หากใครมีโอกาสผ่านไปย่านลุมพินี-วิทยุ คงเคยได้เห็นโครงการขนาดใหญ่ชื่อสะดุดหูที่กำลังอยู่ในระหว่างก่อสร้างอย่าง “One Bangkok” โดยโครงการแห่งนี้น่าจะเป็นที่คุ้นเคยอย่างดีในกลุ่มผู้ติดตามวงการอสังหาริมทรัพย์ในฐานะเมกะโปรเจกต์สุดท้าทายระดับ 1.2 แสนล้านบาทของ กลุ่มบริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ ลิมิเต็ด กับการปั้นโครงการอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่ที่ครบครันใจกลางกรุงเทพฯ ซึ่งประกอบไปด้วย พื้นที่อาคารสำนักงานที่ครบครัน สถานที่ช็อปปิ้งที่สร้างประสบการณ์ใหม่ๆ ที่อยู่อาศัยใจกลางเมืองผสานคุณค่าการใช้ชีวิตเหนือระดับ โรงแรมที่พร้อมให้บริการอันมีเอกลักลักษณ์เป็นหนึ่งเดียว ศูนย์แสดงนิทรรศการและจัดกิจกรรมระดับโลก แหล่งรวมศิลปะวัฒนธรรมที่สร้างสีสันและเป็นแรงบันดาลใจ พร้อมกับบริเวณพื้นที่สาธารณะเปิดโล่ง และพื้นที่สีเขียว ถึง 50 ไร่ ตลอดจนการเป็นเมืองอัจฉริยะที่เพียบพร้อมด้วยนวัตกรรมเพื่อส่งเสริมการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืน มุ่งสู่การเป็นโครงการที่ได้รับการรับรองโดยมาตรฐาน LEED for Neighborhood Development ระดับ Platinum แห่งแรกในประเทศไทย และมาตรฐานรับรองอาคาร WELL เพื่อสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี ของผู้อยู่อาศัยและผู้ใช้อาคาร

โดย One Bangkok นับเป็นจิ๊กซอว์ชิ้นสำคัญที่จะเข้ามาทำให้ภาพการพัฒนาเศรษฐกิจถนนพระรามที่ 4 สมบูรณ์แบบมากยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ตาม นอกเหนือไปจากเรื่องของความยิ่งใหญ่ One Bangkok ยังมีอีกแง่มุมที่น่าสนใจไม่แพ้กันคือมิติของ “ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม และการใช้ชีวิตในสมาร์ท ซิตี้” ซึ่งกล่าวได้ว่าเป็นแกนหลักของการพัฒนา ทีโครงการให้ความสำคัญในลำดับต้นๆ นับตั้งแต่วันที่แผนงานยังอยู่บนหน้ากระดาษมาจนถึงวันนี้ที่โครงการเป็นรูปเป็นร่าง และยังมีการเตรียมความพร้อมไปถึงวันที่โครงการเสร็จสิ้น เพื่อส่งมอบคุณภาพชีวิตที่ดีและยั่งยืนเป็นรากฐานให้กับทั้งผู้มาเยือน ทั้งจากในไทยและทั่วโลก

และ One Bangkok ก็ได้นำมาบอกเล่าอย่างน่าตื่นตาตื่นใจ ณ “One Bangkok Immersive Pavilion” ในงาน Sustainability Expo 2023 (SX 2023) มหกรรมด้านความยั่งยืนที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในอาเซียนที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้

รู้จัก One Bangkok The Heart of Bangkok เมืองแห่งความยั่งยืน ที่ยึดเอา “หัวใจ” ของผู้คนเป็นศูนย์กลาง

