ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวว่า กสศ. ได้รับเอกสารยืนยันมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบแผนการใช้เงินของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 วงเงิน 7,094.97 ล้านบาท ตามความเห็นของสำนักงบประมาณ ซึ่งเป็นฉบับปรับปรุงเพื่อให้สอดคล้องกับหลักเกณฑ์การจัดทำงบประมาณและนโยบายของรัฐบาลใหม่ ไม่ใช่การเสนอทบทวนเนื่องจากถูกตีกลับแต่อย่างใด โดยประกอบไปด้วย 9 แผนงาน ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายเด็ก เยาวชน และประชากรวัยแรงงาน ที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส งบประมาณที่เพิ่มขึ้นในปีนี้ ส่วนหนึ่งมาจากการปรับเพิ่มอัตราเงินอุดหนุนทุนเสมอภาค ซึ่งเป็นการจัดสรรให้นักเรียนยากจนพิเศษใน 6 สังกัด ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.),องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.), ร.ร.ตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.), สำนักงานพุทธศาสนา (พ.ศ.), กรุงเทพมหานคร (กทม.) และสำนักงานส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) ประเภทโรงเรียนเอกชนการกุศล จากอัตรา 3,000 บาทต่อคนต่อปี ปรับเป็น 4,200 บาทต่อคนต่อปี เป็นการปรับเพิ่มในลักษณะขั้นบันไดต่อเนื่อง 3 ปี เริ่มตั้งแต่ปีการศึกษา 2567 จนเต็มตามอัตราในปีการศึกษา 2569 ตามความเห็นของสำนักงบประมาณ สำหรับจุดเน้นของการปรับอัตรา คือ ค่าอาหารเช้า ซึ่งพบว่า นักเรียนกลุ่มนี้มากกว่าร้อยละ 90 ไม่ได้รับประทานอาหารเช้าก่อนมาโรงเรียน ซึ่งเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อพัฒนาการทางร่างกายและสติปัญญาที่สมวัย และการสนับสนุนอาหารเช้าจะช่วยลดอัตราการหลุดออกจากระบบการศึกษา

“ต้องขอบคุณรัฐบาลที่ให้ความสำคัญกับข้อเสนอของ กสศ. และหน่วยงานภาคีในการลงทุนแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ทั้งนี้ กสศ.ได้ทำงานร่วมกับหน่วยงานต้นสังกัดทางการศึกษา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในและนอกระบบการศึกษา รวมทั้งได้จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากทุกภาคส่วนในการจัดทำแผนการใช้เงินในปีงบประมาณ 2567 นี้ เพื่อป้องกันการดำเนินการที่ซ้ำซ้อนตั้งแต่ต้นทาง โดยกุญแจสู่การแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาที่ยั่งยืน คือการบูรณาการทำงานและทรัพยากรจากทุกหน่วยงาน เพราะการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำจำเป็นต้องมีทรัพยากรและความรู้ประสบการณ์จากหลายหน่วยงานในการจัดการกับต้นตอปัญหาที่มีหลายมิติ เช่น ด้านสุขภาพ ครอบครัว สังคม และมีความซับซ้อนมากขึ้นทุกวัน” ดร.ไกรยสกล่าว.

...