วิธีออก “เดต” อย่างสมบูรณ์แบบกับนักลงทุน

วันนี้ “มาวิน ธนะปรีดากุล” หนึ่งในกูรูด้านการลงทุนจะมาแชร์ข้อมูลว่า เราควรมีทัศนคติอย่างไรเมื่อพบปะกับนักลงทุน? ควรหลีกเลี่ยงอะไรบ้าง? ควรเลือกสภาพแวดล้อมอย่างไรสำหรับการนัดพบกัน?

การออกเดตนั้นถือเป็นวิทยาศาสตร์แขนงหนึ่ง และการเดตกับนักลงทุนนั้นยิ่งถือเป็นศาสตร์ขั้นสูงยิ่งขึ้นไปอีก ในครั้งนี้ เราจะพูดคุยถึงบางประเด็นที่ผู้ประกอบการควรให้ความสนใจในระหว่างการพบปะประชุมกับนักลงทุนตลอดจนการติดต่อกันในครั้งถัดๆ ไป เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถสร้างสรรค์การประชุมทางการเงินที่น่าพึงพอใจได้

1. ใจเย็น อย่าใจร้อน เปิดใจให้กว้าง

การเป็นผู้ประกอบการเป็นเรื่องที่ยาก เพราะฉะนั้นผู้ประกอบการจึงต้องเปิดใจให้กว้าง

เราต่างเคยพบเจอผู้ประกอบการที่ "แข็งกร้าว" ที่มักจะแสดงทัศนคติที่ปิดกั้นและไม่เป็นมิตรเมื่อพบปะกับนักลงทุน เช่น เคยมีผู้ประกอบการ Internet of Things ที่วางแผนจะนำเสนอโครงการของเขาต่อนักลงทุนของ Cyber Agent Capital ในช่วงนั้น Cyber Agent Capital ได้ลงทุนใน Siamsquared Technologies ในด้าน Internet of Things แล้ว ในระหว่างวันประชุม ก่อนที่ผู้ประกอบการจะเริ่มแนะนำโครงการ นักลงทุนได้กล่าวตรงๆ ว่า "เราได้ลงทุนใน Siamsquared Technologies แล้ว แต่เราอยากดูโครงการอื่นๆ ในสาขานี้ด้วย" - นี่ไม่ใช่คำพูดที่สุภาพเลย เพราะ Siamsquared Technologies ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น และสถาบันการลงทุนยังไม่รู้ว่าจะเปิดตัวได้หรือไม่ ดังนั้นโดยธรรมชาติแล้ว พวกเขาคาดหวังว่าจะได้สำรวจโอกาสในลงทุนอื่นๆ เพิ่มเติมในสาขาเดียวกันเพื่อทำการวางแผน แต่เมื่อผู้ประกอบการได้ยินสิ่งที่นักลงทุนพูด เขาก็ตอบโต้อย่างรุนแรงโดยการปิดแล็ปท็อปที่เขาเพิ่งเปิด แล้วเดินออกไปเลย

ผู้ประกอบการรายนี้ช่างน่าสงสารเสียจริง เขาอาจรู้สึกว่าเพราะคุณเลือก Siamsquared Technologies คุณจึงกลายเป็นคู่แข่งของผม และผมจะต้องไม่เปิดเผยข้อมูลใดๆ ให้กับคู่แข่งของผมเด็ดขาด แต่เขาควรตระหนักว่าการได้พบปะกับนักลงทุนนั้นแท้จริงแล้วเป็นโอกาสที่ดีในการสื่อสารอย่างตรงไปตรงมาและเรียนรู้จากกันและกัน มากกว่าการต่อสู้อย่างเอาเป็นเอาตายในทางการเงิน หากคุณสนใจในสาขานี้และมีผลงานวิจัยเกี่ยวกับเรื่องนี้ ทำไมถึงไม่สื่อสารกับอีกฝ่ายหนึ่งเล่า?

