คืนชีพมารูปแบบใหม่ “ส่วยรถบรรทุก” ภายหลังตำรวจสอบสวนกลางกวาดล้างปราบปรามหนักตลอด 3 เดือนจนสติกเกอร์เริ่มหายกลายพันธุ์เป็นการจดโพยทะเบียนรถหลีกเลี่ยงการตรวจสอบแทน
ด้วยนายหน้าจะใช้วิธีรวมทะเบียนรถที่จ่ายส่งเจ้าหน้าที่ที่ดูแลตรวจรถบรรทุกให้ไฟเขียวปล่อยผ่านรถตามโพย เรื่องนี้ถูกเสนอผ่านวงเสวนากำนันนกสะท้อนวิกฤติปัญหาตำรวจและการสอบสวน “นายกฯเศรษฐา” ควรพัฒนาหรือปฏิรูปอย่างไร? โดย อภิชาติ ไพรรุ่งเรือง ประธานสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย บอกว่า
เรื่องส่วยรถบรรทุกเป็นปัญหามาตั้งแต่ปี 2539 “ผู้ประกอบการร้องเรียนต่อนายกฯทุกสมัย” แต่ปัญหาไม่เคยหายแถมพัฒนาตามยุคสมัย “แปรงร่างเป็นส่วยออนไลน์ หรือส่วยสติกเกอร์” กระทั่งเดือน พ.ค.2566 ฝ่ายการเมืองออกมาเปิดโปงขบวนการส่วยสติกเกอร์ ทำให้ตำรวจทางหลวงตกเป็นผู้ต้องสงสัยเกี่ยวข้อง 40 นาย
ยิ่งกว่านั้น “สตช.” ตั้งชุดเฉพาะกิจตรวจสอบรวบรวมพยานหลักฐาน และปราบปรามกวาดล้างหนักส่งผลให้ส่วยสติกเกอร์เปลี่ยนรูปแบบใหม่ ตามข้อมูลข่าวลือกันมาตั้งแต่วันที่ 20 ส.ค.2566 “มีการเคลียร์สติกเกอร์ใหม่กัน” โดยการรวบรวมรายชื่อทะเบียนรถบรรทุกจ่ายเงินแก่ตัวกลางส่วยนำโพยรายชื่อนี้ส่งให้ตำรวจด่านบางคน
...
ตรวจสอบตามทะเบียนโพยให้ “ปล่อยผ่าน” หากรถคันใดไม่มีรายชื่อในโพยก็เรียกจับปรับปกติ
ฉะนั้นในช่วงนี้ “ส่วยรถบรรทุก” อาจไม่มีเป็นรูปแบบสติกเกอร์ เพื่อหลีกเลี่ยงการตรวจสอบให้ยากขึ้น “สิ่งนี้เป็นการฝ่าฝืนกฎหมายที่ไม่อาจเอาผิดรถบรรทุกน้ำหนักเกินได้” ทำให้โครงข่ายถนนสร้างจากเม็ดเงินหลายแสนล้านบาทต่อสาย “เคยมีอายุใช้งาน 20-30 ปี” อาจกลายเป็นใช้งานได้เพียง 2-3 ปี ก็ชำรุดพังเสียหายแล้ว
ผลตามมาก็คือ “เกิดความเสี่ยงต่ออุบัติเหตุบนท้องถนน” ภาครัฐต้องจ่ายค่าซ่อมบำรุงถนนทั่วประเทศปีละหมื่นล้านบาท ดังนั้น “เรื่องส่วยรถบรรทุกเป็นปัญหาอมตะนิรันด์กาล” ถ้าหากไม่ปรับระบบเปลี่ยนโครงสร้างตำรวจก็จะเป็นปัญหาแบบนี้ไปเรื่อยๆ เพราะสังคมไทยเป็นสังคมระบบอุปถัมภ์มาแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
สังเกตจาก “ตำรวจรุ่นน้องข้ามรับตำแหน่งสูงกว่ารุ่นพี่มีให้เห็นอยู่บ่อยๆ” ดังนั้น ตำรวจจบใหม่เข้ามาทำงานต่างใสสะอาดมีอุดมการณ์เป็นคนดีพอมาปฏิบัติงานก็มักถูกวัฒนธรรมเก่าๆ “ครอบงำชักชวนให้กระทำการมิชอบ” ถ้าไม่ทำตามก็อาจมีจุดจบชีวิตเหมือนสารวัตรถูกยิงเสียชีวิตอันเป็นเหตุการณ์ตัวอย่างที่เกิดขึ้นจริง
