นายกรัฐมนตรี “เศรษฐา ทวีสิน” แถลงนโยบายด้านสังคมต่อรัฐสภา (11-12 ก.ย.66)...“ประเทศไทย”...กำลังเผชิญกับการเข้าสู่ “สังคมสูงวัย” แบบสมบูรณ์มากกว่าร้อยละ 20 ของจำนวนประชากร ส่งผลต่อศักยภาพทางเศรษฐกิจ...

“การลดลงของประชากรช่วงวัยทำงานมีแนวโน้มที่รัฐจะต้องให้การดูแลช่วยเหลือเพิ่มขึ้น ผู้สูงวัยที่มากขึ้นเป็นการเพิ่มแรงกดดันต่อฐานะทางการคลังของรัฐบาล ทั้งในเรื่องสวัสดิการ...งบประมาณสาธารณสุข”

ขณะที่การสร้างทรัพยากรมนุษย์เพื่อมาทดแทนกลายเป็นความท้าทายจากจำนวนเด็กเกิดใหม่ในแต่ละปีมีจำนวนลดลงอย่างต่อเนื่อง เฉลิมพล พลมุข ประธานมูลนิธิธรรมรักษ์ บอกว่า อายุวัยของรัฐมนตรีในรัฐบาลนี้หลายคนมากกว่า 60 ปี...หลายคนเคยร่วมรัฐบาลที่แล้ว มารัฐบาลนี้ก็มีโอกาสในการร่วมทำงานอีกครั้งหนึ่ง

“เขาเหล่านั้นมีความเป็นอยู่ฐานะที่ดีหลายคนมีทรัพย์สินเงินหลายร้อยล้านบาท ซึ่งต่างจากชาวบ้านหาเช้ากินค่ำหลายคนได้แต่บ่นเชิงตัดพ้อชีวิตที่ว่า...ชีวิตนี้ทั้งชีวิตทำงานหนักตลอดชีวิตก็ไม่เคยมีทรัพย์สินเงินทองที่ร่ำรวยหรือมีความเป็นอยู่ของชีวิตที่ดี ในที่สุดก็ยอมรับถึงบุญกรรมที่กระทำมาครั้งอดีต”

...

อะไร สิ่งใดคือมาตรฐานชีวิตที่ดีของคนแก่ชราในวัยที่ไร้หน้าที่การงานทำ... แล้วจะทำอย่างไรจึงจะเรียกได้ว่า “เกษียณสุข” ได้อย่างแท้จริง?

ชีวิตมนุษย์หรือคนเมื่อลืมตาเกิดมาในโลกนี้มีร่างกายอวัยวะที่สมบูรณ์ จิตใจ สมอง สติปัญญา ความรู้ความสามารถที่จะศึกษาเล่าเรียน มีความสามารถในการทำหน้าที่การงานที่ตนเองถนัด ชอบ รัก มีความเชี่ยวชาญ ชำนาญการในการทำมาหาเลี้ยงชีวิตตนเอง ครอบครัว รวมถึงหน้าที่การงานนั้นๆ

ถ้า...เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติบ้านเมืองในภาพรวมก็นับว่าเป็นพลเมืองที่ดี

เฉลิมพล พลมุข
เฉลิมพล พลมุข

“เกษียณ” ในความหมายของพจนานุกรมฉบับมติชน พ.ศ.2547 หมายถึง สิ้น, หมดวาระที่กำหนด, ครบกำหนดทำงาน, เลิกสิ่งที่เคยทำ...คำในความหมายดังกล่าวยังรวมถึงการทำงานของภาครัฐ เอกชน องค์กรสาธารณกุศล หรือองค์กรอื่นใดที่มีบุคคลทำหน้าที่การงานในตำแหน่งหรือในหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย

เมื่อถึงกาลเวลาหนึ่งอายุของคนคนนั้น หรือแม้แต่เวลาที่ถูกกำหนดให้ยุติหน้าที่การทำงาน มิอาจจักรวมถึงการกระทำความผิดในตัวบุคคล หน้าที่ ความเจ็บป่วย อุบัติเหตุในชีวิตหรือแม้กระทั่งความตายก็มิได้รวมในความหมายดังกล่าว

