วันออกพรรษา...วันหลังจากที่พระภิกษุ สามเณรนักบวชในพระพุทธศาสนาทุกรูปได้เข้าจำพรรษามาอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 ในอารามใดอารามหนึ่ง ซึ่งถือว่าเป็นการปฏิบัติตามประเพณีและพุทธบัญญัติโดยมิได้ขาดตกบกพร่องถ้วนไตรมาส

“วันออกพรรษา” จึงตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 เมื่อนับทางจันทรคติ ต่อจากนั้นก็เป็นเทศกาลทอดกฐินเป็นเวลาอีก 1 เดือนเต็ม จึงเป็นช่วงเวลาที่พุทธศาสนิกชนได้สะสมกองบุญกุศลให้กับตนเองหลังจากที่ได้ปฏิบัติธรรมมาเป็นเวลา 3 เดือน

“การที่นักบวชในพระพุทธศาสนาได้ยึดถือปฏิบัติตามพุทธบัญญัติที่ดีเช่นนี้ก็จะเป็นอานิสงส์ให้เกิดประโยชน์คือหลักธรรมคำสอนของพระพุทธองค์ยังมั่นคง ยังมีพุทธศาสนิกชนช่วยสืบทอดพระพุทธศาสนา ยังเป็นผลดีต่อมวลมนุษย์ ยังสามารถสร้างความปกติสุขความสงบสุขให้กับผู้คนในสังคมเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม”

พระมหาสมัย จินฺตโฆสโก
พระมหาสมัย จินฺตโฆสโก

...

พระมหาสมัย จินฺตโฆสโก ประธานมูลนิธิกลุ่มแสงเทียน เจ้าอาวาสวัดบางไส้ไก่ กทม. บอกว่า การที่พระภิกษุสามเณรและนักบวชในพระพุทธศาสนาได้มีแนวประพฤติปฏิบัติยึดตามหลักธรรมคำสอนของพระพุทธองค์อย่างเสมอต้นเสมอปลายโดยให้ความสำคัญในช่วงเข้าพรรษานี้ได้ศึกษาเล่าเรียนพระธรรมวินัย

...ได้ประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธองค์โดยมิได้ขาดตกบกพร่องจนเกิดความเข้าใจความแจ่มแจ้งในหลักธรรมคำสอนข้อนั้นๆ ได้จำพรรษาให้พุทธศาสนิกชนได้ทำบุญถวายทานฟังเทศน์ฟังธรรมและร่วมประพฤติธรรมตามหลักศีลข้อนั้นๆ จะเป็นผลดีต่อจากวันออกพรรษาไปแล้ว

เพราะ “หลักธรรม” ที่ได้เคยเรียนรู้ข้อวัตรปฏิบัติที่เคยประพฤติมาแล้วก็จะกลายเป็น “พลัง” ให้เกิดการขับเคลื่อนใน “การเผยแผ่ธรรมะ” ต่อไปอีก 9 เดือน...ก่อนที่จะวกกลับมาเข้าพรรษาอีกครั้งหนึ่ง

ดังนั้น การประพฤติดีปฏิบัติชอบของนักบวชในพระพุทธศาสนาแล้วจึงจะออกเผยแผ่ธรรมะเป็นหัวใจสำคัญอย่างยิ่ง เมื่อเรียนรู้แล้วได้ปฏิบัติจึงนำไปเผยแผ่จะเกิดประสิทธิผล...ประสิทธิภาพยิ่งขึ้น จะก่อให้เกิดความศรัทธาแก่พุทธศาสนิกชน เพราะการประพฤติก็ดี การปฏิบัติก็ชอบด้วยพระธรรมและพระวินัยนั่นเอง

ข่าวและเหตุการณ์ของวงการทางสงฆ์ในพรรษาที่กำลังจะผ่านไปนี้โดยภาพรวมมีความสงบนิ่งไม่สร้างความปั่นป่วนหรือความสับสนให้กับพุทธศาสนิกชน ไม่ว่าจะเป็นข้อวัตรปฏิบัติของนักบวชโดยตรงหรือความเชื่อความศรัทธาทางด้านความคิด ถือว่าภาพรวมออกมาดีและดีมาก

“ถึงแม้ว่าอาจจะมีข้อบกพร่องของนักบวชบางรูปอยู่บ้างก็ตาม แต่เป็นเฉพาะตัวบุคคล”

