สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) รายงานสถานการณ์การผลิตข้าวนาปี 2566/67 พบว่า ทั้งประเทศมีเนื้อที่เพาะปลูก 62.375 ล้านไร่ ลดลงจากปีที่แล้ว 0.602 ล้านไร่ หรือร้อยละ 0.96 เนื้อที่เก็บเกี่ยว 59.598 ล้านไร่ ลดลงจากปีที่แล้วร้อยละ 0.53 ผลผลิต 25.761 ล้านตันข้าวเปลือก ลดลงจากปีที่ผ่านมาร้อยละ 3.27

เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ฝนมาล่าช้า ปริมาณฝนน้อยกว่าปี 2565 และช่วงกลางเดือนมิถุนายนถึงกลางเดือนกรกฎาคม เกิดสภาวะฝนทิ้งช่วงทำให้ขาดแคลนน้ำ โดยเฉพาะในพื้นที่แล้งซ้ำซากนอกเขตชลประทาน ส่งผลให้เกษตรกรในบางพื้นที่ปล่อยที่นาให้ว่าง และบางพื้นที่ปลูกข้าวนาปีได้เพียงรอบเดียว นอกจากนี้ ยังเสี่ยงพบโรคและแมลงศัตรูพืชระบาด เช่น โรคไหม้คอรวง เพลี้ยไฟ

ด้าน ราคาข้าวเปลือกที่เกษตรกรขายได้ ตั้งแต่ต้นปี 2565 เป็นต้นมา ราคาข้าวเปลือกเจ้า ความชื้น 15% ยังคงสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยราคาเฉลี่ยช่วง 9 เดือน (ม.ค.-ก.ย.) ข้าวเปลือกเจ้าหอมมะลิ เฉลี่ยอยู่ที่ตันละ 14,226 บาท เพิ่มจากช่วงเดียวกันของปี 2565 ร้อยละ 13.33 ข้าวเปลือกเจ้า เฉลี่ยตันละ 10,499 บาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้วร้อยละ 20.58 ข้าวเปลือกเหนียว เฉลี่ยตันละ 11,657 บาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2565 ร้อยละ 27.71

การส่งออกข้าวในช่วง 7 เดือน (ม.ค.–ก.ค.) มีปริมาณ 2.54 ล้านตัน สูงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 30.16 มีมูลค่าการส่งออก 40,767 ล้านบาท สูงขึ้นร้อยละ 51.83 และการส่งออกข้าวเหนียวปรับตัวสูงขึ้นเช่นกัน แต่สูงขึ้นเฉพาะมูลค่าเท่านั้น สูงขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2565 ร้อยละ 14.14

ปัจจัยหนุนที่ส่งผลให้ราคาข้าวเปลือกปรับตัวสูงขึ้น มาจากความกังวลในสถานการณ์เอลนีโญที่อาจทำให้ผลผลิตข้าวเสียหาย ผลผลิตข้าวของประเทศจีนลดลง ประกอบกับประเทศอินเดียซึ่งเป็นผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ที่สุดของโลก ระงับการส่งออกข้าวขาว ซึ่งเป็นโอกาสที่ทำให้ประเทศไทยสามารถส่งออกได้มากขึ้น.

...

สะ–เล–เต

คลิกอ่าน "หน้ามองฟ้า เท้าหยั่งดิน" เพิ่มเติม