21 ปี แห่งการสถาปนากระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) พร้อมก้าวสู่ปีที่ 22 กับรัฐมนตรีคนใหม่ นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช ที่ประกาศในวันมอบนโยบายการขับเคลื่อนงานด้านศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรมสู่ก้าวที่มั่นคงด้วยพลังสร้างสรรค์ ในโครงการถอดบทเรียนการขับเคลื่อนงานด้านศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม “21 ปี วธ.นำคุณค่า พัฒนาสังคมและเศรษฐกิจ” ให้แก่ผู้บริหาร วธ. บุคลากรวัฒนธรรม ทั้งในส่วนกลางและภูมิภาค ที่หอศิลป์แห่งชาติ

ด้วยการย้ำชัดถึงการปรับบทบาทเป็น กระทรวงสังคมกึ่งเศรษฐกิจเต็มรูปแบบ ด้วยการส่งเสริมสนับสนุน การนำทุนทางวัฒนธรรมมาสร้างเศรษฐกิจ พร้อม ยกระดับซอฟต์เพาเวอร์ไทยในเวทีโลก มุ่งสร้างรายได้เข้าประเทศ พัฒนาคุณภาพชีวิตให้คนไทยอยู่ดี กินดี มีเงินใช้ โดย 10 กลุ่มอุตสาหกรรมที่จะขับเคลื่อน ได้แก่ 1.ภาพยนตร์ 2.อาหารและร้านอาหาร 3.งานออกแบบแฟชั่น และงานคราฟต์ 4.กีฬา 5.ดนตรี เพลง และการจัดคอนเสิร์ต 6.การท่องเที่ยวและโรงแรม 7.หนังสือ 8.ศิลปะ ละครเวที และแกลลอรี 9.สุขภาพ สปา และนวัตกรรม และ 10.ซอฟต์แวร์และเกม

...

สอดรับกับนโยบายรัฐบาล ของ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ที่ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมซอฟต์เพาเวอร์ มุ่งยกระดับคุณภาพและทักษะของคนไทย 20 ล้านคน ให้เป็นแรงงานทักษะสูง ซึ่งคาดการณ์ว่า หากทำสำเร็จจะมีรายได้เข้าประเทศ 4 ล้านล้านบาทต่อปี มีการจ้างงานเพิ่มขึ้น 20 ล้านตำแหน่ง ทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีรายได้สูง เป็น 1 ในผู้นำของโลกด้านซอฟต์เพาเวอร์

“ก้าวต่อไปของ วธ. จะขับเคลื่อนตามกรอบนโยบายหลัก คือ วัฒนธรรมนำเศรษฐกิจ น้อมนำกระแสพระราช ดำรัสรัชกาลที่ 9 ต่อยอดมาถึงรัชกาลที่ 10 ซึ่งทรงเน้นให้สืบสาน รักษา และต่อยอด มาใช้ทำงานด้านวัฒนธรรมอย่างต่อเนื่อง และมีจุดเน้นหลักๆคือ การขับเคลื่อนนโยบายรองรับ THACCA (Thailand Creative Content Agency) ที่จะส่งเสริมซอฟต์เพาเวอร์ในภาพรวม และจะมีการขับเคลื่อน Soft Power สร้างเสน่ห์วิถีไทย ครองใจคนทั้งโลก” นายเสริมศักดิ์ ย้ำถึงแนวทางการดำเนินงาน

รมว.วัฒนธรรม ยังฉายภาพการขับเคลื่อนงานวัฒนธรรมด้วยนโยบายให้รองรับกับ THACCA ว่า จะดำเนินการผ่าน 10 ข้อ ประกอบด้วย 1.สำรวจรวบรวมข้อมูลทุนทางวัฒนธรรมที่มีศักยภาพนำมาต่อยอดใน 10 อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ และผลักดันนโยบาย 1 ครอบครัว 1 ซอฟต์เพาเวอร์ 2.สำรวจและพัฒนาแรงงานด้านวัฒนธรรมให้มีทักษะสูง รองรับความต้องการของตลาด 3.บริหารจัดการและพัฒนาพื้นที่และเครือข่ายทางวัฒนธรรมทุกระดับ 4.ยกระดับงานวัฒนธรรมให้เป็นที่ยอมรับระดับสากล 5.ส่งเสริมเทศกาลประเพณีของชาติและเทศกาลอื่นๆ ให้เป็นหมุดหมายของนักท่องเที่ยวทั่วโลก 6.ปรับปรุงกฎหมายให้ทันสมัยและส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ 7.สร้างโอกาสให้เข้าถึงแหล่งทุน และเพิ่มช่องทางใหม่ๆในการสร้างรายได้จากสินค้าและบริการทางวัฒนธรรม 8.นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้ต่อยอดงานวัฒนธรรม 9.อนุรักษ์สืบสาน และส่งเสริมงานวัฒนธรรมและขนบธรรมเนียมประเพณีที่สำคัญของชาติ 10.เปิดพื้นที่สำหรับคนรุ่นใหม่ให้ได้รับโอกาสในการเรียนรู้และแสดงออก นำไปสู่การสร้างเศรษฐกิจสร้างสรรค์

นายเสริมศักดิ์ กล่าวอีกด้วยว่า ขณะเดียวกันจะขับเคลื่อนนโยบาย “Soft Power สร้างเสน่ห์วิถีไทย ครองใจคนทั้งโลก” ผ่าน 10 ข้อ ได้แก่ 1.ส่งเสริม 1 ครอบครัว 1 ทักษะซอฟต์เพาเวอร์ 2.ผลักดันโครงการครัวไทยสู่ครัวโลก 3.ผลักดัน Bangkok เมืองแฟชั่น 4.ส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชนเชิงวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม 5.สร้างสังคมรักการอ่าน 6.ผลักดันมวยไทยสู่สากล 7.สนับสนุนอุตสาหกรรมภาพยนตร์ให้มีศักยภาพแข่งขันกับนานาชาติ 8.ส่งเสริมวัฒนธรรมไทยไปใช้ในอุตสาหกรรมต่างๆ 9.เปิดพื้นที่และเปิดโอกาสการสร้างสรรค์งานศิลปะและดนตรี และ 10.ส่งเสริมอาชีพสร้างรายได้ให้กับครัวเรือน

...

