เมื่อเร็วๆนี้ ชาวพังงาได้เฮ...ลั่น เมื่อกรมทรัพย์สินทางปัญญาประกาศขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) รายการใหม่ นั่นคือ “มังคุดทิพย์พังงา”

ถือเป็นรายการที่ 3 ของจังหวัด ตามหลัง ทุเรียนสาลิกาพังงา และ ข้าวไร่ดอกข่าพังงา พบผลผลิตเป็นที่ต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ สร้างรายได้ให้ชุมชนกว่าปีละ 280 ล้านบาท

นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เผยว่า “มังคุดทิพย์พังงา” นับเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของจังหวัดและปลูกกันมาอย่างยาวนาน มีชื่อเสียง อีกทั้งผลผลิตยังจำหน่ายทั้งในและต่างประเทศ โดยเฉพาะ จีนและเวียดนาม

ด้วยสภาพภูมิประเทศและสภาพภูมิอากาศเฉพาะถิ่นของ จ.พังงา ทำให้มังคุดมีลักษณะเด่น ผลทรงกลม เปลือกค่อนข้างหนา แห้ง แตกลาย เนื้อสีขาว หนานุ่ม ไม่ฉ่ำน้ำ รสชาติหวานอมเปรี้ยว

และด้วยความที่เปลือกมังคุดค่อนข้างหนา ทำให้เนื้อมังคุดไม่ช้ำง่ายด้วย

ทางกรมมีนโยบายสร้างรากฐานทางเศรษฐกิจให้เข้มแข็ง โดยการยกระดับสินค้าท้องถิ่นผ่านการขึ้นทะเบียน GI เพื่อคุ้มครองสินค้าที่มีอัตลักษณ์เฉพาะในแต่ละท้องถิ่น

เป็นการเพิ่มมูลค่าสินค้า สร้างรายได้ให้แก่ชุมชน อีกทั้งยังเป็นการควบคุมคุณภาพสินค้าเพื่อสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้บริโภค

หลังจากนี้แล้ว ทางกรม จะเร่งเดินหน้าส่งเสริมการจัดทำระบบควบคุมคุณภาพสินค้า และสนับสนุนช่องทางการตลาด เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า และสร้างรายได้ให้เกษตรกรในชุมชนต่อไป

มังคุดทิพย์พังงา มีพื้นที่ปลูกประมาณ 13,000 ไร่ ให้ผลผลิตปีละประมาณ 6,500 ตัน ปลูกมากใน อ.กะปง, ตะกั่วป่า, ท้ายเหมือง และ อ.คุระบุรี

สิ่งที่ทำให้ชาวพังงาปลื้มที่สุด เมื่อครั้งที่นำมังคุดถวาย สมเด็จพระกนิษฐา ธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เมื่อเสวยแล้วรสชาติเป็นที่ถูกพระทัย

...

ทำให้ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา ได้ตั้งชื่อมังคุดพังงาว่า “ทิพย์พังงา” หมายถึง ผลไม้ที่เป็นของเทวดา มีรสเลิศจากจังหวัดพังงา.

สุขสันต์ สมทรัพย์ รายงาน

คลิกอ่านคอลัมน์ "มองทั่วทิศเมืองไทย" เพิ่มเติม