ประเด็นนี้ “นายกฯคนใหม่” ต้องใช้จังหวะวิกฤติปรับเปลี่ยนให้เป็นโอกาสในการแก้ปัญหาส่วยรถบรรทุกที่จะได้ “ไม่มีใครคัดค้านการปรับโครงสร้างตำรวจ” เพื่อดำรงศักดิ์และศรีของตำรวจไทยไว้ เพราะปัจจุบันประชาชนทั่วไปต่างกลัวตำรวจด้วยข่าวลือในอดีต ผู้ประกอบการรถบรรทุกมักถูกข่มขู่บังคับให้ส่งส่วยเป็นประจำ
ทำให้มีการรวมกลุ่มกันขึ้นมา “ก่อตั้งสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย” เพื่อเรียกร้องขับเคลื่อนให้มีการปราบปรามส่วยรถบรรทุกนำมาซึ่ง “การเปิดโปงกำนันนก” ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องส่วยทางหลวงจนเป็นชนวนเหตุ “ยิงสารวัตรทางหลวงน้ำดี” เพราะไม่ยอมตกลงผลประโยชน์ที่สารวัตรรับหน้าที่มาปราบโดยตรงนั้น
“ก่อนหน้านั้นมีโอกาสพูดคุยกับสารวัตรหลายครั้งผ่านทางไลน์ในการร้องเรียนปัญหารถบรรทุก และพูดคุยครั้งสุดท้ายปลาย ส.ค.2566 กำชับว่าท่านได้รับคำสั่งจาก ผบช.ก.ให้ลงมาแก้ปัญหาส่วยโดยเฉพาะ หากเห็นอะไรผิดสังเกตเรื่องส่วยสามารถแจ้งร้องเรียนมาได้ ท่านจะดำเนินการเต็มที่ตามกฎหมาย” อภิชาติว่า
...
เช่นเดียวกับ วิโรจน์ ลักขณาอดิศร สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล บอกว่า ปัญหาส่วยมีความพัวพันเยอะหลายส่วน เพราะในช่วงออกมาเปิดโปงเรื่องส่วยสติกเกอร์ที่เป็นข่าวใหญ่ก่อนหน้านี้ “จนมีตำรวจถูกย้ายไปกว่า 40 นาย” แต่มีผู้ถูกดำเนินคดีเพียง 6-7 นาย เป็นชั้นประทวน 4 นาย และระดับสารวัตร 3 นาย
แต่เมื่อเทียบกับ “มูลค่าส่วยรถบรรทุกอาจสูงถึง 20,000 ล้านบาท/ปี” ทำให้มีคำถามว่าจำนวนเงินมหาศาลขนาดนั้นตำรวจ 7 นายที่ถูกดำเนินคดีทำได้เองจริงหรือไม่ เรื่องนี้ประชาชนมีคำตอบอยู่แล้วว่า “คงต้องมีระดับสูงกว่านั้น” แน่นอนว่าก็น่าจะสาวไปถึงตัวใหญ่ด้วยซ้ำเพียงแต่ไม่กล้าทำอะไรเท่านั้นเองหรือไม่
ด้วยเหตุผลว่า “ตำรวจไทยไม่เป็นรองประเทศใดในโลก” ไม่ว่าจะเป็นการแกะรอยหาหลักฐาน หรือการสืบเสาะหาข้อเท็จจริงเพียงแต่ว่าเรื่องส่วยรถบรรทุกมักพัวพันกับการซื้อขายตำแหน่ง และระบบอุปถัมภ์เท่านั้น
พูดกันตรงๆ “ตำรวจอยู่ตามโรงพักหรือกองบัญชาการ” ส่วนใหญ่รู้ดีว่าผู้บังคับบัญชาคนใหม่นั้นมาด้วย “ฝีมือคุณธรรมหรือเป็นเด็กของใคร” แล้วก็มีข่าวลือว่าแต่ละโรงพักมักจะมีพ่อบ้านคอยจัดเก็บดูแลทำความสะอาดแหล่งอบายมุข หารายได้มาให้กับผู้บังคับบัญชาที่มาด้วยวิธีการเป็นเด็กฝากเสมอ
...