งาน Sustainability Expo เป็นมหกรรมเกี่ยวกับความยั่งยืนที่ได้รับความสนใจอย่างกว้างขวางทั้งในไทยและในระดับภูมิภาค มีเป้าหมายเพื่อสานความร่วมมือภาครัฐ ประชาชน และองค์กรชั้นนำ นำเสนอแนวทางสู่ความยั่งยืนในรูปแบบต่างๆ ทั้งในแง่การบริหารจัดการ รวมถึงการเผยนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่มีส่วนเกื้อหนุนนโยบายสีเขียว โดย One Bangkok ได้เข้าร่วมงาน Sustainability Expo อย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 สะท้อนถึงการให้ความสำคัญด้านความยั่งยืนของโครงการ ซึ่ง Pavilion ของ One Bangkok ในปีนี้ถูกจัดแสดงภายใต้แนวคิด “The Heart of Bangkok” เมืองที่ยึดเอา “หัวใจ” ของผู้คนเป็นศูนย์กลาง และหากใครมีโอกาสไปเยี่ยมชมจะพบว่านี่คือการนำเอาคอนเซปต์ดังกล่าวมาทำให้เป็นรูปธรรมอย่างแท้จริง โดย Pavilion ถูกออกแบบให้เป็นห้องโถงขนาดใหญ่ รายล้อมด้วยจอ LED ทุกทิศทุกทาง เมื่อเข้าไปยืน ณ ศูนย์กลาง ก็จะได้สัมผัสกับประสบการณ์แห่งความยั่งยืนในหลากหลายมิติที่ถูกออกแบบมาเพื่อให้ผู้คนมีคุณภาพชีวิตที่ดีถือเป็น Immersive Experience ขั้นสุด จนทำให้มองเห็นภาพของสมาร์ทซิตี้ที่สอดแทรกไปด้วยแนวคิดรักษ์โลกของโครงการ One Bangkok ได้อย่างชัดเจน

อุรเสฎฐ นาวานุเคราะห์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายงานการลงทุน โครงการ วัน แบงค็อก กล่าวถึงงานครั้งนี้ว่า “งาน Sustainability Expo 2023 ถือว่าเป็นงานเกี่ยวกับความยั่งยืนที่ยิ่งใหญ่มาก ซึ่งโครงการ One Bangkok ได้ให้การสนับสนุนมาอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 ซึ่งโครงการของเราให้ความสำคัญเกี่ยวกับความยั่งยืน เป็นหนึ่งในแกนหลักของการพัฒนาโครงการสอดคล้องไปกับเป้าหมายของกลุ่มบริษัทเราที่ตั้งใจลดการปล่อย ก๊าซเรือนกระจกให้เป็นศูนย์ภายในปี 2050 และโครงการ One Bangkok พัฒนาขึ้นภายใต้แนวคิด The Heart of Bangkok เมืองที่ยึดเอาหัวใจของผู้คนเป็นศูนย์กลาง”

“เราให้ความสำคัญกับผู้คนเป็นหลัก ตั้งแต่เริ่มวางมาสเตอร์แพลน เราคำนึงถึงผู้คนที่จะมาใช้สอยใน โครงการตลอดเวลาว่าเขาจะมีประสบการณ์อย่างไร มีการคำนึงถึงในเรื่องของฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ต่างๆ ว่าเมื่อโครงการแล้วเสร็จ คนที่มาอยู่อาศัย มาทำงาน มาช็อปปิ้งในโครงการฯ จะต้องมีความสุข มีความสะดวกสบายมากที่สุด นอกจากนี้ เรายังคำนึงถึงการวางแผนและวิธีการบริหารโครงการอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด”

อุรเสฎฐ นาวานุเคราะห์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายงานการลงทุน โครงการ วัน แบงค็อก
อุรเสฎฐ นาวานุเคราะห์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายงานการลงทุน โครงการ วัน แบงค็อก

