การก้าวไปสู่เป้าหมาย Net Zero Tourism หรือการท่องเที่ยวที่ปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และสามารถไปสู่เป้าหมายในการส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน จะต้องหาทางให้องคาพยพในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวร่วมกันเดินไปในทิศทางนี้

การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) จึงขับเคลื่อนด้านสิ่งแวดล้อมด้วยนวัตกรรมและข้อมูลผ่านโครงการ CF-Hotels โดยร่วมกับหน่วยวิจัยเพื่อการจัดการพลังงานและเศรษฐนิเวศ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พัฒนาแพลตฟอร์ม www.cf-hotels.com ขึ้นมาให้ผู้ประกอบการโรงแรมและที่พักสามารถสร้างฐานข้อมูลบัญชีรายการสิ่งแวดล้อม ได้แก่ พลังงาน น้ำ ของเสีย และก๊าซเรือนกระจก

โดยได้มีการจัดอบรมเพื่อให้สามารถคำนวณปริมาณคาร์บอน ฟุตพริ้นท์ ที่ปล่อยจากกิจกรรมในการดำเนินธุรกิจโรงแรมและที่พัก ซึ่งจะสะท้อนการดำเนินงานของธุรกิจโรงแรมและที่พักที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และสามารถบ่งชี้ถึงศักยภาพ การบริหารจัดการที่ผ่านมาว่าธุรกิจประสบความสำเร็จในการบริหารจัดการอย่างยั่งยืนมากน้อยเพียงใด

อีกทั้ง ยังสามารถนำมาวิเคราะห์เพื่อหาแนวทางในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก อันจะเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจการบริหารธุรกิจในการเพิ่มรายได้และลดค่าใช้จ่ายจากการใช้พลังงานได้อย่างเหมาะสม โดยปัจจุบันมีโรงแรมที่เข้าร่วมโครงการ CF-Hotels แล้ว จำนวน 105 โรงแรมทั่วประเทศ

คุณไอยรีลดา จิรโชคชยานันทร์ กรรมการผู้จัดการ The Motifs Eco Hotel จังหวัดจันทบุรี บอกว่า ได้เข้าร่วมอบรมในโครงการ CF-Hotels เพราะมีความตั้งใจที่จะทำให้กิจกรรมทุกอย่างของโรงแรมลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้มากที่สุด เพราะตั้งแต่เริ่มต้นก่อสร้างโรงแรมแห่งนี้ขึ้นมาได้วางคอนเซปต์ให้เป็น "โรงแรมที่หายใจร่วมกับธรรมชาติ มีภาวะอยู่สบายจากการบริการแนว eco-Living concept มีพื้นที่เชื่อมโยงธรรมชาติรอบตัว ชุมชนและที่ออกแบบได้"

มีเป้าหมายให้บริการในฐานะโรงแรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมตั้งแต่การออกแบบไปจนถึงการบริการ ภายใต้การบริหารธุรกิจการท่องเที่ยวแบบกรีนอย่างจริงใจ ภายหลังเปิดให้บริการในปี 2564 จากนั้นใน 2 ปี ได้ยื่นขอและได้รับ Green Hotel หรือโรงแรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม จากกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม ก้าวต่อไปจะต่อยอดไประดับภูมิภาคให้ได้

“ตอนรับสมัครพนักงานเข้ามาร่วมงาน ได้สัมภาษณ์เพื่อดูว่าแต่ละคนมีใจในเรื่องของการรักษ์สิ่งแวดล้อมมั้ย พอเริ่มทำงานก็ได้มีการวางมาตรฐานเพื่อให้พนักงานมีส่วนช่วยในการประหยัดพลังงานไฟฟ้าและน้ำ และรู้จักการแยกขยะ การนำขยะไปทำปุ๋ยหมัก ซึ่งจริงๆ วางไว้ตั้งแต่การออกแบบโรงแรมแล้วว่าจะประหยัดพลังงานได้อย่างไร เช่น ห้องอาหารสามารถนั่งมีลมโกรกเย็นสบายโดยไม่ต้องเปิดแอร์ จัดชุดอาหารเช้าแบบเซตแทนบุฟเฟต์เพื่อให้อาหารเหลือทิ้งน้อยที่สุด โดยคัดเลือกอาหารขึ้นชื่อของท้องถิ่นมาเสิร์ฟ เช่น ข้าวต้มจันทบูร ปาท่องโก๋กับน้ำจิ้มเปรี้ยวหวาน ขนมจ้าง น้ำตาลดอกบัว

พอเข้าร่วมโครงการ CF-Hotels ก็มีแพลตฟอร์มที่ช่วยคำนวณได้ง่ายๆ เลยว่ากิจกรรมต่างๆ ของโรงแรมทำให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเท่าใด และจะมีวิธีการชดเชยได้อย่างไร

ขณะที่โรงแรมอีกแห่ง “เขาหลัก เมอร์ลิน รีสอร์ท” จังหวัดพังงา คุณรสนันท์ พวงมณี เล่าว่า มีเป้าหมายเป็นโรงแรมปลดปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ จึงเข้าร่วมอบรมในโครงการ CF-Hotels เพื่อให้สามารถประเมินได้ว่ากิจกรรมที่ทำจะช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลงได้เท่าใด ทั้งเรื่องการประหยัดพลังงาน ประหยัดน้ำ การจัดการขยะ และการดูแลสิ่งแวดล้อม เช่น การปลูกต้นไม้เพิ่ม การนำขยะมาทำเป็นปุ๋ยหมัก การนำน้ำมันพืชใช้แล้วไปขาย

แพลตฟอร์มที่ออกแบบมาง่ายๆ มากๆ ในปีแรกคงเริ่มจากการกรอกข้อมูลเพื่อนำไปเปรียบเทียบปีก่อนกับปีนี้ เพื่อได้รู้ว่ามีการเปลี่ยนแปลงอย่างไร จะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนฯได้อย่างไร และทำกิจกรรมชดเชยได้เท่าใด

เขาหลัก เมอร์ลิน รีสอร์ท เป็นโรงแรมที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมตั้งแต่แรก การออกแบบโครงสร้างและการก่อสร้างอาคารจะไม่ให้มีการทำลายต้นไม้ใหญ่เลย ทำให้บริเวณโดยรอบมีต้นไม้สูงๆ อยู่เยอะมาก มีสัตว์ที่อาศัยตามธรรมชาติอยู่เยอะ จะเห็นได้ว่าทางเดินที่นี่จะค่อนข้างคดเคี้ยว เพราะยึดการอนุรักษ์ต้นไม้และธรรมชาติเป็นหลัก ผลตอบรับจากลูกค้าที่มาเข้าพักชอบมาก และกลับมาพักซ้ำเยอะมาก ส่วนใหญ่จะเป็นนักท่องเที่ยวจากภูมิภาคยุโรป ซึ่งปัจจุบันให้ความสำคัญในเรื่องนี้

“เห็นได้จาก TUI Sverige AB ซึ่งเป็นผู้ประกอบการนำเที่ยวรายใหญ่ของยุโรป จะมีข้อกำหนดมาเลยว่า โรงแรมให้ความสำคัญกับเรื่องสิ่งแวดล้อมมั้ย เดี๋ยวนี้ถ้าไม่มีก็จะไม่ส่งลูกค้าให้เลย”