นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เปิดเผยว่า หลังจากที่ พ.ร.ฎ.การประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ต้องแจ้งให้ทราบ พ.ศ. 2565 หรือ กฎหมาย DPS (Digital Platform Service) มีผลบังคับใช้ในวันที่ 21 ส.ค.66 ซึ่งกำหนดให้ธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่เข้าข่ายตามที่กฎหมายกำหนด จะต้องดำเนินการแจ้งข้อมูลการประกอบธุรกิจต่อให้สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือ ETDA (เอ็ตด้า) จากการตรวจสอบล่าสุดพบว่า แพลตฟอร์มดิจิทัลที่มาจดแจ้งแล้วทั้งสิ้น 109 แพลตฟอร์มนั้น ยังไม่มีรายชื่อแพลตฟอร์มขนาดใหญ่จากต่างประเทศแต่อย่างใด อย่างไรก็ตาม มองว่ายังมีเวลา เพราะกฎหมายกำหนดให้แพลตฟอร์มกลุ่มบริการทั่วไป ซึ่งเป็นกลุ่มแรกที่กำหนดให้มาจดแจ้งนั้น ต้องมาจดแจ้งภายในวันที่ 18 พ.ย.66

“เข้าใจว่ายังมีเวลา แต่ต้องขอเรียนประชาสัมพันธ์และต้องฝากเอ็ตด้าเร่งประชาสัมพันธ์ไปยังแพลตฟอร์มดิจิทัลต่างชาติด้วยว่า หากมีการประกอบธุรกิจเข้าข่ายที่กำหนด ต้องมาจดแจ้งข้อมูลกับเอ็ตด้า เพื่อให้เป็นไปตามกฎหมาย หากเกินกำหนดน่าจะต้องมีบทลงโทษเพราะมีกฎหมายบังคับไว้”

นายชัยชนะ มิตรพันธ์ ผู้อำนวยการเอ็ตด้า ได้เปิดเผยว่า ตั้งแต่วันที่ 21 ส.ค.66 จนถึงวันที่ 10 ต.ค.66 มีธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลเข้ามาแจ้งข้อมูลแล้วจำนวนทั้งสิ้น 109 ราย ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจบริการแพลตฟอร์มประเภท e-Marketplace มากที่สุด รองลงมาคือ Communication Platform, News aggregators, Searching tool, Web browser, Cloud service, Virtual assistant, Advertising service เป็นต้น โดยระยะแรกจะมุ่งเน้นให้กลุ่มบริการแพลตฟอร์มทั่วไปเร่งเข้ามาแจ้งก่อน เพราะมีกำหนดภายในวันที่ 18 พ.ย.66 ที่จะถึงนี้

...

อย่างไรก็ตาม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการตรวจสอบรายชื่อแพลตฟอร์ม 109 รายที่มาจดแจ้งข้อมูล ปรากฏว่ายังไม่มีรายชื่อแพลตฟอร์มรายใหญ่ระดับซุปเปอร์แอปพลิเคชัน โดยที่มาจดแจ้งแล้วเป็นแพลตฟอร์มของประเทศไทย ได้แก่ โรบินฮู้ด, บิทคับ, คิวคิว, NDID หรือ National Digital ID (ระบบยืนยันตัวตนรูปแบบดิจิทัล), กรมหม่อนไหม เป็นต้น ขณะที่แพลตฟอร์มยักษ์ใหญ่จากต่างประเทศที่เข้ามาประกอบกิจการทำรายได้และมีผู้ใช้เป็นจำนวนมากยังไม่เข้ามาจดแจ้ง ไม่ว่าจะเป็นเฟซบุ๊ก, กูเกิล, ติ๊กต่อก, ไลน์, ลาซาด้า และช้อปปี้

นายชัยชนะกล่าวต่อว่า หลังจากนี้จะมีแพลตฟอร์มดิจิทัลทยอยเข้ามาจดแจ้งเพิ่ม โดยกลุ่มแรกที่ต้องให้แล้วเสร็จภายใน 18 พ.ย.66 คือ กลุ่มธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลทั่วไป ทั้งของไทยและต่างประเทศ มีคุณสมบัติดังนี้ 1. กรณีบุคคลธรรมดา มีรายได้ก่อนหักค่าใช้จ่ายในไทย เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี 2. กรณีนิติบุคคล ที่มีรายได้ก่อนหักค่าใช้จ่ายให้ไทย เกิน 50 ล้านบาทต่อปี หรือ 3. มีผู้ใช้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลในไทยเกิน 5,000 คนต่อเดือน ทั้งนี้ ETDA ได้เปิดระบบ Digital Platform Assessment Tool เพื่อให้แพลตฟอร์มได้เข้ามาตรวจสอบคุณสมบัติด้วยตนเอง.

อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่