“การออกแบบเพื่อผู้คน” และ “การให้ความสำคัญกับความยั่งยืน” ดังที่ คุณอุรเสฎฐ นาวานุเคราะห์ กล่าว สะท้อนภาพได้อย่างชัดเจนผ่านการจัดแสดงภายใน One Bangkok Immersive Pavilion ที่นำเสนอเรื่องราวของโครงการในหลากมิติ ซึ่งเกิดจากการนำเอาแนวคิดตั้งต้นมาต่อยอดพัฒนาด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่จะทำให้ผู้คนและสิ่งแวดล้อมอยู่ร่วมกันได้อย่างมีคุณภาพ ประกอบไปด้วยเนื้อหาที่เป็นไฮไลต์ดังนี้

Smart Technologies

“เมืองอัจฉริยะ” คือเป้าหมายที่หลายมหานครทั่วโลกต่างกำลังมุ่งหน้าไปให้ถึง อย่างไรก็ตาม ที่ One Bangkok แห่งนี้พร้อมแล้วที่จะเผยประสบการณ์ให้ผู้มาเยือนสัมผัสว่าเมืองอัจฉริยะที่ผู้คนใฝ่ฝันนั้นเป็นอย่างไร โดยโครงการได้มีการนำเอาเทคโนโลยีและนวัตกรรมจำนวนมากมาบูรณาการเพื่อทำให้โครงการตอบโจทย์การใช้ชีวิตที่มีคุณภาพในทุกแง่มุม ซึ่งเทคโนโลยีทั้งหมดจะทำงานร่วมกันภายใต้ระบบศูนย์กลาง Central Utility Plant (CUP) ที่กล่าวได้ว่าเป็นหัวใจของ One Bangkok อย่างแท้จริง

Central Utility Plant (CUP) คือศูนย์กลางของระบบอัจฉริยะที่รวบรวมการทำงานทุกระบบไว้ในที่เดียว และยังมีการบริหารจัดการตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งการที่ทั้งโครงการทำงานร่วมกันภายใต้ศูนย์กลางเดียวจะช่วยทั้งในเรื่องประสิทธิภาพ การประหยัดพลังงาน และทำให้ผู้อยู่อาศัยใช้ชีวิตที่มีคุณภาพได้อย่างไร้รอยต่อ โดยอาคาร CUP จะมีศูนย์บัญชาการกลางที่เรียกว่า District Command Center ซึ่งเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างเจ้าหน้าที่ที่เป็นมนุษย์และแพลตฟอร์ม Smart Estate ควบคู่กับระบบ AI อัจฉริยะ ในการจัดการระบบการใช้น้ำและพลังงานไฟฟ้าของโครงการ ทั้งยังมีเซนเซอร์และจุดควบคุมอัจฉริยะมากกว่า 250,000 ตัว รวมถึงกล้องวงจรปิดกว่า 5,000 จุด มาใช้สำหรับการวิเคราะห์ มอนิเตอร์ และบริหารจัดการโครงการให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในทุกๆ ระบบ ประกอบไปด้วย

- เพิ่มประสิทธิภาพของระบบรักษาความปลอดภัย

- ระบบ Traffic Control ตรวจสอบและรายงานสภาพการจราจรภายในโครงการ

นอกจากนั้นยังมี Smart Pole ที่ให้แสงสว่างและกระจายสัญญาณอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในทั่วทุกพื้นที่ โดยโครงการ One Bangkok เป็นโครงการฯ แรกในประเทศไทยที่ผ่านการรับรองมาตรฐาน WiredScore Platinum ซึ่งเป็นระดับสูงสุดของมาตรฐาน WiredScore จากสหรัฐอเมริกาที่จะมอบให้กับอาคารที่มีการเชื่อมโยงทางดิจิทัลในระดับสูง จึงทำให้มั่นใจได้ว่าทุกๆ เทคโนโลยีสุดล้ำภายในโครงการจะทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพตลอด 24 ชม. เพื่อส่งมอบประสบการณ์ใช้ชีวิตที่ดีอย่างไม่มีสิ้นสุด

