วันนี้ (25 ต.ค. 66) เวลา 09.30 น. ที่ห้องประชุมดำรงธรรม ชั้น 2 อาคารศาลาว่าการกระทรวงมหาดไทย นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานการประชุมหารือแนวทางการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการขับเคลื่อนสังคมและระบบสุขภาพที่เป็นธรรมตามรัฐธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติฉบับที่ 3 พ.ศ. 2565 โดยมี นายแพทย์สุเทพ เพชรมาก เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ นายสุทธิพงษ์ วสุโสภาพล ผู้เชี่ยวชาญสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ร้อยตำรวจโท ภพชนก ชลานุเคราะห์ รองอธิบดีกรมการปกครอง นายชูชีพ พงษ์ไชย รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน นายศิริพันธ์ ศรีกงพลี รองอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น และผู้ที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ขอขอบคุณสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติที่เป็นภาคีเครือข่ายร่วมกับกระทรวงมหาดไทย ในการหาแนวทางขับเคลื่อนดูแลสุขภาพพลานามัยเพื่อช่วยกันให้ประชาชนได้รับสิ่งที่ดี ยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีของพี่น้องประชาชนคนไทยกว่า 66 ล้านคน ซึ่งชาวมหาดไทยมีความยินดีและภูมิใจที่จะได้เป็นส่วนหนึ่งในการช่วยสนับสนุนการขับเคลื่อนสังคมและระบบสุขภาพที่เป็นธรรมตามธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2565 ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ รวมถึงหน่วยงานของกระทรวงสาธารณสุข และทุกกระทรวง เพราะเรามีเป้าหมายเดียวกัน คือ "การทำให้พี่น้องประชาชนมีความสุขและมีสุขภาพที่ดี" ซึ่งหากกล่าวถึงเรื่องสุขภาพนั้นมีความสำคัญ เพราะเป็นปัจจัยของความสุขของคน การไม่เจ็บไข้ได้ป่วย การมีแรงกาย แรงใจพร้อมที่จะทำงาน จะนำไปสู่การมีรายได้หล่อเลี้ยงชีพ ดังเจตนารมณ์ของคนมหาดไทย คือ "บำบัดทุกข์บำรุงสุข" ให้กับพี่น้องประชาชน
"ปัจจุบันแม้ว่ากระทรวงมหาดไทยและสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติจะยังอยู่ระหว่างการหารือจัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ แต่ในทางปฏิบัติหรือในความเป็นจริงนั้น กระทรวงมหาดไทยได้มีการประชุมร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อขับเคลื่อนส่งเสริมด้านสุขพลานามัยที่ดีของพี่น้องประชาชน โดยเฉพาะเรื่องการส่งเสริมด้านการออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ เรามีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 7,849 แห่งทั่วประเทศ เป็นหน่วยงานในการรับผิดชอบ อีกทั้งการส่งเสริมสุขภาพร่วมกันกับคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ในการดูแลสุขภาพมารดาตั้งแต่ตั้งครรภ์ เพื่อให้เข้าสู่ระบบการดูแลของกระทรวงสาธารณสุข ทำให้เด็กมีสุขภาพร่างกายแข็งแรงมีน้ำหนักไม่ต่ำกว่าเกณฑ์ โดยกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบ หรือแม้แต่เรื่องการดูแลส่งเสริมพัฒนาการของเด็กในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ทั้งด้านร่างกาย จิตใจ อารมณ์ สังคม สติปัญญา และวินัย ร่วมกับมูลนิธิสนามเด็กเล่นสร้างปัญญา เพื่อให้เด็กได้มีพัฒนาการที่ดี และการดูแลด้านอาหารกลางวันเด็กนักเรียน เพื่อเด็กเยาวชนได้รับสารอาหารครบถ้วนทั้ง 5 หมู่ โดยน้อมนำแนวพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในการสร้างความมั่นคงทางอาหาร ตามโครงการ "บ้านนี้มีรัก ปลูกผักกินเอง" และ "ทางนี้มีผล ผู้คนรักกัน" โดยเริ่มตั้งแต่การปลูกผักสวนครัว การเลี้ยงสัตว์ ทำให้มีอาหารเพียงพอ ปลอดภัย และมีประโยชน์ รวมไปถึงการดูแลผู้ป่วยติดเตียง โดยมี อำเภอ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ดูแลให้ความช่วยเหลือให้ทุกคนสามารถมีชีวิตอย่างเป็นปกติสุข โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง และการดูแลสิ่งแวดล้อม ด้วยการรณรงค์คัดแยกขยะ การจัดทำถังขยะเปียกลดโลกร้อน จนปัจจุบันได้การรับรองจากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.) ตามโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (Thailand Voluntary Emission Reduction Program: T-VER) ซึ่งสามารถคำนวณขายเป็นคาร์บอนเครดิตใน 26 จังหวัด ได้กว่า 22 ล้านบาท ล้วนเกี่ยวข้องกับสุขภาพของประชาชน ซึ่งทั้งหมดที่กล่าวเป็นสิ่งกระทรวงมหาดไทยให้ความสำคัญและเน้นย้ำอยู่เสมอคือ "การป้องกันเชิงรุก" และ Action Now "ทำทันที"" นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวในช่วงต้น