บางทีนักลงทุนอาจลงทุนในบริษัทคู่แข่งของผู้ประกอบการในสาขาเดียวกันจริงๆ หรือบางทีผู้ประกอบการอาจไม่ต้องการเปิดเผยเนื้อหาหลักของโครงการมากเกินไป แต่ไม่ว่าสถานการณ์จะเป็นอย่างไร เขาก็สามารถรักษาอากัปกิริยาและให้คำแนะนำโครงการของเขาให้ลุล่วงได้อย่างเหมาะสม ผมคิดว่านี่เป็นคุณสมบัติพื้นฐานของการเป็นผู้ประกอบการ สำหรับผู้ประกอบการลักษณะดังกล่าวนี้ แม้ว่าโครงการของเขาจะยังไม่ดีมากนัก แต่อย่างน้อยนักลงทุนก็จะรู้สึกว่าบุคคลผู้นี้มีความเข้าใจในกฎเกณฑ์และมีความสามารถในการสื่อสาร และจะไม่ถูกขึ้นบัญชีดำในเรื่องโครงการและบุคลิกภาพ

ผู้ประกอบการบางคนคิดว่าหากพูดคุยกับนักลงทุนที่ไม่ได้ตั้งใจที่จะลงทุนด้วยอยู่แล้วมากเกินไป พวกนักลงทุนอาจจะขโมยไอเดียและนำไปใช้เอง ผมว่านี่เป็นเรื่องที่เราไม่ควรต้องกังวลมากเกินไป เพราะสถานการณ์ในปัจจุบันเป็นตลาดของมืออาชีพที่มีการแบ่งส่วนกันอย่างชัดเจน โดยมีโครงการหลากหลายผุดขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง นักลงทุนจึงไม่มีปัญหาการขาดแคลนโครงการ และพวกเขาจะเริ่มดำเนินการอย่างจริงจังหลังจากได้พิจารณาถึงต้นทุนแล้ว ดังนั้นในกระบวนการพบปะกับนักลงทุนมืออาชีพเหล่านี้ จึงไม่จำเป็นต้องจงใจปกปิดแผนธุรกิจของคุณ แน่นอนว่าผู้ประกอบการอาจจะบอกหรืออาจจะไม่บอกข้อมูลสำคัญบางอย่างออกมา แต่โดยทั่วไปแล้ว ผู้ประกอบการควรเปิดใจให้กว้าง ทัศนคติเช่นนี้จะมอบความสบายอกสบายใจให้กับผู้อื่น

2. วิธีสื่อสารกับนักลงทุน–สื่อสารด้วยทักษะที่ชำนาญ และไม่ตามไล่ต้อน

ผู้ประกอบการจำเป็นต้องเสริมสร้างทักษะการสื่อสารให้แข็งแกร่งเมื่อติดต่อกับนักลงทุน แต่ต้องไม่ตามไล่ต้อนซึ่งกันและกัน

บางครั้งผู้ประกอบการอาจจะรู้สึกว่าการประชุมกับนักลงทุนเป็นไปอย่างราบรื่น และทั้งสองฝ่ายก็สนทนาแลกเปลี่ยนกันอย่างสนุกสนาน ในสถานการณ์เช่นนี้ ผู้ประกอบการสามารถสอบถามนักลงทุนในช่วงท้ายของการสนทนาว่า คุณคิดอย่างไรเกี่ยวกับโครงการนี้? คุณมีแผนการอย่างไรบ้างหากคุณจะดำเนินการต่อ? คุณจะนำเสนอโครงการในการประชุมภายในองค์กรหรือไม่? แล้วนักลงทุนอาจตอบคุณว่า ผมจะให้คำตอบทางเอกสารอย่างชัดเจนกับคุณภายในวันนั้น

หลังจากได้ยินคำตอบนี้เช่นนี้ ผู้ประกอบการจะต้องไม่เพียงแค่นิ่งรอให้นักลงทุนเป็นฝ่ายตอบกลับมาเองด้วยการส่ง “เอกสารที่ไม่เป็นทางการ” และอย่าถามนักลงทุนว่าคืบหน้าถึงไหนแล้ว ในทางกลับกัน จะต้องเป็นฝ่ายที่คอย "เตือน" นักลงทุนด้วยทักษะที่ชำนาญ เพื่อเตือนให้พวกเขาระลึกถึงการเดินหน้าโครงการของคุณโดยไม่ทำให้พวกเขารู้สึกไม่พอใจที่ถูกเร่ง