Sustainable Development

จากการมีเทคโนโลยีและนวัตกรรมสุดล้ำเป็นโครงสร้างพื้นฐาน และทำงานร่วมกันแบบรวมศูนย์ ทำให้โครงการ One Bangkok สามารถเดินหน้าตามแผนงานแห่งความยั่งยืนดังที่วางแผนไว้ได้อย่างสมบูรณ์แบบ โดยโครงการให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับแนวทาง “Sustainable Development Goals: SDGs” หรือเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ นำมาสู่การออกแบบระบบต่างๆ ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ประกอบไปด้วย

- Electric Power Saver ระบบกักเก็บไฟฟ้าสำรองสำหรับการใช้งานตลอด 24 ชม. และบริหารจัดการการใช้ไฟฟ้าให้คุ้มค่าสูงสุด

- District Cooling System ระบบปรับอากาศแบบรวมศูนย์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการส่งพลังงานและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

- Smart Water Management ระบบบริหารจัดการน้ำแบบหมุนเวียน ที่สามารถตรวจสอบคุณภาพน้ำ และใช้เทคโนโลยีบำบัดน้ำเสียเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด

นอกจากนี้ คุณอุรเสฎฐ ยังเผยเพิ่มเติมอีกว่าแนวทางความยั่งยืนของ One Bangkok ไม่ได้มีแค่ระบบที่วางไว้เพื่อการใช้งานหลังโครงการแล้วเสร็จเท่านั้น แต่ยังให้ความสำคัญตลอดกระบวนการก่อสร้าง อาทิ Construction Waste Management ตั้งเป้านำขยะจากการก่อสร้างมากกว่า 75% กลับมาใช้ใหม่ และรีไซเคิล อาทิ การนำคอนกรีตที่เหลือใช้จากหัวเสาเข็มที่ถูกตัดทิ้งนำกลับมาสร้างผนังอาคาร และการนำเศษอิฐมวลเบาที่เหลือใช้ มาผลิตเป็นแผ่นผนังกันเสียงในอุโมงค์ทางลอดเข้าโครงการฯ เป็นต้น

หรืออีกหนึ่งตัวอย่างที่น่าสนใจคือในส่วนของขยะอาหาร ซึ่ง คุณอุรเสฎฐ นาวานุเคราะห์ ให้ข้อมูลว่าในแต่ละวันโครงการมีผู้รับเหมาทำงานมากกว่า 10,000 คน จึงเลี่ยงไม่ได้ที่จะเกิดอาหารเหลือทิ้งเป็นจำนวนมาก โครงการจึงได้วางระบบ Food Waste Management ตั้งแต่ในขั้นตอนก่อสร้าง โดยการติดตั้งทั้งเครื่องเปลี่ยนขยะอาหารให้เป็นปุ๋ย Food Waste Composter และเครื่องบดอัดขยะ Smart Compactor ซึ่งหลังจากโครงการเสร็จสิ้นก็จะยังใช้งานอยู่ โดยคาดว่าจะสามารถลดปริมาณขยะอาหารได้มากกว่า 6,700 ตันต่อปี

Unparalleled Experiences in One Bangkok

ไม่เพียงความก้าวล้ำทางเทคโนโลยีที่อัดแน่นอยู่ในทุกอณูของโครงการ แต่ One Bangkok ยังเข้าใจดีว่าท่ามกลางสังคมเมืองที่รุดหน้าอย่างก้าวกระโดด สิ่งที่ผู้คนต่างโหยหาก็คือธรรมชาติที่จะเป็นดั่งเซฟโซนช่วยเยียวยาจิตใจ เหตุนี้โครงการจึงให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับพื้นที่สีเขียว ซึ่งถูกออกแบบมาอย่างดีเพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่แตกต่าง One Bangkok ยกพื้นที่เกือบครึ่งของโครงการ หรือมากกว่า 50 ไร่ ให้เป็นพื้นที่เปิดโล่งสาธารณะสีเขียวขนาดมหึมา ดังปอดของเมืองใหญ่ที่เปิดโอกาสให้ผู้คนได้เข้ามาดื่มด่ำความสดชื่นได้อย่างสบายใจ

