เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงานดับไฟป่าในพื้นที่มีความสำคัญ และมีความเสี่ยงเกิดไฟป่ารุนแรง

ทั้งในปีที่ผ่านมา “ผู้ว่าฯหลายจังหวัด” ก็มีมาตรการกำหนดวันเผา และวันห้ามเผาเพียงแต่ในทางปฏิบัติไม่สามารถห้ามเด็ดขาดได้ “ด้วยวิถีชีวิตคนในชุมชนมีความผูกพันกับการใช้ประโยชน์กับป่า” แถมยังเชื่อว่าถ้าไม่เผาป่าแล้วผักหวานจะไม่แตกยอดอ่อน ทำให้ยังคงจำเป็นต้องเผาเพื่อหวังให้ต้นผักหวานแตกยอดเก็บขาย

ตอกย้ำ “พื้นที่เกษตรกรรมมักใช้วิธีการเผาเตรียมเพาะปลูก” เพราะด้วยการใช้เครื่องจักรหรือแรงงานคนมีค่าใช้จ่ายสูง “การเผาเป็นวิธีง่ายที่สุด” แล้วถ้าใช้มาตรการห้ามเข้มงวดเกินไป “ชาวบ้านก็จะลักลอบเผา” ทำให้มีความเสี่ยงต่อการเกิดไฟลุกลามขยายวงกว้างเป็น 100 ไร่ หรือ 1,000 ไร่ กลายเป็นเสียหายหนักกว่าเดิมก็ได้

“ปีนี้มีการถอดบทเรียนปัญหาไฟป่าจากปีที่แล้ว เมื่อไม่สามารถห้ามชาวบ้านให้เผาพื้นที่เกษตรได้ก็ปรับแผนใช้มาตรการเคาะประตูบ้านทำข้อตกลงกับชุมชน โดยอนุญาตให้มีการเผาเฉพาะจุดกำหนดไว้เพื่อให้สามารถควบคุมไฟได้ใน 2-3 ชม. และทำแนวกันไฟร่วมกันไม่ให้ลุกลามเข้าพื้นที่ป่าแต่ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จ” นฤพนธ์ว่า

ทำให้กรมอุทยานฯจัดสรรเงินอุดหนุน 85 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนการมีส่วนร่วมเครือข่ายอาสาสมัครพิทักษ์อุทยานแห่งชาติ 1,690 หมู่บ้าน สมาชิก 6.6 หมื่นคน “ทำหน้าที่ดูแลไฟป่า” แต่ด้วยงบประมาณยังน้อยทำให้ไม่เพียงพอ แล้วมือเผาในหมู่บ้านก็ยังไม่เข้าร่วมกิจกรรมอีกมากมาย ทำให้การป้องกันไฟไม่ประสบความสำเร็จดังเดิม

เช่นเดียวกับ บัณรส บัวคลี่ สภาลมหายใจภาคเหนือ สะท้อนปัญหาฝุ่นว่า ปัญหาฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่ภาคเหนือเกิดขึ้นมาอย่างน้อย 17 ปี แล้วในทุกปี มักมีการถอดบทเรียนแต่กลับไม่เคยถูกหยิบยกบทเรียนที่ถอดนั้นนำมาใช้แก้ปัญหา ทำให้ฝุ่นพิษ PM2.5 ยังคงเกิดการสะสมหมักหมมมาจนถึงทุกวันนี้

...

ถ้าย้อนดูการถอดบทเรียน 17 ปี “ในการแก้วิกฤติมลพิษฝุ่นควัน PM2.5” เรื่องนี้ประเทศไทยเริ่มเป็นปัญหาใหญ่มาตั้งแต่ปี 2550 “ยุค พล.อ. สุรยุทธ์ จุลานนท์ อดีตนายกฯ” ที่ออกมาตรการแก้วิกฤติปัญหาหมอกควันภาคเหนือจนนับแต่นั้นปัญหาฝุ่นควันก็ถูก “นำเข้า ครม.มาตลอด” แต่กลับไม่มีความคืบหน้าในการแก้ปัญหาใดๆ

กระทั่งในปี 2558 “ปรากฏภาพดอยหัวโล้น จ.น่าน” เป็นภูเขาที่เคยอุดมสมบูรณ์ถูกบุกเบิกทำลายแปรเป็นไร่ข้าวโพดและมีการเผาตอซังข้าวโพดชนิดแบบไม่บันยะบันยังเกิดเป็นมลพิษทางอากาศอย่างหนักในช่วงนั้น ทำให้คนไทยเริ่มมีการตื่นตัวกับปัญหาอันส่งผลกระทบต่อระบบทางเดินหายใจเรื้อรัง และโรคมะเร็งปอดระยะยาว

ก่อนมาปี 2562 “รัฐบาล” ประกาศให้ปัญหาฝุ่น PM2.5 เป็นวาระแห่งชาติ แล้วกรมควบคุมมลพิษ เริ่มรายงานค่าฝุ่น ในส่วน “ภาคประชาสังคม” ก็ออกมาขับเคลื่อนเรียกร้องให้เร่งแก้ปัญหานี้จนในปี 2566 “รัฐบาล” ปรับค่ามาตรฐานจาก 50 มคก.ต่อ ลบ.ม. เป็น 37.5 มคก.ต่อ ลบ.ม. เพื่อยกระดับมาตรฐานคุณภาพอากาศของประเทศ

