การพัฒนาที่ยั่งยืน...“ด้านการศึกษา” กำหนด เป้าหมายเรื่องความเสมอภาคทางการศึกษา และการลงทุนในทุนมนุษย์ตั้งแต่ปฐมวัยถึงระดับอุดมศึกษาอย่างเสมอภาค โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่กำหนดให้ทุกระบบการศึกษาทั่วโลก มุ่งบรรลุเป้าหมายให้สำเร็จภายในปี 2573

หนึ่ง...สร้างหลักประกันว่าเด็กชายและเด็กหญิงทุกคน สำเร็จการศึกษาระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาที่มีคุณภาพเท่าเทียมและไม่มีค่าใช้จ่าย นำไปสู่ผลลัพธ์ทางการเรียนที่มีประสิทธิผล

สอง...สร้างหลักประกันว่าเด็กชายและเด็กหญิงทุกคน เข้าถึงการพัฒนา การดูแลและการจัดการศึกษาระดับก่อนประถมศึกษาสำหรับเด็กปฐมวัยที่มีคุณภาพ

เพื่อให้เด็กเหล่านั้นมีความพร้อมสำหรับการศึกษาระดับประถมศึกษา

สาม...ให้ชายและหญิงทุกคนเข้าถึงการศึกษาวิชาเทคนิคอาชีวศึกษา อุดมศึกษา รวมถึงมหาวิทยาลัยที่มีราคาที่สามารถจ่ายได้และมีคุณภาพ สี่...เพิ่มจำนวนเยาวชนและผู้ใหญ่ที่มีทักษะที่จำเป็นรวมถึงทักษะทางเทคนิคและอาชีพ สำหรับการจ้างงาน การมีงานที่ดี และการเป็นผู้ประกอบการ

องค์การยูเนสโกประเมินไว้ว่า หาก “ประเทศไทย” สามารถยุติปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา จนจำนวนเด็กเยาวชนนอกระบบการศึกษาเป็นศูนย์ได้ จะส่งผลให้เศรษฐกิจไทยเติบโตเพิ่มขึ้นเกือบ 3% ในระยะยาวอันเนื่องมาจากรายได้ตลอดช่วงชีวิตที่เพิ่มสูงขึ้นของเด็กเยาวชนที่มีการศึกษาสูงขึ้นจำนวนหลายแสนคน

...

ดังนั้น การลงทุนใน “ทุนมนุษย์” เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาคือ...กุญแจสำคัญสู่การบรรลุเป้าหมายการก้าวสู่ประเทศรายได้สูงของไทยตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี

กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) สะท้อนรายงานสถานการณ์ “ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาปี 2566” พบว่า ประเทศไทยมีจำนวนนักเรียนยากจนและยากจนพิเศษราว 1.8 ล้านคน โดยสนับสนุนทุนเสมอภาคให้แก่นักเรียนยากจนพิเศษหรือยากจนระดับรุนแรง 1,248,861 คน

เมื่อเทียบกับปี 2563 ที่ตัวเลขยังไม่แตะหลักล้านคือ 994,428 คน

ประเด็นสำคัญมีว่า...เด็กกลุ่มนี้แม้จะมีนโยบายเรียนฟรี 15 ปี แต่ “ความยากจน” ในระดับรุนแรงยังเป็นอุปสรรคทำให้เด็กบางคนไม่สามารถมาเรียนได้ ความเป็นอยู่ของเด็กแร้นแค้น สภาพบ้านเข้าข่ายทรุดโทรม ไม่มีค่าครองชีพ ค่าอาหาร ค่าเดินทาง และไม่สามารถแบกรับภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาได้

ตอกย้ำ “รายได้” ของครัวเรือนยากจนและยากจนพิเศษที่มีบุตรหลานอยู่ในระบบการศึกษา มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง...จากเดิม 1,250 บาทต่อเดือน ในปี 2562 ปี 2566 ลดลงเหลือ 1,039 บาทต่อเดือน

หรือวันละ 34 บาท หรือลดลงราวร้อยละ 5 ซึ่งน้อยกว่าเกณฑ์ความยากจนระดับนานาชาติ 2.15 ดอลลาร์ต่อวันหรือวันละประมาณ 80 บาท

จากการติดตามข้อมูลนักเรียนจากครัวเรือนยากจนและยากจนพิเศษตั้งแต่ปี 2562 จนถึงปี 2566 มีข้อค้นพบด้วยว่า...ยิ่งการศึกษาระดับสูง โอกาสที่เด็กและเยาวชนกลุ่มนี้จะได้เรียนต่อก็น้อยลงเรื่อยๆ

ข้อมูลจากการสัมภาษณ์นักเรียนยากจนพิเศษที่เข้าศึกษาต่อผ่านระบบ TCAS พบว่า “ทุนการศึกษาคือปัจจัยสำคัญที่นำไปสู่การตัดสินใจเรียนต่อ” ขณะที่ค่าใช้จ่าย TCAS ถือว่าสูงเมื่อเทียบกับรายได้ของนักเรียนยากจนพิเศษ แน่นอนว่าการสมัคร TCAS แต่ละรอบต่อสาขาหมายถึง...ค่าใช้จ่ายที่เพิ่มมากขึ้น

ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการกองทุนฯ บอกว่า ปี 2566 หลังจากสถานการณ์โควิด-19 เศรษฐกิจของประเทศไทยยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ สถานการณ์เงินเฟ้อยังอยู่ในระดับสูง

...เป็นตัวเร่งให้สถานการณ์ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษารุนแรงขึ้น

โดยเฉพาะ “ค่าครองชีพ” ที่เกี่ยวเนื่องกับการศึกษา เช่น ค่าเดินทาง ค่าอาหาร เด็กและเยาวชนจากครัวเรือนเปราะบางได้รับผลกระทบหนักที่สุด เนื่องจากมีปัญหาความยากจนหรือด้อยโอกาสในมิติต่างๆเป็นทุนเดิม ถ้าหากเราไม่ช่วยเหลือดูแลกลุ่มเปราะบางเหล่านี้ ประเทศไทยอาจมีการฟื้นตัวเป็นลักษณะ “K-Shaped”

...

