รศ.ดร.ประดิษฐ์ วรรณรัตน์ ประธานอนุกรรมการดำเนินการตาม พ.ร.บ.สถาบันอุดมศึกษาเอกชน พ.ศ.2546 เปิดเผยในการประชุมระดมความคิดเห็น “กรณีนักลงทุนชาวต่างชาติเข้ามาถือหุ้นในนิติบุคคลผู้รับใบอนุญาตจัดตั้งสถาบันอุดมศึกษาเอกชน” เพื่อกำหนดแนวทางความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาว่า กรณีที่มีนักลงทุนชาวต่างชาติเข้ามาถือหุ้นในนิติบุคคลผู้รับใบอนุญาตจัดตั้งสถาบันอุดมศึกษาเอกชนนั้น เป็นเรื่องที่ทางคณะอนุกรรมการการดำเนินการตามพระราชบัญญัติสถาบันอุดมศึกษาเอกชนเล็งเห็นว่า อาจมีผลกระทบต่อการบริหารจัดการสถาบันอุดมศึกษาเอกชน และอาจส่งผลกระทบต่อประเทศไทยในมิติต่างๆได้

นายพันธุ์เพิ่มศักดิ์ อารุณี รักษาราชการแทน ผอ.กองขับเคลื่อนและพัฒนาการอุดมศึกษาฯ กล่าวว่า สถาบันอุดมศึกษาเอกชนจัดตั้งขึ้นโดยผู้รับใบอนุญาตจัดตั้งนำทุนมาจัดตั้ง ที่ผ่านมามีข้อมูลกรณีชาวต่างชาติที่เข้ามาถือหุ้นในนิติบุคคลของผู้รับใบอนุญาตจัดตั้งสถาบันอุดมศึกษาเอกชน 3 แห่ง และพบว่าหนึ่งในนิติบุคคลของผู้รับใบอนุญาตจัดตั้งนั้น ได้ขยายการดำเนินการจัดการศึกษาไปยังสถาบันอุดมศึกษาเอกชนแห่งอื่น โดยวิธีการขอรับโอนใบอนุญาตจัดตั้ง รวมทั้งกรณีนักศึกษาต่างชาติเข้ามาศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาในประเทศไทยจำนวนมาก ซึ่งสถิติมีนักศึกษาชาวจีนกับนักศึกษาสัญชาติอื่นๆในสถาบันอุดมศึกษาเอกชนประจำปีการศึกษา 2566 คือ สัญชาติจีน 19,592 คน สัญชาติอื่นๆรวมเพียง 8,462 คน โดยนักศึกษาสัญชาติจีนเป็นนักศึกษาระดับปริญญาโท 51% และระดับ
ปริญญาเอก 23% ซึ่ง อว.ได้มีการดำเนินการต่างๆในการติดตามกับหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ กระทรวงการต่างประเทศ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ สมาคมสถาบันอุดมศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์สมเด็จ พระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (สสอท) และสำนักงานข่าวกรองแห่งชาติอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างหลักประกันการจัดการศึกษาเพื่อให้เกิดคุณภาพต่อผู้เรียน และเกิดประโยชน์โดยรวมต่อประเทศ
ศ.ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล รองปลัด อว.กล่าวว่า อว.จะนำข้อหารือมากำหนดแนวทางดำเนินการทั้งในระยะสั้นและระยะยาว เพื่อให้มั่นใจได้ว่า การเข้าลงทุนของชาวต่างชาติในสถาบันอุดมศึกษาเอกชน จะไม่กระทบต่อคุณภาพการจัดการศึกษาของประเทศไทย รวมถึงเรื่องอื่นๆที่เป็นข้อกังวลต่อไป.

...

อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่