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวต่ออีกว่า กระทรวงมหาดไทย ให้ความสำคัญในบทบาทของ "ผู้นำ" ในระดับพื้นที่ ภายใต้การนำของนายอำเภอ 878 อำเภอ เป็นแม่ทัพ ในการทำ "สร้างก่อนซ่อม" โดยบูรณาการกับทุกภาคีเครือข่าย โดยเฉพาะผู้นำด้านศาสนาร่วมกับมหาเถรสมาคม ทั้งฝ่ายสาธารณูปการและฝ่ายสาธารณสงเคราะห์ ขับเคลื่อนขยายผลหมู่บ้านรักษาศีล 5 สู่ "หมู่บ้านศีลธรรม" นำไปสู่การเป็นหมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Village) ตามแนวพระดำริของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ขยายผลจากอำเภอ ตำบล สู่หมู่บ้าน ทำให้ประชาชนมีความมั่นคงในชีวิตทุกมิติ จึงมีความสอดคล้องและตอบโจทย์ของการที่จะนำไปสู่การลงนามบันทึกข้อตกลงร่วมกันในอนาคต "เพื่อตอกย้ำเจตนารมณ์สิ่งที่เราขับเคลื่อนว่า เราชาวมหาดไทยจะให้ความสำคัญและมุ่งมั่นขับเคลื่อนภารกิจให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม ด้วยการทำสิ่งที่เราทำอยู่แล้วให้ดียิ่งขึ้นไป เพื่อ Change for Good สร้างสิ่งที่ดีร่วมกัน อันเป็นการตอบแทนคุณแผ่นดิน คนทำงานก็จะได้สุขใจร่วมกัน ได้มีความยินดีและภาคภูมิใจที่ได้มีโอกาสร่วมกันสร้างเสริมสุขภาพที่เป็นธรรมให้กับพี่น้องประชาชนคนไทยอย่างยั่งยืน
นายแพทย์สุเทพ เพชรมาก เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า การประชุมในวันนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ หารือแนวทางและกลไกความร่วมมือในการขับเคลื่อนสังคมและระบบสุขภาพที่เป็นธรรม และหารือแนวทางการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ เนื่องจากพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 ได้กำหนดให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเป็นกรรมการ และจัดทำ "ธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ" โดยมองคำว่าสุขภาพให้กว้างขึ้น นอกเหนือจากการมีโรงพยาบาลที่ดีแล้วต้องมีปัจจัยการส่งเสริมสุขภาพด้านอื่นๆ อีกด้วย โดยมีธรรมนูญเป็นแนวทางและยุทธศาสตร์ ในการส่งเสริมด้านสุขภาพของประชาชนคนไทยทั่วประเทศ โดยมีเป้าหมาย คือมีนโยบายสาธารณะที่ดีและมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน การสร้างเสริมสุขภาพและการจัดการปัจจัยสังคมที่กำหนดสภาพ และการจัดระบบบริการสุขภาพ ซึ่งทั้งหมด มีความสอดคล้องและเกี่ยวข้องกับกระทรวงมหาดไทยในทุกมิติ โดยเฉพาะกลไกในระดับพื้นที่ที่ปัจจุบันมีโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) รวมถึงสถานบริการที่อยู่ภายใต้การดูแล ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ดังนั้น เพื่อหารือแนวทางการขับเคลื่อนให้เกิดผลเป็นรูปธรรม โดยมี 2 ประเด็นหลัก คือ 1) มีกลไกคณะการทำงานร่วมในการวางแผนขับเคลื่อนระหว่างกระทรวงมหาดไทยและ สช. เพื่อดำเนินการติดตาม ประเมินผลการดำเนินงาน ตามแนวทางความร่วมมือฯ โดยให้กระทรวงมหาดไทยหนุนเสริมและประสานเชื่อมโยงกลไก อบจ. โดยนำกรอบธรรมนูญเป็นแนวทาง พร้อมทั้งพัฒนาขับเคลื่อน โรงเรียนในสังกัด อปท. เชื่อมโยงกับกระทรวงศึกษาธิการ และหน่วยงานภาคีเครือข่าย และ 2) แนวทางและรูปแบบการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ ทั้งนี้ ขอขอบคุณกระทรวงมหาดไทย ที่ได้มีคำแนะนำอันจะเป็นแนวทางการขับเคลื่อนทำงานร่วมกันให้ประชาชนทุกคนได้รับสิ่งที่ดี เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดี
"การประชุมหารือแนวทางการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการขับเคลื่อนสังคมและระบบสุขภาพที่เป็นธรรมตามรัฐธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติฉบับที่ 3 พ.ศ. 2565 ในวันนี้ จะนำไปสู่การจัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงฯ เพื่อบูรณาการการทำงานร่วมกันในรูปแบบ Partnership ระหว่างกระทรวงมหาดไทยกับสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ด้วยการหนุนเสริมจับมือทำสิ่งที่ดีร่วมกัน เพื่อให้เกิดการบริหารจัดการดูแลสุขภาพอนามัยประชาชนในทุกพื้นที่ของประเทศไทยในรูปแบบ "1 โรงพยาบาล 1 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น" ซึ่งจะสามารถครอบคลุมแนวทางการส่งเสริมสุขภาพของพี่น้องประชาชนในทุกมิติ นอกจากนี้ จะได้มีการกำหนดกรอบแผนงานการส่งเสริมบทบาทขององค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ซึ่งเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขนาดใหญ่ที่ได้รับโอนภารกิจโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ให้สามารถพัฒนาเป็นหน่วยปฏิบัติการด้านสุขภาพปฐมภูมิสำหรับประชาชนในทุกท้องถิ่น และมีกลไกการติดตาม (Monitor) รวมถึงการรายงานผล (Report) ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นการดำเนินงานที่สอดคล้องเชื่อมโยงกันภายใต้กลไกของการขับเคลื่อนสังคมและระบบสุขภาพที่เป็นธรรมตามธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติฉบับที่ 3 พ.ศ. 2565 มุ่งสู่การทำให้ประเทศไทย เป็นประเทศที่พี่น้องประชาชนมีสุขภาพที่ดีอย่างยั่งยืน"