การลงนามครั้งประวัติศาสตร์สำหรับข้อตกลงการใช้กระแสไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานแสงอาทิตย์ในการเดินรถขนส่งมวลชนด้วยรถไฟฟ้าระบบรางครั้งแรกในประเทศไทย ระหว่างบริษัท ซีเค พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ CKP หนึ่งในผู้ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนชั้นนำของอาเซียน กับ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ผู้ให้บริการขนส่งมวลชนรถไฟฟ้ามหานคร 2 สายในกรุงเทพฯ และทางด่วน
การผนึกความร่วมมือระหว่าง 2 บริษัท ในการนำองค์ความรู้และทรัพย์สินเพื่อใช้พลังงานแสงอาทิตย์ในการเดินรถไฟฟ้าสายเฉลิมรัชมงคล (สายสีน้ำเงิน) และสายฉลองรัชธรรม (สายสีม่วง) ระยะทางกว่า 71 กิโลเมตร ให้บริการขนส่งมวลชน 54 สถานีทั่วกรุงเทพฯ
ความร่วมมือนี้จะผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ป้อนระบบรถไฟใต้ดินในปริมาณมหาศาลถึง 452 ล้านกิโลวัตต์ชั่วโมง หรือคิดเป็น 12% ของไฟฟ้าที่ประเมินว่ารถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินกับสายสีม่วงต้องใช้รวมกันทั้งหมด และจะเริ่มต้นจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบในเดือนสิงหาคม 2567
เป็นบันทึกหน้าใหม่ในประวัติศาสตร์ระบบขนส่งไทย สำหรับการใช้ไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานแสงอาทิตย์มาขับเคลื่อนระบบโดยสารทางรางครั้งแรก
นายธนวัฒน์ ตรีวิศวเวทย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีเค พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า เป็นครั้งแรกที่มีการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ในการขับเคลื่อนระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนทางรางของประเทศไทยในขอบเขตการทำงานขนาดใหญ่ เรารู้สึกภูมิใจที่เป็นรายแรกในประเทศไทยที่เป็นผู้บุกเบิกการนำไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์มาใช้ในการขนส่งที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน การร่วมมือกับบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ครั้งนี้ จะทำให้ประเทศไทยมีการใช้งานไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานหมุนเวียนมากขึ้น
“สัญญาความร่วมมือนี้มีระยะเวลา 25 ปี โดยจะมีการผลิตกระแสไฟฟ้าป้อนระบบรถไฟใต้ดินในปริมาณมหาศาลถึง 452 ล้านกิโลวัตต์ชั่วโมง หรือคิดเป็น 12% ของไฟฟ้าที่ประเมินว่ารถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินกับสายสีม่วงต้องใช้ร่วมกันทั้งหมด” นายธนวัฒน์กล่าว
นายธนวัฒน์ เผยถึงระยะเวลาในการออกแบบ ก่อสร้าง ก่อนเริ่มต้นจ่ายไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ป้อนระบบรถไฟใต้ดินสายสีน้ำเงินและสายสีม่วง ว่า คาดว่างานออกแบบจะแล้วเสร็จในเดือนมกราคม 2567 และจะเริ่มงานก่อสร้างในเดือนกุมภาพันธ์ปีเดียวกัน โดยจะเริ่มจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบในเดือนสิงหาคม 2567 ให้กับรถไฟฟ้าทั้งสายสีน้ำเงินและสายสีม่วง และจะทยอยส่งมอบจนเต็มระบบในเดือนกุมภาพันธ์ 2568