“เราให้ความสำคัญกับการดูแลครอบครัวและเด็กซึ่งเป็นต้นกล้าที่น่าห่วง อยากให้สถาบันครอบครัว สถานศึกษา และศาสนา เป็นพื้นที่เบ้าหลอม หาจุดยึดโยงที่ดี ให้ใช้สื่อสร้างสรรค์ เป็นคนดีมีคุณธรรม รักษาวัฒนธรรมอันดีงาม และรู้เท่าทันโลกโลกาภิวัตน์ อยากฝากสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัด สภาวัฒน ธรรมจังหวัด ช่วยตรวจสอบสมาชิกในพื้นที่ เราต้องทำให้วัฒนธรรมอยู่เคียงข้างประชาชน” รมว.วัฒนธรรม กล่าว

ขณะที่ นางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัด วธ. กล่าวว่า หมุดหมายของการพุ่งเป้าหมายสู่กระทรวงสังคมกึ่งเศรษฐกิจ ต้องเปิดมุมมอง เพื่อรับเอาสิ่งใหม่ๆ มีการเปิดวัฒนธรรมสร้างพลังแห่งอนาคต มีการกำหนดแผนงานอย่างชัดเจนทุกระยะ และในปี 2567 จะร่วมกับสถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดทำตัวชี้วัด สถิติทางวัฒนธรรม ทำให้เราเป็นหน่วยงานหลักที่ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมวัฒนธรรม ให้ทุกหน่วยงานนำไปใช้เป็นข้อมูล ขับเคลื่อนซอฟต์เพาเวอร์ สร้างให้จีดีพีด้านวัฒนธรรมสูงขึ้น รวมทั้งจะส่งเสริมให้เกิดเมืองสร้างสรรค์ในประเทศเพิ่มขึ้น โดยใช้ทุนทางวัฒนธรรมมาต่อยดด สร้างมูลค่าเพิ่มได้อย่างยั่งยืน

...

“สิ่งสำคัญคือ เราต้องเปิดรับ และเปิดใจ คือ ต้องเปิดรับสิ่งใหม่ ทั้งเทคโนโลยี นวัตกรรม ความคิดใหม่ๆ เข้าสู่กระบวนการที่เราจะขับเคลื่อนไปพร้อมๆกัน นอกจากนี้ต้องรู้ว่าเรามีทุนอะไร และจะทำอะไรบ้าง ภายใต้การดำเนินโครงการ 1 ครอบครัว 1 ซอฟต์เพาเวอร์ จะต้องสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชน ทั้งด้านการท่องเที่ยวและการบริการ ผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรม เปิดกรุความรู้วัฒนธรรมชั้นครู เปิดแหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรม ตลอดจนเปิดกว้างสังคมพหุวัฒนธรรม สร้างความรัก ความสามัคคี และความสงบสุขทุกพื้นที่ รวมทั้งต้องมีภาคีเครือข่ายทั้งในและต่างประเทศ และที่เน้นย้ำมาตลอดคือ การดำเนินงานจะต้องเปิดเผย โปร่งใส เป็นธรรม ใช้กฎหมายที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์ อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดนี้ ถ้าเราคิดแต่เพียงว่ามันเป็นไปไม่ได้ ก็จะเป็นไปไม่ได้ แต่สำหรับ วธ.แล้ว ต้องคิดใหม่ว่า ทุกสิ่งอย่างเป็นไปได้อยู่ที่เราต้องวิ่งไปข้างหน้าด้วยกันไปทั้งองคาพยพทั้งประเทศ ถ้าไปเพียงลำพังก็เหนื่อย ดังนั้นวัฒนธรรม ต้องทำทันที ...CULTURE NOW” ปลัด วธ. กล่าวย้ำในที่สุด

ทีมข่าววัฒนธรรม เห็นด้วยและมองว่า เสน่ห์จากซอฟต์เพาเวอร์ไทย คือ ทุนทางวัฒนธรรมที่เต็มเปี่ยมด้วยคุณค่าและมูลค่า โดยเฉพาะ 10 กลุ่ม ซอฟต์เพาเวอร์ที่เจ้ากระทรวงวัฒนธรรมประกาศ เป็นหัวหอกหลักในการขับเคลื่อนสู่เวทีโลก

...

แต่สิ่งที่เราอดห่วงไม่ได้และต้องขอฝากทุกภาคส่วน ทั้งรัฐ เอกชน และชุมชน คือ การร่วมแรงร่วมใจกันในการสืบสาน รักษา และต่อยอดให้ซอฟต์เพาเวอร์ไทยเป็นที่ชื่นชอบ ติดตา ตรึงใจ เป็นวิถีเสน่ห์ไทยครองใจคนทั้งโลก

ถึงเวลาแล้วที่คนไทยต้องเรียนรู้และนำทุนทางวัฒนธรรมมานำเศรษฐกิจให้ได้อย่างจริงจังและยั่งยืน.


ทีมข่าววัฒนธรรม

อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่