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 ที่ได้ตราไว้เมื่อวันที่ 6 เมษายน พ.ศ.2560 ในจำนวน 279 มาตรา หมวด 16 การปฏิรูปประเทศในมาตรา 257 (3) ประชาชนมีความสุข มีคุณภาพชีวิตที่ดี และมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศและการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

และในมาตรา 258 ให้ดำเนินการปฏิรูปประเทศในด้านต่างๆให้เกิดผล อาทิ การเมือง การบริหารราชการแผ่นดิน กฎหมาย กระบวนการยุติธรรม การศึกษา เศรษฐกิจ รวมถึงด้านอื่นๆ...

เฉลิมพล บอกว่า สังคมไทยเราในความเชื่อหนึ่งทั้งพ่อแม่ปู่ย่าตายาย ญาติพี่น้องยังคงมีความเชื่อว่า...การที่บุตรหลานได้รับการศึกษาที่ดีแล้ว การเข้าสู่อาชีพข้าราชการในกระทรวงใดกระทรวงหนึ่งของเมืองไทยในยี่สิบกระทรวง...ถือเป็นหนึ่งในความคาดหวัง

“ตำแหน่งหน้าที่ข้าราชการนับตั้งแต่วันที่สมัครเข้าสอบ การบรรจุ การเป็นข้าราชการจนกระทั่งเกษียณอายุนับว่าเป็นการใช้ชีวิตที่ต้องประคับประคอง การบริหารชีวิตทั้งของตนเอง ทั้งความรู้ความสามารถในหน้าที่การงาน เพื่อที่จะมีชีวิตอยู่ถึงวันเกษียณอายุของราชการคืออายุ 60 ปีบริบูรณ์”

...

ภาพลักษณ์หนึ่งของความเป็นข้าราชการก็คือมีงานทำที่มั่นคง มีเงินเดือนประจำ มีเงินประจำตำแหน่ง หรือมีเงินรายได้อื่นอันเกี่ยวเนื่องกับระบบราชการ...มีชุดข้าราชการในการแต่งตัวออกงานพิธีการต่างๆ
ในระบบราชการ...ในงานที่เกี่ยวข้องกับศาสนา ประเพณีวัฒนธรรม

สิ่งหนึ่งที่มองเห็นชัดเจนก็คือระบบการจ่ายตรงในการดูแลรักษาความเจ็บป่วยทั้งตนเองและครอบครัว รวมถึงเงินบำนาญที่รัฐบาลได้จ่ายให้เพื่อดูแลตนเองหลังจากเกษียณอายุราชการก็คือ “เงินบำนาญ”

หลากหลายชีวิตที่เข้ารับราชการหากมองจากครอบครัวพี่น้อง สังคมก็จะเห็นว่า...มีเกียรติมียศ มีตำแหน่งเป็นที่น่าเคารพนับถือ น่าจะมีชีวิตอยู่ยาวนานไปถึงวันเกษียณอายุราชการ ทว่าหลายๆคนก็อาจจะไปไม่ถึงฝั่งหมายถึงมีอุบัติเหตุชีวิตที่เกิดขึ้นระหว่างรับราชการ อาทิ การผิดวินัยร้ายแรง การกระทำความผิดกฎหมาย

นับรวมไปถึง...ความเจ็บป่วยด้วยโรคร้ายแรง อุบัติเหตุ ฯลฯ

“หลายชีวิตของข้าราชการจำนวนหนึ่งผ่านชีวิตวันวานแห่งการเกษียณมาหลายคนสภาพร่างกายแข็งแรง จิตใจเข้มแข็งมีอายุยืน บางคนมีอายุถึง 90 ปี เป็นที่พึ่งให้ลูกหลานทั้งระบบเศรษฐกิจ การดูแลชีวิตร่างกาย การอบรมสั่งสอนบุตรหลานให้เป็นคนดีของสังคม”

...