ดังนั้น กรณี “การเสียชีวิตของสารวัตรทางหลวง” เป็นการเปิดเผยเรื่องส่วยที่ถูกปิดมานานทำให้ตำรวจตั้งใจทำงานปลอดภัยมากขึ้น เพราะประชาชนจะช่วยเป็นหูเป็นตายืนเคียงข้างคนทำงานสุจริตเป็นผนังทองแดงกำแพงเหล็กให้ แต่ถ้าส่วยไม่ถูกเปิดเผยเชื่อว่าการเสียชีวิตอาจถูกเบี่ยงเบนเป็นเรื่องเมาทะเลาะวิวาทบันดาลโทสะก็ได้
จริงๆแล้วหากสืบสาวราวเรื่อง จ.นครปฐมนั้น “กำนันนก” เป็นเพียงเจ้าพ่อของบริวารผู้มีอิทธิพลรายใหญ่เท่านั้น ทำให้กังวลการปราบปรามผู้มีอิทธิพล หรือเจ้าพ่อเมืองนครปฐม อาจมีการทำบัญชีเจ้าพ่อลักษณะขจัดคู่แข่งเจ้าพ่อตัวจริง ดังนั้นการปราบผู้มีอิทธิพลไม่ควรกำหนดใครไว้ เพราะจะนำไปสู่การกลั่นแกล้งบุคคลอื่นได้
เพราะในรัฐบาลยุคหนึ่งเคยเกิดขึ้นมาแล้ว “กรณีขึ้นบัญชีดำ และทำสงครามยาเสพติด” ทำให้เกิดปัญหาฆ่าตัดตอนเจ้าพ่อปลอมอันเป็นกลไก “กำจัดคู่แข่งขันผู้มีอิทธิพลในพื้นที่มากกว่าด้วยซ้ำ” แล้วในขณะเดียวกันก็เป็นกลไก “การเรียกเจ้าพ่อ หรือผู้มีอิทธิพล” เข้ามายอมสยบอำนาจส่วนกลาง
ทำให้ผู้มีอิทธิพลสามารถเชื่อมต่อสายตรงเข้าถึงอำนาจส่วนกลาง “ข้ามหัวตำรวจระดับกองบังคับการ” ส่งผลให้ผู้ปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่ด้วยความสุจริตทำอะไรผู้มีอิทธิพลไม่ได้
เช่นนี้การขจัดส่วยรถบรรทุกต้อง “แก้กฎหมายบางฉบับที่ล้าหลัง” เพื่อสอดรับบริบทให้สามารถปฏิบัติใช้ได้จริง โดยเฉพาะรถบรรทุกกำลังปรากฏพบ “การทำยอดจับกุม” แต่เมื่อตรวจดูบันทึกจับกุมกลับมีความกังวลการนำเอาโทษหนักเกินกว่าสัดส่วนมาใช้เป็นเครื่องมือเรียกรับผลประโยชน์ในรูปแบบหนึ่งก็ได้
เหตุนี้ยอดจับกุมผู้ฝ่าฝืนไม่อาจชี้วัดถึง “การบังคับใช้กฎหมาย” ตราบใดขบวนการส่วยบรรทุกน้ำหนักเกิน 20-30 ตัน “วิ่งบนถนนโดยไม่ถูกตรวจจับ” แต่รถบรรทุกน้ำหนักเกิน 50-100 กก.กลับถูกจับปรับหนักแถมตำรวจบางคนทำสำนวนฟ้องคดีริบรถราคา 3-4 ล้านบาท เป็นการลงโทษเกินสัดส่วนที่เกิดขึ้นในเขต อ.ไทรน้อย
...
อีกทั้งยังเข้าไปเคลียร์กับเจ้าของรถจนสุดท้ายเปลี่ยนลูกจ้างขับรถเป็นผู้เช่ารถแทน เพื่อให้เถ้าแก่รถไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกลายเป็นว่า “คนขับรถต้องรับผิดชอบ” เรื่องนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบข้อเท็จจริง ดังนั้นกระบวนการกฎหมายล้าสมัยควรต้องแก้ไข เพื่อไม่ให้ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการเรียกรับผลประโยชน์จากพี่น้องประชาชน
ปัญหามีอยู่ว่า “ส่วยรถบรรทุก” มักมีข่าวลือเกี่ยวเนื่องพัวพันกับ “การซื้อ-ขายตำแหน่ง” เมื่อเป็นแบบนี้ “การปฏิรูปตำรวจใหม่” ถ้าแก้ได้จะเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงสำคัญต่อ “การปรับโครงสร้าง กต.ตร.” ที่ควรเป็นการคัดเลือกสรรหามาจากภาคประชาชน หรือท้องถิ่นเข้ามาตรวจสอบคานอำนาจตำรวจ
เพราะปัจจุบัน “กต.ตร.” ถูกนำไปให้ผู้มีผลประโยชน์มานั่งแทนอย่างเช่นกรณี “กำนันนก” ที่มีรายชื่อเป็น “กต.ตร.นครปฐม” เมื่อเป็นเช่นนี้ ย่อมไม่อาจค้านอำนาจได้แตกต่างจากกลไกสรรหามาจาก “ภาคประชาชน” ที่จะสามารถสร้างสมดุลในการปฏิบัติหน้าที่ได้มากกว่า
สุดท้ายย้ำว่า “คนไทย” ล้วนอยากให้แผ่นดินปราศจาก “ส่วย-ทุจริตคอร์รัปชัน” ที่ทำลายภาพลักษณ์ของประเทศมาช้านานเป็นโจทย์ใหญ่ให้ “รัฐบาลใหม่ และ ผบ.ตร.ป้ายแดง” แสดงฝีมือปราบปรามขบวนการนี้อย่างจริงจัง เพื่อเรียกพลังศรัทธาจากพี่น้องประชาชนคืนมา.