นอกจากนี้พื้นที่สีเขียวของ One Bangkok ยังออกแบบมาให้เกื้อหนุนแนวคิด 15-minute Walking city หรือที่เรียกว่า “เมือง 15 นาที” ซึ่งทั้งโครงการสามารถไปมาหากันด้วยการเดินและใช้เวลามากที่สุดเพียง 15 นาทีเท่านั้น โดยจะมีทั้งโซนเปิดโล่ง และสวนสาธารณะแนวยาว (Linear Park) ขนาดกว้างจากทางเท้าถึงหน้าโครงการ 35-45 เมตร อยู่ระหว่างสวนลุมพินีและสวนเบญจกิติ รอบโครงการยังมีทางเท้าที่ได้คุณภาพและกว้างขวางทำให้เดินได้อย่างสะดวกสบาย นอกจากนี้ยังมี Art Loop พื้นที่เชื่อมโยงผลงานศิลปะสาธารณะ พื้นที่แห่งการเรียนรู้และความคิดสร้างสรรค์ โดยรอบโครงการกว่า 2 กิโลเมตร

ด้วยการพัฒนาทั้งหมดนี้ โครงการฯ จึงมุ่งสู่การได้รับการรับรองมาตรฐาน LEED for Neighborhood Development (LEED ND) ระดับ Platinum แห่งแรกในประเทศไทย และมาตรฐานรับรองอาคาร WELL เพื่อสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของผู้อยู่อาศัยและผู้ใช้อาคาร โดย คุณอุรเสฎฐ นาวานุเคราะห์ ได้กล่าวเสริมถึงความตั้งใจนี้ว่า

“เราตั้งเป้าที่จะได้รับการรับรองมาตรฐาน 2 ส่วนด้วยกัน คือ LEED ND ที่ระดับ Platinum ซึ่งเป็นระดับสูงสุด เป็นการรับรองมาตรฐานของสถาบันอาคารเขียวของสหรัฐอเมริกา ซึ่งโครงการนี้ถ้าได้รับการรับรองก็จะเป็นโครงการแรกในประเทศไทยที่ได้การรับรองทั้งโครงการ ไม่ใช่แค่อาคารหนึ่งอาคารใด ซึ่งหลักการของ LEED ND ก็จะพิจารณาหลายๆ เรื่องด้วยกัน เริ่มตั้งแต่ระบบสาธารณูปโภคของโครงการว่าเรามีความพร้อมแค่ไหน มีการรวมศูนย์หรือแยกตึก ไปจนถึงเรื่องของการออกแบบวางผังเมืองของเราว่าทำยังไง มีถนนหนทาง มีทางเดินที่พอเพียงกับผู้คนหรือไม่ มีต้นไม้รายล้อมตลอดทางเดินหรือเปล่า วางผังยังไงให้คนสามารถเดินจากจุดหนึ่งไปอีกจุดหนึ่งได้ ซึ่งของเราก็จะเป็นตามหลักสากลที่เรียกว่าเมือง 15 นาที ก็จะช่วยลดการใช้รถยนต์ ประกอบกับการเป็นโครงการฯ ที่มีทั้งห้างสรรพสินค้า ออฟฟิศ โรงแรม ที่อยู่อาศัย เมื่อทุกอย่างอยู่ในที่เดียวกันผู้คนก็สามารถทำธุรกิจ ใช้ชีวิตอยู่ในที่เดียวกันนี้ได้เลย โดยไม่ต้องเดินทางออกไปข้างนอก ช่วยลดมลภาวะจากรถยนต์ได้อย่างมหาศาล”