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า...ความเจ็บป่วยของร่างกายในโรคต่างๆเมื่อย่างก้าวเข้าสู่วัยชราเป็นสิ่งปกติของชีวิต แต่สิ่งเหล่านั้นผู้สูงอายุก็สามารถประคับประคองชีวิตเพื่อเป็นพลเมืองดีของประเทศส่งต่อเมืองไทยเรานี้ให้ลูกหลานได้ช่วยกันดูแลกันต่อไป...ตามความเชื่อ ความฝัน ความคาดหวังหนึ่งของผู้สูงอายุ คนวัยเกษียณได้

สำหรับวิถีชีวิตของชาวบ้านทั่วๆไปที่มิได้ประกอบอาชีพรับราชการ...ต้องใช้แรงงาน สติปัญญาความรู้ความสามารถทักษะความชำนาญในงานอาชีพบางอย่างตลอดชีวิต สร้างรายได้ เลี้ยงครอบครัวลูกหลานได้...แต่หลายชีวิตแม้ต่อสู้ดิ้นรนอย่างเต็มกำลังแล้วก็ยังคงมีความยากจนแม้กระทั่งแก่ชรา

จนกระทั่งมีคำพูดเปรียบเทียบที่ว่า...“สิบพ่อค้าไม่เท่าพระยาเลี้ยง”

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ.ปยุตโต) ท่านได้ให้ข้อคิดในความสุขของชีวิตไว้ 4 ระดับ หนึ่ง...ความสุขจากการเสพวัตถุ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เป็นความสุขจากสิ่งภายนอกต้องแสวงหา ต้องเอา ดิ้นรน ท่านจึงมีคำเตือนที่ว่า เราอย่าสูญเสียอิสรภาพนี้ไป พร้อมทั้งอย่าสูญเสียความสามารถที่จะเป็นสุข

...

สอง...พัฒนาคุณธรรม มีความรัก ความเมตตา ความกรุณา มีความศรัทธาในพระศาสนา ศรัทธาในการทำความดี...ให้โอกาสกับคนที่มีความทุกข์เดือดร้อนกว่าตนด้วยปัญญาความรู้ที่ถูกต้อง

สาม...ความสุขที่เกิดจากการดำเนินชีวิตที่ถูกต้อง ไม่หลงอยู่ในโลกที่สมมติหลอกล่อ ความสุขที่ไม่จีรังยั่งยืน สี่...ความสุขจากความสามารถปรุงแต่ง ข้อนี้โดยเฉพาะผู้สูงอายุต้องระมัดระวังให้มาก ต้องรู้จักปล่อยวางเมื่อวันหนึ่งมาถึง...วันหนึ่งของชีวิตก็ต้องปล่อยวางร่างกายกว้างศอก ยาววา หนาคืบไว้กับแผ่นดิน

“เกษียณสุข”...ในภาพใหญ่คงต้องฝากความหวังไว้กับรัฐบาลปัจจุบันนี้ จะประคับประคองรัฐนาวาสยามเมืองยิ้มให้ไปอย่างตลอดรอดฝั่งได้อย่างสงบ สันติ ปลอดภัย อีกทั้ง...คนไทยจำนวนมากยังยากจน หนี้สินรุงรังปัญหาอาชญากรรมก็มาก...ยาเสพติดก็เยอะ แล้วยังมีโรคระบาดร้ายแรงเข้ามาแทรก

ปัจจุบันเมืองไทยเรามีรัฐธรรมนูญมาแล้ว 20 ฉบับ แต่ละฉบับก็มีความพยายามที่จะทำงานให้เมืองไทยเรามีความเจริญรุ่งเรือง ทันสมัย ก้าวหน้าเสมือนนานาประเทศ เฉลิมพล พลมุข มีหนึ่งคำถามสำคัญ...
ผู้คนที่ผ่านอายุ 91 ปีตั้งแต่มีรัฐธรรมนูญฉบับแรกจนกระทั่งถึงปัจจุบันมีความสุขแค่ไหน...เพียงไร...อย่างไร?

ปัญหาคนแก่ คนชรา ผู้สูงอายุ...แม้จะเป็นปัญหาหนึ่ง แต่อย่าได้ ทิ้งพวกเขาไว้ข้างหลัง.

คลิกอ่านคอลัมน์ “สกู๊ปหน้า 1” เพิ่มเติม