“เราเล็งเห็นว่า ความร่วมมือครั้งนี้ มีศักยภาพที่จะช่วยผลักดันให้ประเทศไทยเปลี่ยนผ่านไปสู่สังคมที่ใช้พลังงานจากแหล่งหมุนเวียน หากโครงการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนอื่นๆ จะหันมาดำเนินกลยุทธ์ในลักษณะเดียวกัน ดังเช่นระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนเยอรมัน ที่เป็นผู้ใช้พลังงานหมุนเวียนรายใหญ่ที่สุด” นายธนวัฒน์ กล่าว
นายธนวัฒน์ กล่าวด้วยว่า ซีเค พาวเวอร์ เป็นบริษัทผู้บุกเบิกการผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในภูมิภาค ด้วยองค์ความรู้เฉพาะทางที่ครบวงจร และพร้อมนำความเชี่ยวชาญ ในการออกแบบด้านวิศวกรรม ติดตั้งและก่อสร้างระบบไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ ตลอดจนดูแลเรื่องความพร้อมในการจ่ายไฟและการบำรุงรักษาหลังการติดตั้งอย่างครบวงจร พร้อมรองรับการขยายความร่วมมือในอนาคต
“ความร่วมมือในการนำองค์ความรู้และทรัพย์สินเพื่อใช้พลังงานแสงอาทิตย์ในการเดินรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินและสายสีม่วงในครั้งนี้ เป็นการดำเนินงานที่สอดคล้องกับเป้าหมายระยะ 3 ปี ที่ทางซีเค พาวเวอร์ ตั้งเอาไว้เมื่อต้นปี 2565 ที่จะขยายขนาดธุรกิจให้ใหญ่ขึ้นมากกว่าเท่าตัวภายในปี 2567 พร้อมกับเพิ่มกำลังผลิตกระแสไฟฟ้าจาก 2,000 เมกะวัตต์เป็น 4,800 เมกะวัตต์ โดยกำลังผลิตที่เพิ่มขึ้นทั้งหมดจะมาจากพลังงานหมุนเวียน ได้แก่ พลังแสงอาทิตย์ พลังลม และพลังน้ำ โดยปัจจุบัน ซีเค พาวเวอร์ คือ บริษัทที่มีสัดส่วนกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน 93% สูงที่สุดในกลุ่มผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดใหญ่ของประเทศไทย” นายธนวัฒน์ กล่าว
ทั้งนี้ ในปี 2565 โรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนของ บริษัท ซีเค พาวเวอร์ ผลิตไฟฟ้าพลังงานสะอาดให้แก่ประเทศไทยทั้งสิ้น 9.5 กิกะวัตต์ชั่วโมง หรือประมาณ 5% ของไฟฟ้าที่ใช้ภายในประเทศทั้งหมด ส่งผลให้ก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศลดลงได้ราว 5 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี ปัจจุบัน บริษัท ซีเค พาวเวอร์ มีโรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์อยู่ทั้งหมด 9 แห่ง โดยมีโรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ บางเขนชัย ตั้งอยู่ที่ อ.ปักธงชัย จ.นครราชสีมา เป็นโรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ที่ใหญ่ที่สุดของบริษัทฯ
สำหรับ ทิศทางการใช้พลังงานของโลก จากข้อมูลของ องค์การพลังงานระหว่างประเทศ (The International Energy Agency: IEA) ประเมินว่า ภายในปี 2569 กว่า 95% ของการลงทุนผลิตกระแสไฟฟ้าทั่วโลกจะเป็นการผลิตโดยใช้พลังงานหมุนเวียน โดยกว่าครึ่งหนึ่งจะเป็นการใช้พลังงานแสงอาทิตย์
โดย พลังงานจากแสงอาทิตย์ คือแหล่งพลังงานหมุนเวียนที่มีราคาถูกที่สุดของโลก เป็นที่คาดการณ์ว่าในอีกไม่ถึง 20 ปีข้างหน้านี้ ความต้องการพลังงานในกลุ่มประเทศอาเซียนจะเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว โดยได้มีการวิเคราะห์ว่าภาคการขนส่งจะเป็นผู้ใช้พลังงานรายใหญ่ที่สุดในอาเซียน และสูงกว่าภาคอุตสาหกรรม
