ผมรู้จักชื่อ คาลิล ยิบราน จากข้อเขียนที่งดงาม ซับซ้อน และลุ่มลึก ไม่กี่เรื่อง...ส่วนตัวตน เป็นใคร ก็รู้ว่าเป็นชาวเลบานอน ดูจะแค่นั้น

หนังสือจากสำนักพิมพ์แสงดาว ของคุณจรัญ หอมเทียนทอง เล่มล่า เพิ่งมาถึงมือ “รักเร้นลับของคาลิล ยิบราน” อ่านแค่บทแรกๆ นำเรื่อง...จึงรู้ต่อว่า นอกจากงานเขียนยิ่งใหญ่ เขาเป็นจิตรกรระดับโลก

และเรื่องที่ควรรู้ให้จริงจังเสียที คาลิล ยิบราน เป็นใคร?

เกิด 6 ม.ค. ค.ศ.1883 ในหมู่บ้านบซารี ประเทศเลบานอน พ่อแม่เป็นคริสต์ศาสนิกชน นิกายมาโรไนต์

พ่อเป็นชาวนาขี้เหล้าไร้การศึกษา มักทะเลาะตบตีลูกเมีย แม่คาริลาห์ ราห์มี เป็นลูกสาวพระประจำหมู่บ้าน เป็นม่ายลูกติดคนหนึ่งจากสามีเก่า มีลูกกับสามีใหม่รวมทั้งคาลิล ยิบราน อีกสี่

เด็กๆครอบครัวนี้ เติบโตท่ามกลางความยากจนข้นแค้น ความเครียด ความขมขื่น ทั้งจากพ่อขี้เมาและแม่ที่สิ้นหวัง ยิบราน มักปลีกตัวไปนั่งวาดภาพด้วยดินสอหรือถ่าน ที่วัดใกล้ถ้ำ

ค.ศ.1894 ยิบรานอายุ 11 ปี แม่พาเขาและพี่น้องไปอยู่ย่านไชน่าทาวน์ เมืองบอสตัน อเมริกา ทุกคนนออกไปทำงาน ยิบรานคนเดียวที่ได้เข้าโรงเรียน อายุ 15 เขากลับเลบานอน เข้าโรงเรียนกรุงเบรุต

เรียนภาษาอาหรับ ฝรั่งเศส และการเขียน ค.ศ.1899 กลับไปอเมริกา ทุ่มเทเวลาให้กับการวาดรูปและงานเขียน ตอนยังไม่มีชื่อเสียง ขายผลงานไม่ได้ แม่และพี่น้องทำงาน ช่วยดูแลเรื่องปากท้อง

ค.ศ.1902 พี่น้องสองคนและแม่ตาย เหลือ มาเรียนน่าน้องสาวดูแล ช่วงเวลานี้ ยิบราน เจอเพื่อนสาวที่อายุแก่กว่าเขาสิบปี แมรี่ แฮสแกล ครูผู้ดูแลโรงเรียนสตรีของครอบครัว

ความสัมพันธ์ของคู่นี้ เพิ่งเป็นที่เปิดเผย หลังยิบรานตาย (เมื่ออายุ 48 ปี) จากจดหมายที่เขียนติดต่อกัน

...

“แมรี่ ทุกครั้งที่ผมพยายามเข้าใกล้คุณ พูดกับคุณ คุณต้องถอยห่างออกไปจากผมตลอด เหมือนกับคุณจากผมไปอยู่ในที่สูง จนผมเอื้อมไม่ถึง”

ฉันจึงตอบเขากลับไปว่า “เราคบกันเป็นเพื่อนก็ได้นี่ ไม่เห็นจะต้องเป็นคู่รักเลย ฉันไม่อยากให้มิตรภาพอันงดงามของเราต้องสูญไป เพราะความรักที่ไม่จีรังยั่งยืน”

ระดับความสัมพันธ์ ที่มั่นคงยืนยาวในช่วงชีวิตของยิบราน...เป็นความรักแบบไหน ผมแนะนำให้ค่อยๆพิจารณาจากเนื้อหา รักเร้นลับของคาลิล ยิบราน ในเล่ม

จดหมายฉบับหนึ่ง ยิบราน เขียนจากนิวยอร์ก 22 ต.ค.1912 เขาเล่าสถานการณ์โลกขณะนั้นให้แมรี่ฟังว่า

สงครามระหว่างตุรกีและรัฐต่างๆในแหลมบอลข่าน คือความขัดแย้งจิตวิญญาณที่แตกต่างกัน นั่นคือฝ่ายที่มีอารยธรรม กับฝ่ายป่าเถื่อน

พวกที่ร่ำรวยและมีความสุข พากันประท้วงรัฐในแถบบอลข่าน ซึ่งเพิ่งตั้งไข่ เพราะพวกเขากลัวว่า “สันติสุขของโลกจะถูกทำลาย”

ซึ่งผมกลับเห็นว่า ทำไม คนของพวกนั้นจึงไม่มีสิทธิ์ทำลายสันติภาพโลกที่มีเงื่อนไขไม่ชอบมาพากลเล่า?

พวกเขาต้องทนทุกข์ทรมานมานาน กับสันติภาพเพียงด้านเดียว

ผมภาวนาให้พระเจ้าทรงบันดาล ให้สงครามครั้งนี้ แบ่งแยกอาณาจักรตุรกีเสียบ้าง ชาติในตะวันออกใกล้ ซึ่งยากจนและถูกย่ำยีมาตลอด จะได้มีโอกาส จะได้ลืมตาอ้าปากกับเขาเสียที...

หากอ่านจดหมาย...ฉบับนี้ เราจะรู้ว่า ความรักลึกซึ้งของยิบรานนั้น ฝากไว้หนักแน่นกับ ความรักชาติความรักเผ่าพันธุ์ของมนุษย์ ฝ่ายที่ถูกเอารัดเอาเปรียบ

และการเอารัดเอาเปรียบนั้น ถ้ายิบรานกลับชาติมาเกิดวันนี้ ตัวอย่างสงครามอิสราเอล ปาเลสไตน์ เขาก็คงเห็นว่า มันคงดำรงอยู่เหมือนเมื่อร้อยปีที่แล้ว.

กิเลน ประลองเชิง

คลิกอ่านคอลัมน์ "ชักธงรบ" เพิ่มเติม