เมื่อวันที่ 1 พ.ย. ที่ รพ.จุฬาลงกรณ์ ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผอ.ศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ให้สัมภาษณ์ก่อนเข้าให้การต่อคณะกรรมการสอบสวน กรณีที่ศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ยุติการศึกษาเชื้อไวรัสจากค้างคาวว่า เชื่อว่าการตั้งคณะกรรมการสอบครั้งนี้เกิดจากการที่ศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพอุบัติใหม่ฯ ได้ประกาศยุติศึกษาเชื้อไวรัสจากค้างคาวว่ามีแนวโน้มจะเข้าในมนุษย์ได้หรือไม่ ที่ผ่านมาได้ร่วมโครงการปี 2011 ผ่านความเห็นชอบจาก รพ.จุฬาฯ ซึ่งได้ทุนวิจัยจากองค์กรต่างประเทศ กระทั่งตัดสินใจยุติปี 2020 และทำรายงานแจ้งคณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ปี 2021 และแจ้งไปยังเครือข่ายขององค์การอนามัยโลก สาเหตุที่ต้องยุติเพราะไม่พบประโยชน์ในการ
คาดคะเนว่าเชื้อจะเข้ามนุษย์ได้หรือไม่ และสุ่มเสี่ยงที่จะติดเชื้อในขณะลงพื้นที่นำเชื้อมาศึกษา รวมถึงการติดเชื้อในห้องปฏิบัติการ และกังวลอาจจะติดเชื้อในชุมชนและทั่วไปได้ ทำให้เราเริ่มทำลายตัวอย่างเชื้อในปี 2022 ที่ผ่านมาเราไม่ได้เพาะไวรัสให้เพิ่มจำนวนขึ้น ไม่ได้ตัดต่อพันธุกรรม และไม่ได้ส่งไวรัสไปต่างประเทศ หลังจากที่เราทำลายตัวอย่างหมด ยังมีการติดต่อมาขอตัวอย่าง ทำให้ตั้งข้อสังเกตว่าอาจจะมีการนำตัวอย่างไปศึกษาต่อหรือส่งไปต่างประเทศหรือไม่ หากเกิดการระบาดแล้วสืบสวนที่มาจะทำให้ประเทศเราตกเป็นผู้ต้องหาได้ การสอบสวนครั้งนี้ ตนนำหลักฐานทั้งหมดให้กรรมการพิจารณาว่าต้องยุติความร่วมมือกับสถาบันต่างๆเหล่านี้โดยเด็ดขาด.
อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่