น.สพ.สมชวน รัตนมังคลานนท์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ เผยว่า ช่วงปลายฝนต้นหนาว สภาพอากาศแปรปรวน อากาศร้อนและความชื้นสูง มีพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง ส่งผลทำให้โคกระบือของเกษตรกรเกิดความเครียด อ่อนแอ มีระดับภูมิคุ้มกันต่ำลง และมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อต่างๆได้ง่าย อีกทั้งลักษณะอากาศเช่นนี้ มีความเหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของแมลง โดยเฉพาะแมลงพาหะนำโรค ได้แก่ ยุง ริ้น แมลงวัน เหลือบ และเห็บ จึงทำให้มีความเสี่ยงต่อการพบการเกิดโรคลัมปี สกิน ที่นำโรคโดยแมลงพาหะเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในลูกสัตว์เกิดใหม่ที่ยังไม่ได้รับวัคซีนป้องกันโรคลัมปี สกินมาก่อน
“การรักษาสัตว์ป่วยด้วยโรคลัมปี สกิน เป็นการรักษาโรคตามอาการ ไม่มีวิธีรักษา เฉพาะ ซึ่งอาจต้องคัดสัตว์ที่ป่วยทิ้งเนื่องจากให้ผลผลิตไม่ดีในระยะยาว แต่สามารถป้องกันได้โดยการฉีดวัคซีนให้กับโคกระบือเพื่อให้สัตว์มีภูมิคุ้มกันต่อโรค
...
สามารถทำการฉีดได้ทั้งวัคซีนชนิดเชื้อเป็นและวัคซีนชนิดเชื้อตาย กรณีวัคซีนเชื้อเป็นให้ฉีดวัคซีนปีละ 1 ครั้ง โดยให้ฉีดวัคซีนในลูกสัตว์ได้ตั้งแต่อายุ 1 เดือนขึ้นไป ส่วนวัคซีนเชื้อตายให้ฉีดปีละ 2 ครั้ง ให้ฉีดวัคซีนในลูกสัตว์ได้ตั้งแต่อายุ 4 เดือนขึ้นไป ร่วมกับการควบคุมและกำจัดแมลงพาหะ เช่น กางมุ้ง ใช้ยาไล่แมลงราดตัวสัตว์ พ่นยาฆ่าแมลงบริเวณคอกในฟาร์ม เป็นต้น และให้แยกสัตว์ที่นำเข้ามาเลี้ยงใหม่อย่างน้อย 14 วัน หากพบสัตว์ป่วยที่แสดงอาการ ให้แยกสัตว์ป่วยออกจากฝูงเพื่อลดการแพร่โรคในฝูง”
น.สพ.สมชวน เตือนอีกว่า ในระยะนี้กรมปศุสัตว์ขอความร่วมมือเกษตรกรผู้เลี้ยงโคกระบือ ให้ดูแลสัตว์ของตนเองให้มีสุขภาพสมบูรณ์ แข็งแรง และหมั่นสังเกตอาการสัตว์เลี้ยงของตนเองอยู่เสมอ โดยเฉพาะในลูกสัตว์ หากยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีนสามารถติดต่อขอ รับบริการการฉีดวัคซีนป้องกันโรคลัมปี สกิน หรือขอคำปรึกษาได้ที่สำนักงานปศุสัตว์อำเภอใกล้บ้าน หากพบสัตว์แสดงอาการป่วยหรือตายผิดปกติโดยไม่ทราบสาเหตุ ให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ อาสาปศุสัตว์ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน หรือเจ้าหน้าที่องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ในพื้นที่ หรือผ่านทาง Application DLD 4.0 หรือโทรศัพท์สายด่วน 06-3225-6888
อนึ่งโรคลัมปี สกิน (Lumpy skin) เกิดจากเชื้อไวรัส พบเฉพาะในโคกระบือเท่านั้น ไม่ติดต่อสู่คน มีพาหะนำโรคติดต่อระหว่างสัตว์และสัตว์ ได้แก่ เห็บ ยุง แมลงวันดูดเลือด อาการที่สำคัญคือ สัตว์ป่วยจะมีตุ่มแข็ง สะเก็ดตามผิวหนัง หรือมีต่อมน้ำเหลืองโตนูน ไข้สูง ซึม เบื่ออาหาร บางครั้งพบก้อนเนื้อในจมูก ปาก และตา ทำให้โคกระบือมีน้ำมูกข้น น้ำลายไหล น้ำตาไหล
สัตว์ที่ป่วยจะขับเชื้อทางสะเก็ดแผล น้ำมูก น้ำตา น้ำเชื้อ น้ำนม โคกระบือทุกช่วงอายุ ทุกสายพันธุ์มีความไวต่อโรค แต่อาการจะรุนแรงในลูกสัตว์หรือสัตว์ที่อ่อนแอ.
คลิกอ่าน “ข่าวเกษตร” เพิ่มเติม