วิถีชีวิตของชาวบ้านต่างดิ้นรนและสับสนในการดำรงชีวิต แต่เมื่อได้หันหน้าเข้าวัด รักษาศีลปฏิบัติธรรม เจริญจิตตภาวนาแล้วก็ก่อให้เกิดความสงบสุขขึ้นมา ในที่สุดพระสงฆ์สาวกของพระพุทธองค์ซึ่งเป็นหนึ่งในพุทธบริษัทก็สามารถนำเอาหลักธรรมคำสอนของพระพุทธองค์มาเกื้อกูลมนุษย์...ชาวโลกได้

“โลก”...จึงสงบและสุขเพราะเกิดจากความร่มเย็นของชาวพุทธเป็นที่ตั้ง เมื่อนักบวชใต้ร่มกาสาวพัสตร์สงบ สง่า สวยงาม โดดเด่นแล้วผู้ที่จะหันหน้าเข้ามาแสวงหาความสงบก็จะเกิดขึ้นตามมา ความสง่าความร่มเย็นก็เกิดขึ้นกับชีวิตนั้นๆ จึงขออนุโมทนากับข้อวัตรปฏิบัติที่ดีและได้ผลนี้

“เมื่อออกพรรษาไปแล้วเราก็จะเห็นพระภิกษุสามเณรเดินทางไปมาขวักไขว่กันมากขึ้น ไม่ว่าจะเดินทางไปโปรดญาติโยมหรือเดินทางไปเผยแผ่ธรรมะ ล้วนจะเกิดประโยชน์ต่อชาวพุทธทั้งสิ้น แต่ขอให้นักบวช ทุกรูปได้ตระหนักหรือได้สำเหนียกว่าการเดินทางนั้นขออย่าได้ขับขี่ยานพาหนะด้วยตนเองเพราะผิดกฎหมาย”

...

ที่สำคัญคือ...ผิดสมณสารูป ขัดต่อหลักพระธรรมวินัย ถึงแม้ว่าจะเป็นอาบัติไม่หนักแต่เป็นโลกวัชชะหรือชาวโลกติเตียน ขอให้เริ่มต้นป้องกันหรือแก้ไขที่ตัวเรา

“อย่าได้ฝืนปฏิบัติจนเกิดความเสื่อมศรัทธาของชาวบ้าน...ชาวพุทธกันอีกต่อไป ถ้าจะเดินทาง ขอให้มีคนขับรถที่เป็นฆราวาสช่วยนำทาง ขออย่าได้ดันทุรังจนผิดศีลและกฎหมายบ้านเมือง”

เส้นทางแห่งความสงบ การทำบุญ “ทอดกฐิน” หลังจาก “ออกพรรษา” ไปแล้วภายใน 1 เดือน จนถึงวันลอยกระทง เป็นประเพณีวัฒนธรรม...ถูกต้องพระธรรมวินัยคือพระภิกษุสามเณรจะได้รับอานิสงส์จากการเข้าจำพรรษา จะได้มีผ้าไตรจีวรผืนใหม่มาครอง ชาวพุทธจะได้ร่วมทำบุญซึ่งถือว่ามีอานิสงส์ที่ยิ่งใหญ่

ภายใน 1 ปี สามารถทำบุญประเภทนี้ได้ภายในเดือนเดียวเท่านั้นจึงเรียกว่า “กาลทาน” นั่นเอง สิ่งที่ชาวพุทธจะทำบุญทอดกฐินนี้มีทั้ง “กฐินหลวง” และ “กฐินราษฎร์”

การทำบุญตามฤดูกาลนี้จักเกิดประโยชน์อย่างมหาศาลต่อพระพุทธศาสนา เรามีกำลัง...ศรัทธาในข้อวัตรปฏิบัติของพระภิกษุสามเณรรูปใดอารามใดก็ขอจงแสวงหาความดีหรือบุญกุศลได้ตามกำลังที่ตนเองมีอยู่ หรือตามศรัทธาที่ตนเองมีอยู่ หรือเพียงร่วม “อนุโมทนา” ก็เป็นบุญกุศลแก่ตัวเราแล้ว

...

“ทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นมาในโลกนี้ต่างมีต้นเหตุทั้งสิ้น ต้นเหตุดี ตอนกลางหรือปลายทางก็จะดี กระนั้นในขณะเดียวกันถ้าต้นเหตุไม่ดี ตอนกลางหรือปลายทางก็จะไม่ดี สุดท้ายผลร้ายก็จะติดตามมา ทุกสิ่งทุกอย่างจึงมีเหตุและปัจจัยทั้งนั้น ความดีที่เกิดขึ้นมาแล้วภายในพรรษานี้ก็จะพลอยส่งผลให้เกิดแต่สิ่งที่ดีต่อไป”

ความสว่างในทางธรรม ความสงบร่มเย็นในหมู่ชาวพุทธ แสงทองจะผ่องอำไพให้กับมนุษย์ทั้งปวง ความสุข ความปรารถนาดี ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกันก็จะติดตามมาเพราะชีวิตเริ่มมีหลักธรรมประจำใจ เริ่มรู้จักนำเอาธรรมะมาแก้ไขปัญหาชีวิตให้กับตนเอง

“คนเรามีความเกรงกลัวต่อบาป มีความละอายแก่ใจต่อการที่จะทำกรรมชั่ว มีการรู้จักยับยั้งชั่งใจมากขึ้น มีความอดทน มีการเสียสละเพื่อประโยชน์แก่คนอื่นมากขึ้น มีความเข้าอกเข้าใจซึ่งกันและกันมากขึ้น มีความปรารถนาจะให้คนอื่นมีความสุขมากขึ้น ถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน รู้จักเสียสละและปล่อยวาง”

เหล่านี้จะกลายเป็นแสงทองที่จะผ่องอำไพมาจากภายในวัดและผู้คนภายในวัดจนมาถึงชาวบ้านที่อยู่ใกล้วัด...หมู่บ้านชุมชนที่อยู่ใกล้วัด มีความสุข ความสงบ ความร่มเย็น

ขออนุโมทนากับความดีที่เกิดขึ้น จงมาเป็นพลังก่อให้เกิดความสงบ ความสุข ความร่มเย็นทุกทั่วหน้ากัน แต่...“ความดี” หรือ “ความชั่ว” เป็นของเฉพาะตัว ใครทำความดีได้คนนั้นก็ได้แต่ความดี กระนั้นในขณะ เดียวกันใครทำความชั่วไปคนนั้นก็ได้แต่ความชั่ว กรรมคือการกระทำ เจตนาเป็นเครื่องบ่งชี้ของการกระทำ

...

ดังนั้น ขอให้ทุกท่านได้มีเจตนาดีเป็นที่ตั้งแล้วสิ่งที่ดีทางกายและวาจาจะติดตามมา สุดท้ายถ้าเจตนาดีกายดีวาจาดีก็จะมีประโยชน์และสร้างความสุขให้กับมนุษย์ทุกชีวิตตลอดไป

“สะอาดกาย สะอาดวาจา สะอาดใจ อยู่ในแห่งหนตำบลใดล้วนมีแต่ความสุขและความเจริญติดตามมา จากกรณีที่ไม่ดีก็จะกลายเป็นกรณีที่ดี จากสิ่งที่เลวร้ายก็จะกลายเป็นสิ่งที่ดี จากสิ่งที่เคยตกต่ำก็จะไม่ตกต่ำอีกต่อไป จากที่เคยเดือดร้อนก็จะไม่เดือดร้อนอีกต่อไป นี่คืออานิสงส์จากการมีศีล มีสมาธิ มีปัญญา...”

ช่วยกันต่อยอดให้มีอานิสงส์เพิ่มมากขึ้น พุทธบริษัทช่วยกันสนับสนุน... ผลักดันให้ “พระพุทธศาสนา” ได้เป็นที่พึ่งของชาวบ้าน...ชาวโลก ความสุขกาย ความสบายใจ ความร่มเย็นเป็นสุขจะได้แผ่ไพศาล

“พระพุทธศาสนา”...เป็นส่วนหนึ่งให้ผู้คนในโลกนี้มีความสุข ความร่มเย็นไปด้วยกัน ในพรรษานี้มีแต่สิ่งที่ดีจึงได้กลายเป็นแสงทองที่จะผ่องอำไพให้กับชาวบ้าน ชาวพุทธ และชาวโลกต่อไป.

คลิกอ่านคอลัมน์ "สกู๊ปหน้า 1" เพิ่มเติม