ดังนั้น สิ่งที่อยากสะท้อนคือ “คนไทยต้องเผชิญฝุ่น PM2.5 มายาว นานกว่า 17 ปี” โดยในช่วง 8 ปีแรก “รัฐบาล” แทบไม่มีการแก้ปัญหาเลยยกเว้นการฉีดน้ำขึ้นฟ้าแต่ถัดมา 8 ปีหลังมานี้ “สังคม” ตื่นตัวเริ่มค้นหาต้นตอจนนำไปสู่การเรียกร้องให้ออกมาตรการแก้ปัญหาใหม่ๆ แต่สุดท้ายก็ยังคงไม่ประสบความสำเร็จอยู่จนปัจจุบันนี้

...

ยิ่งกว่านั้นถ้าย้อนดูตั้งแต่ปี 2553-2562 “พื้นที่เกิดไฟยังเป็นจุดซ้ำซาก” ไม่ว่าจะเป็นการเผาในพื้นที่ป่า 65% เผาเกษตร 32% เผาอ้อย 5% เผานาข้าว 67% และเผาไร่ข้าวโพด 19% ถ้าเปรียบกับปี 2566 การเผาในพื้นที่ป่า 64.9% เผาเกษตร 30% ทำให้เห็นว่าลักษณะการเผายังไม่เปลี่ยนไปจากเมื่อ 10 ปีก่อนเลยด้วยซ้ำ

ขณะที่ ดร.บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ ผอ.สถาบันธรรมรัฐเพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม (GSEI) เสนอกระบวนการแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 ว่า แนวทางการแก้ปัญหาคือ “การจัดการพื้นที่เผาไหม้ 3 แหล่ง” ไม่ว่าจะเป็น ป่าอนุรักษ์ ป่าสงวนแห่งชาติ และพื้นที่เกษตรโดยเฉพาะ 10 พื้นที่ป่าอนุรักษ์ที่เผาไหม้มากที่สุดในปี 2566

ตั้งแต่อุทยานแห่งชาติ (อช.) ศรีน่าน อช.เขื่อนศรีนครินทร์ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า (ขสป.) แม่ตื่น อช.สาละวิน ขสป.สาละวิน ขสป.ลุ่มน้ำปาย ขสป.แม่จริม ขสป.สลักพระ อช.ถ้ำผาไท อช.แม่ปิง ทั้งต้องจัดงบประมาณสนับสนุน แล้วกรณีเกิดไฟในป่า 35% มาจากการหาของป่าก็ควรทำกติกาการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรตาม ม.65

ไม่เท่านั้นยังต้อง “ทำแนวกันคน พร้อมแนวกันไฟ” ควบคู่ทำสิทธิการใช้ประโยชน์ในที่ดินแบบไม่ให้กรรมสิทธิ์ หรือ คทช. เพื่อให้ชาวบ้านมีสิทธิใช้ประโยชน์ในที่ดินมั่นคงกล้าลงทุนปลูกพืชระยะยาวลดการเผา

...

ข้อเสนอถัดมา...“งบประมาณ” สามารถทำได้ระยะเร่งด่วนให้จัดสรรงบกลาง เพื่อดำเนินการหาแหล่งกำเนิดฝุ่นในช่วงก่อนฤดูฝุ่น ฟื้นฟูระบบนิเวศ และเยียวยาผู้ที่เจ็บป่วยเกี่ยวกับโรคทางเดินหายใจ “งบลงทุนภาคเอกชน” ให้ภาคเอกชนเข้าร่วมลงทุนเพื่อแก้ไขปัญหาออกนโยบายจูงใจ เช่น การงดเว้นภาษี 200%

ต่อมา “การแก้ไขกฎหมาย” เพราะที่ผ่านมามีข้อจำกัด อย่างเช่น ข้อกฎหมายที่ว่าห้ามนำใบไม้ออกจากป่าอนุรักษ์ หรือจัดซื้อจัดจ้างมักเป็นปัญหาจนปัจจุบันอุทยานฯไม่สามารถซื้อโดรนเพื่อใช้ในการป้องกันไฟป่าได้

นอกจากนี้ มีการแก้ไขข้อกฎหมายแล้วต่อไปจะเป็นการจัดทำ “ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการจัดการมลพิษทางอากาศ พ.ศ. …” เพื่อเป็นระเบียบกลางในการดำเนินงานด้านการแก้ปัญหา PM2.5

สุดท้าย “เปิดการสื่อสารสาธารณะ” โดยหน่วยงานภาครัฐ กรมประชา สัมพันธ์ ร่วมกันดำเนินการยุทธศาสตร์การสื่อสารสาธารณะ เพื่อสื่อสารให้ประชาชนเข้าใจตรงกัน และได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง ลดความสับสน

นี่เป็นฐานข้อมูลถูกรวบรวมมาตลอด 17 ปี กลายเป็นชุดความรู้ใหม่นำมาสู่ “ข้อเสนอแนวทางการแก้ปัญหาแหล่งกำเนิด PM2.5” เพราะด้วยคนไทยต้องเผชิญฝุ่นพิษมานานมากเกินไปแล้ว.

คลิกอ่านคอลัมน์ "สกู๊ปหน้า 1" เพิ่มเติม