ขณะเดียวกัน ประเทศไทยตั้งอยู่ในแถบเส้นศูนย์สูตร มีแสงแดดตลอดปี มีความได้เปรียบทางภูมิประเทศ ทำให้มีต้นทุนการผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังแสงอาทิตย์ลดลง ส่งผลให้พลังงานแสงอาทิตย์เป็นทรัพยากรหมุนเวียนที่ทวีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ
ด้าน ดร.สมบัติ กิจจาลักษณ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัททางด่วนฯมุ่งมั่นสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านการใช้พลังงานของไทยไปสู่พลังงานสะอาด และมีส่วนช่วยให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2608 ความร่วมมือกับบริษัท ซีเค พาวเวอร์ ในครั้งนี้ จะทำให้เราสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ถึง 300,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ และยังช่วยลดต้นทุนค่าไฟฟ้าอีกด้วย
ดร.สมบัติ กล่าวต่อว่า ภายใต้ข้อตกลงนี้ พื้นที่ที่จะใช้รับพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อนำมาผลิตกระแสไฟฟ้ามีทั้งหมด 6 จุด ครอบคลุมพื้นที่กว่า 106,000 ตารางเมตร อาทิ หลังคาของศูนย์ซ่อมบำรุงรถไฟฟ้า อาคารที่จอดรถ และอาคารสำนักงานของรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินและสายสีม่วง
“เป็นที่ยอมรับกันทั่วไปว่า รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินและสายสีม่วงเป็นส่วนสำคัญในโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งของกรุงเทพฯ รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินวิ่งในเส้นทางที่เป็นวงกลมรอบพื้นที่กรุงเทพฯ ระยะทางรวมกัน 48 กิโลเมตร ผ่าน 38 สถานี เชื่อมต่อพื้นที่สำคัญๆ ของกรุงเทพฯ ไม่ว่าจะเป็นย่านที่พักอาศัย ย่านธุรกิจ รวมถึงพื้นที่ที่มีความสำคัญทางวัฒนธรรม ส่วนรถไฟฟ้าสายสีม่วง เริ่มจากให้บริการขนส่งผู้โดยสารฝั่งทิศเหนือและทิศตะวันตกของกรุงเทพฯ ระยะทางยาวทั้งสิ้น 23 กิโลเมตร จำนวนสถานีทั้งหมด 16 สถานี
“โครงการนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นของความร่วมมือที่สำคัญ โดยทั้ง 2 บริษัท กำลังศึกษาแผนงานในการก่อสร้างและต่อยอดจากความร่วมมือครั้งประวัติศาสตร์นี้ เพื่อเพิ่มสัดส่วนการนำพลังงานจากแหล่งหมุนเวียนมาใช้กับระบบขนส่งที่กำลังขยายตัวอย่างรวดเร็ว และมีความต้องการด้านพลังงานที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง” ดร.สมบัติ กล่าว
จากความร่วมมือระหว่าง บริษัท ซีเค พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) กับ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ในการใช้กระแสไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานแสงอาทิตย์ในการเดินรถไฟฟ้าระบบรางครั้งแรกในประเทศไทย จัดเป็นโมเดลต้นแบบการใช้พลังงานหมุนเวียนในภาคการขนส่งที่เข้าใกล้กับไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตของคนไทยมากขึ้น
ความร่วมมือนี้ คือ การทำให้พลังงานหมุนเวียนเข้ามาอยู่ใกล้ตัวชีวิตคนไทยมากขึ้น เป็นโมเดลต้นแบบ ที่ทั้งภาคการขนส่งและภาคอุตสาหกรรมสามารถขับเคลื่อนองคาพยพ เพื่อเป้าหมายใหญ่ร่วมกันในการเปลี่ยนผ่านไปสู่การใช้พลังงานสะอาด และเพื่อให้ประเทศไทยปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ภายในปี 2608