หมายถึงว่า...ช่องว่างความเหลื่อมล้ำของเด็กและเยาวชนจากครัวเรือนที่มีรายได้น้อย กับครัวเรือนที่มีความพร้อมทางเศรษฐกิจมากกว่าจะยิ่งถ่างกว้างออกไปมากขึ้น

 “เด็กที่มาจากครอบครัวที่มีความพร้อมมากกว่าจะสามารถฟื้นตัวจากภาวะถดถอยจากการเรียนรู้ได้มากกว่า เด็กที่เข้าไม่ถึงโอกาสในการฟื้นฟู...หลุดจากระบบ จะกลายเป็นกลุ่มประชากรรุ่นที่สูญหายจากการเรียนรู้ หลักฐานเรื่องนี้ยืนยันจากข้อค้นพบปัญหาทุนมนุษย์ช่วงวัยสำคัญโดยเฉพาะกลุ่มยากจนด้อยโอกาส”

การพัฒนา “ทุนมนุษย์” ในวันนี้จึงต้องเปลี่ยนไปในบริบทและเงื่อนไขใหม่ ไม่ปล่อยให้เกิดการสูญเสียหรือเด็กเยาวชนให้หลุดออกจากระบบการศึกษา หรือไม่ได้รับการพัฒนาเต็มศักยภาพแม้แต่คนเดียว เพราะเด็กทุกคนเป็นมนุษย์ทองคำ เป็นทรัพยากรที่มีคุณค่า

นอกจากนี้ อัตราการเกิดที่ลดลงอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน เราจะเหลือเด็กเยาวชนให้ลงทุนได้น้อยลงทุกๆปี...ทุกๆวัน

รศ.ดร.วีระชาติ กิเลนทอง ผอ.สถาบันวิจัยเพื่อการประเมินและออกแบบนโยบาย (RIPED) เสริมว่า เราควรโฟกัสเด็กที่ไม่พร้อมโดยเฉพาะเด็กที่ขัดสน มีโอกาสขาดความพร้อมสูงกว่าเป็นพิเศษ เพราะเด็กกลุ่มนี้ต้องการความช่วยเหลือ และการช่วยเหลือเด็กกลุ่มนี้ก็ให้ผลตอบแทนส่วนเพิ่มที่สูงมากกว่าเด็กกลุ่มอื่น

...

ดร.เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รายงานความพร้อมทุนมนุษย์ในเยาวชนแรงงานช่วงต้น สำรวจนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 จำนวนกว่า 5,200 คน ใน 26 จังหวัด ทั้งหมด 246 โรงเรียน พบว่า...ทั้งหมดเกิดการสูญเสียความพร้อมด้านอาชีพ

จากการประเมิน “Soft Skill” ทั้ง 7 ด้านได้แก่ ทักษะการคิดเชิงวิพากษ์ ทักษะความคิดสร้างสรรค์ ทักษะทุนทางจิตวิทยาเชิงบวก ทักษะการแก้ปัญหา ทักษะความร่วมมือกัน ทักษะความฉลาดทางอารมณ์ ทักษะการสื่อสารระหว่างบุคคล ผลที่ได้ต่ำกว่าเกณฑ์ทั้งหมด ลดลงถึง30-50%

กลุ่มที่มีคะแนนทดสอบต่ำกว่าคะแนนเฉลี่ยส่วนใหญ่เป็นกลุ่มนักเรียนจากครัวเรือนยากจน ดังนั้น ถ้า “เด็กยากจน” กลุ่มนี้หลุดออกจากระบบการศึกษาจะมีชีวิตที่ลำบากมาก...“นี่เป็นสภาพของเด็กที่จะเจอปัญหาหนักที่สุด แต่ความสามารถในการรับมือกับปัญหาต่ำที่สุด”

ถ้านำข้อมูลเรื่องความสำเร็จในตลาดแรงงานมาวิเคราะห์จะพบว่า การศึกษาขั้นพื้นฐานที่จะมีแรงผลักดันเพียงพอทำให้ทุนมนุษย์ของประเทศไทยขยับได้จริงๆ เราต้องส่งทุกคนให้จบ ปวส. หรือมีทักษะเทียบเท่าคนจบ ปวส. ถ้าต่ำกว่านี้ เด็กจะไม่หลุดจากกลุ่มก้อนทักษะทุนมนุษย์ระดับล่าง

...

การลงทุนใน “ทุนมนุษย์” คือกุญแจสำคัญสู่การบรรลุเป้าหมายการเพิ่มรายได้เฉลี่ยต่อคน 40% เพื่อออกจากกับดักรายได้ปานกลาง ภายในปี 2579 ของไทย ทุนมนุษย์ที่เพิ่มขึ้นจะนำไปสู่ฐานภาษีที่กว้างและลึกขึ้น ช่วยเพิ่มรายได้และรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจของประเทศ

“เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน”...แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 13 จะทยอยครบกำหนดในอีก 5-7 ปี หากไม่เร่งลงทุนเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา และการพัฒนาทุนมนุษย์ ประเทศไทยยังมีความเสี่ยงที่จะไม่บรรลุเป้าหมายนี้.

คลิกอ่านคอลัมน์ "สกู๊ปหน้า 1" เพิ่มเติม