“ส่วนที่สองเป็นเรื่องของการรับรองที่เรียกว่า WELL ที่เราก็ตั้งเป้าไว้ที่ระดับ Platinum เช่นกัน โดย WELL จะเกี่ยวกับชีวิตความเป็นอยู่ของคนที่อาศัยอยู่ในโครงการ ความสบายในแง่ของคุณภาพน้ำ คุณภาพอากาศ คุณภาพแสง คุณภาพเสียง เป็นเรื่องของ Well-being ของคนที่อยู่ในอาคารนั้นๆ นอกจากนี้ การที่เราให้ความสำคัญกับมาตรฐานทั้ง LEED และ WELL ยังทำให้ผู้เช่าของเราที่เป็น Multi-National Company หรือบริษัทที่ให้ความสำคัญด้านความยั่งยืน สามารถบรรลุเป้าหมายของเขาได้ดียิ่งขึ้น เพราะเราออกแบบมาอย่างครบถ้วน รอบด้าน ตอบโจทย์ทุกความต้องการของผู้ที่เข้ามาใช้ชีวิต ไม่ว่าจะผู้คน หรือองค์กรห้างร้านต่างๆ ก็ตาม”

จากเรื่องราวทั้งหมดนี้ One Bangkok ได้ถูกนำมาถ่ายทอด ณ “One Bangkok Immersive Pavilion” ทำให้ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า โครงการแห่งนี้ไม่เพียงแต่เป็นโครงการที่ครบครันและยิ่งใหญ่ที่น่าจับตาเท่านั้น แต่ทุกเรื่องราวที่แฝงอยู่ในการออกแบบยังน่าสนใจและน่าติดตามไม่แพ้กัน ในฐานะโครงการที่จะกลายเป็นมาตรฐานใหม่ของไทยในอนาคต ซึ่งครบครันทั้งเทคโนโลยี ความยั่งยืน และรากฐานแนวคิดที่เกิดขึ้นมาจากการมุ่งหวังจะ ยึดเอา “หัวใจ” ของผู้คนเป็นศูนย์กลางอย่างแท้จจริง

สำหรับผู้ที่สนใจสัมผัสแนวคิดแห่งความยั่งยืนแบบ Immersive Experience ขั้นสุดด้วยตนเอง สามารถมาเยี่ยมชม Pavilion ของ One Bangkok ได้ที่งาน Sustainability Expo 2023 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ชั้น G Hall 4 โซน Better Community ระหว่างวันนี้ - 8 ตุลาคม 2566 เวลา 10.00 - 20.00 น.

นอกจากนี้ ยังสามารถร่วมฟังเสวนาพิเศษ โดย One Bangkok และเหล่า Speaker ผู้ทรงเกียรติจากหลากหลายแขนง ได้ถึง 2 หัวข้อ ได้แก่

“The Future of Sustainability and Smart City Living for Better Community” ความยั่งยืนและการใช้ชีวิตในสมาร์ทซิตี้ เพื่ออนาคตที่ดีกว่าของชุมชน โดย วราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์, ปณต สิริวัฒนภักดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ ลิมิเต็ด, เรอโน เมแยร์ ผู้แทนโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติประจำประเทศไทย (UNDP Thailand) และเชอร์รี่-เข็มอัปสร สิริสุขะ นักสิ่งแวดล้อมและธุรกิจเพื่อสังคม ในวันพฤหัสบดีที่ 5 ตุลาคม 2566 เวลา 11.00-12.00 น. ที่ SX Grand Plenary Hall ชั้น G

และอีกหัวข้อ คือ “Masterplan Design for Smart Sustainable Cities” การออกแบบผังเมืองของโครงการอสังหาฯ ระดับโลก เพื่อนำไปสู่การสร้างสรรค์เมืองที่ยั่งยืน โดย วรวรรต ศรีสอ้าน รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร โครงการ วัน แบงค็อก, นิธิ ภัทรโชค กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง เอสซีจี, วรรณพร พรประภา กรรมการผู้จัดการ บริษัท พี แลนด์สเคป จำกัด และ นิธิศ สถาปิตานนท์ กรรมการบริหาร บริษัท สถาปนิก 49 จำกัด ในวันศุกร์ที่ 6 ตุลาคม 2566 เวลา 14.00-15.00 น. ที่ Exhibition Hall ชั้น G

งานนี้ชมฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย