โกโก้อีกหนึ่งพืชสารพัดประโยชน์ มีทั้งสารต้านอนุมูลอิสระ บำรุงหัวใจและสมอง ช่วยให้อารมณ์ดี...แต่ใน 1 ผลโกโก้มีเนื้อ 30 กว่าเปอร์เซ็นต์ ที่เหลือเป็นเปลือกที่ส่วนใหญ่เอาไปทิ้ง

ทำได้ดีที่สุดคือเอาไปกองใต้ต้นไม้ แต่วันนี้เปลือกโกโก้จะมีค่ามากกว่านั้น แถมกลายเป็นรายได้เสริมทำเงินเข้ากระเป๋าเกษตรกร เมื่อสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ให้ทุนแก่วิทยาลัยชุมชนตาก สนับสนุนโครงการการสร้างมูลค่าเพิ่มจากวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร (เปลือกโกโก้) ของเครือข่ายเกษตรกรผู้ปลูกโกโก้ในพื้นที่จังหวัดตาก ภายใต้โครงการวิจัยเพื่อท้องถิ่น

“เราพุ่งเป้าไปที่พื้นที่ปลูกโกโก้มากวิสาหกิจชุมชนกลุ่มออร์แกนิก บ.ห้วยนกแล ต.ช่องแคบ อ.พบพระ จ.ตาก ที่มีสมาชิก 101 ราย มีพื้นที่ปลูกกว่า 700 ไร่ มีเปลือกโกโก้เหลือทิ้งเดือนละ 10,000-15,000 กก. และมีความเข้มแข็ง นอกจากส่งโรงงานที่ทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้าแล้ว สมาชิกยังร่วมกันแปรรูปโกโก้ ผงโกโก้ โกโก้แมส โกโก้บัสเตอร์ และลิปบาล์มโกโก้ รวมถึงผลโกโก้ดิบที่กำลังติดเทรนด์คนรักสุขภาพและได้ราคาสูง 3 กก. 100 บาทขึ้นไป สูงกว่าราคาประกันที่ตกลงกันไว้ที่ กก.ละ 10 บาท สุดท้ายจากการวิจัยเบื้องต้นจึงมาตกผลึกที่อาหารสัตว์ ถ่านไบโอชาร์ และดินปลูก”

...

นางสวาท ไพศาลศิริทรัพย์ หัวหน้าโครงการวิจัย จากวิทยาลัยชุมชนตาก (วชช.ตาก) บอกถึงโครงการสร้างมูลค่าเพิ่มจากวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร (เปลือกโกโก้) ด้วยการนำเปลือกโกโก้มาเป็นอาหารสัตว์

จุดเริ่มต้นมาจาก...เห็นกระรอกและแพะมากินเปลือกโกโก้ ทีมวิจัยจึงทดลองนำมาบดผสมอาหารสัตว์ เริ่มจากนำมาผสมกล้วยแล้วนำไปเป็นอาหารปลา พัฒนาสู่การนำมาหมักยีสต์นำมาเป็นอาหารหมูและไก่ โดยจากการทดสอบจริงช่วงที่ผ่านมา การเจริญเติบโตไม่ได้ต่างจากการให้อาหารแบบเดิม แต่ช่วยประหยัดค่าอาหารไปได้อย่างน้อย กก.ละ 10 บาท

และขณะนี้อยู่ระหว่างการ ทดลองนำเปลือกโกโก้มาหมักยีสต์ผสมกับยูเรีย เพื่อนำไปเป็นอาหารวัว ช่วยลดต้นทุนในช่วงอาหารสัตว์แพง ผลจากการทดลองเมื่อเทียบอาหารสัตว์สำเร็จรูปในท้องตลาด และอัตราการเจริญเติบโตกับวัวพื้นเมืองเพศผู้ อายุ 2-3 ปี น้ำหนักประมาณ 300 กก. จำนวน 5 ตัว แสดงให้เห็นว่าคุณภาพอาหารที่ใช้ต่อวัวทั้ง 2 กลุ่มมีคุณภาพที่ใกล้เคียงกัน แต่ต้องศึกษาขยายผลต่อไปในวัวรุ่นอื่น

ส่วนถ่านไบโอชาร์สามารถทำได้ในพืชแทบทุกชนิด โดยใช้วิธีการเดียวกัน ในอนาคตน่าจะเพิ่มมูลค่า และสร้างอัตลักษณ์เป็นสินค้าของฝากประจำพื้นที่ได้ ส่วนดินปลูก สืบเนื่องมาจากพื้นที่ อ.พบพระ และใกล้เคียงแทบไม่มีเกษตรกรปลูกมะพร้าวเลย เกษตรกรจำต้องหาซื้อขุยมะพร้าวจากต่างพื้นที่ทำให้ต้นทุนเพิ่มขึ้น จึงมองว่าเปลือกโกโก้น่าจะนำมาทดแทนได้ ขณะเดียวกันได้วิจัยหาธาตุอาหารในเปลือกโกโก้ พบว่ามีธาตุอาหารหลักประกอบไปด้วย โปรตีน 20% ไขมัน 13% เถ้า 6% ธาตุอาหารอื่นอีกเล็กน้อย ขณะนี้มีผู้ประกอบการในพื้นที่รับซื้อเปลือกโกโก้จากเกษตรกร นำไปปรับสูตรผลิตดินปลูกของตัวเองแล้ว ในราคาตันละ 300 บาท โดยราคาเป็นการกำหนดร่วมกันระหว่างเกษตรกรและผู้ประกอบการ

ในอนาคตอันใกล้เกษตรกรจะมีรายได้เพิ่มขึ้นจากผลการพัฒนาต่อยอด อันเป็นผลจากการถ่ายทอดรูปแบบการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากเปลือกโกโก้ ที่สำคัญยังมีส่วนในการช่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เพราะนี่ถือเป็นซีโร่เวสต์อย่างแท้จริง.


กรวัฒน์ วีนิล

คลิกอ่าน "ข่าวเกษตร" เพิ่มเติม

...