ตัวอย่างเช่น องค์กรที่เสนอเงินทุนหลายแห่งจัดประชุมขึ้นในเช้าวันจันทร์ นักลงทุนหลายคนจะนำเสนอเนื้อหาโดยสรุปของโครงการที่พวกเขาพบเจอเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ผู้ประกอบการสามารถใช้ LINE หรืออีเมลเพื่อสอบถามนักลงทุนในคืนสุดสัปดาห์ว่า ในการประชุมพรุ่งนี้จะมีการนำเสนอโครงการของผมหรือไม่? คุณคิดว่าโครงการของผมยังขาดประเด็นใดหรือไม่? มีอะไรที่ผมอธิบายไว้ไม่ชัดเจนในการสนทนาครั้งล่าสุดหรือไม่? ผมสามารถให้ข้อมูลคุณเพิ่มเติมได้ทุกเมื่อ การที่ผู้ประกอบการปฏิบัติเช่นนี้จะทำให้นักลงทุนไม่รู้สึกถูกกดดัน แต่หากผู้ประกอบการคอยตามจี้นักลงทุนทุกวัน และถามตลอดเวลาว่าโครงการเรียบร้อยดีหรือไม่ ก็อาจจะทำให้นักลงทุนตอบปฏิเสธคุณได้ตรงๆ ทำให้ความหวังของคุณพังยับเยิน

ผู้ประกอบการบางคนจะติดต่อสื่อสารกลับไปหานักลงทุนภายหลังการประชุมไม่กี่วัน โดยเนื้อหาการสนทนาเป็นการพูดคุยในทุกประเด็น ยกเว้นเรื่องการเงิน นักลงทุนอาจขอให้คุณช่วยแนะนำบริษัทที่คุณพูดถึงในระหว่างการสัมภาษณ์ครั้งก่อน หรือคุยกันเรื่องคนที่รู้จักร่วมกัน หรือเรื่องการหาโอกาสในการสร้างการติดต่อทางธุรกิจร่วมกัน เป็นต้น ในกรณีเช่นนี้ ผู้ประกอบการบางคนอาจคิดว่ามันไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องเงินๆ ทองๆ เรื่องการลงทุนเลย จะสนทนาไปเพื่ออะไร? จริงๆ แล้วนี่เป็นสิ่งที่ดีมาก เพราะจะทำให้นักลงทุนรู้สึกว่าคุณไม่ได้ปฏิบัติต่อเขาในฐานะคนนอก และไม่ว่าเขาจะลงทุนในโครงการของคุณหรือไม่ก็ตาม อย่างน้อยเขาก็ได้มีส่วนร่วมในโครงการของคุณแล้วในระดับหนึ่ง ในโครงการอื่นๆ เขาอาจจะถือว่าคุณเป็นหนึ่งในทรัพยากรที่เขามีอยู่ด้วยก็ได้ ความสัมพันธ์ระหว่างคุณและเขาจะกลมกลืนกันมากขึ้น และจะไม่เป็นความสัมพันธ์ที่ตึงเครียดระหว่างผู้ประกอบการและนักลงทุน นี่จึงเป็นทักษะการสื่อสารที่ดีอย่างแท้จริง

ทักษะการสื่อสารกับนักลงทุนอีกประการหนึ่งคือ ในขณะที่คุณกำลังนำเสนอโครงการให้แก่นักลงทุน อย่าคร่ำครวญเรื่องการขาดแคลนเงินลงทุน หากมีในจังหวะเหมาะ คุณสามารถเปิดเผยข้อมูลได้มากขึ้น เพื่อให้นักลงทุนรู้สึกว่า คุณกำลังทำสิ่งที่ดีมากๆ โครงการของคุณกำลังไปได้อย่างงดงาม ด้วยวิธีนี้ นักลงทุนจะกระตือรือร้นยิ่งขึ้นในการให้การสนับสนุนโครงการดังกล่าว คุณจึงไม่จำเป็นต้องผลักดันเพื่อนำเสนอตัวเองให้เขามาสนับสนุน

3. มิตรภาพนั้นลึกซึ้งยิ่งกว่าการขาย — สร้างความสัมพันธ์แบบเพื่อนกับผู้ดูแลบัญชี (Account Manager) ที่มีศักยภาพของคุณ

สุดท้ายนี้ ประเด็นที่สำคัญมากในการติดต่อกับนักลงทุน เรียนรู้ที่จะเป็นเพื่อนกับผู้ดูแลบัญชี (Account Manager) ที่มีศักยภาพของคุณ

ผู้ดูแลบัญชี (Account Manager) หมายถึง เมื่อโครงการของคุณได้รับการลงทุนโดยกองทุนใดกองทุนหนึ่ง นักลงทุนที่ผลักดันโครงการตั้งแต่เริ่มต้นมักจะเป็นผู้จัดการของโครงการ และเขาอาจกลายเป็นผู้อำนวยการของบริษัทของคุณด้วย เนื่องจากตำแหน่งผู้อำนวยการต้องเกิดจากการเป็นนักลงทุน หากบุคคลนี้เป็นผู้จัดการการลงทุนหรือรองประธานในสถาบันการลงทุน โดยปกติแล้ว เขาจะดำรงตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการโครงการ

ผู้ดูแลบัญชี (Account Manager) จะเป็นตำแหน่งที่มักมีบทบาทปรากฏต่อหน้าคุณ เขาจะเป็นผู้ผลักดันโครงการตั้งแต่เริ่มต้น และตอนนี้เขาจะคอยติดตามรับฟังรายงานประจำไตรมาสของคุณ ดังนั้นผู้ประกอบการควรใช้วิธีการที่หลากหลายเพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์ส่วนตัวและผูกมิตรกับผู้ดูแลบัญชี (Account Manager) เพราะไม่ว่าแบรนด์กองทุนของโครงการลงทุนจะมีขนาดใหญ่แค่ไหน แพลตฟอร์มจะดีเพียงใด และมีทรัพยากรเพียบพร้อมเพียงใด ในขั้นสุดท้ายของการวิเคราะห์ ผู้จัดการบัญชี (Account Manager) คือผู้ที่จะสามารถช่วยผู้ประกอบการให้สามารถบริหารจัดการโครงการได้อย่างแท้จริง ดังนั้นเมื่อผู้ประกอบการผูกมิตรกับผู้ดูแลบัญชี (Account Manager) ทำให้เขาเป็นตัวของตัวเองได้ เขาก็จะตอบแทนผู้ประกอบการได้มากขึ้น และหนุนช่วยผู้ประกอบการด้วยหัวใจที่ทุ่มเทมากขึ้น จึงเป็นผลลัพธ์ที่ได้ประโยชน์ทั้งสองฝ่ายแบบ win-win

4. การประชุมอย่างเป็นทางการที่สำนักงานนั้นมีความน่าเชื่อถือมากกว่า - สภาพแวดล้อมเมื่อประชุมร่วมกับนักลงทุนเป็นสิ่งสำคัญ

ผู้ประกอบการสามารถติดต่อสื่อสารกับนักลงทุนได้หลายโอกาส ทั้งในรูปแบบที่เป็นทางการหรือไม่เป็นทางการ สาธารณะหรือส่วนตัว แต่โอกาสเหล่านี้เหมาะสมกับการที่ผู้ประกอบการจะนำเสนอโครงการของเขาต่อนักลงทุนจริงหรือ? มีสภาพแวดล้อมไหนบ้างที่เหมาะสมกว่าในการหารือเกี่ยวกับการลงทุนกับนักลงทุน? ภายใต้สถานการณ์ใดบ้างที่การพบปะกับนักลงทุนจะดูไม่น่าเชื่อถือ? เราจะมาพิจารณากันไปทีละกรณี

(1) มหกรรมพบผู้ประกอบการ

อันดับแรกคือมหกรรมพบผู้ประกอบการ ซึ่งในปัจจุบันสื่อต่างๆ ก็มักจัดงานลักษณะดังกล่าว สำหรับกิจกรรมประเภทนี้ การประเมินของผมคือ ในสถานการณ์เช่นนี้ มีความเป็นไปได้น้อยมากที่จะขายโครงการได้ที่หน้างาน on-site และผมไม่แนะนำให้ผู้ประกอบการเข้าร่วมในกิจกรรมประเภทนี้เพื่อวัตถุประสงค์ในการจัดหาแหล่งเงินทุน ลองนึกภาพว่า ในห้องที่เต็มไปด้วยผู้คนจำนวนมาก การพูดถึงโครงการใดๆ จะเหมือนการเดินแฉลบผ่านไปมาแค่ 5 นาที แล้วจะเป็นไปได้เพียงใดที่จะมีการตกลงเสร็จสิ้นกันได้โดยฉับพลัน?

แต่นั่นหมายความว่าผู้ประกอบการไม่จำเป็นต้องเข้าร่วมในมหกรรมพบผู้ประกอบการอีกต่อไปใช่หรือไม่? ไม่ใช่เช่นนั้น ผู้ประกอบการสามารถที่จะโฆษณาประชาสัมพันธ์การจัดหาเงินทุนดำเนินโครงการได้ในระดับหนึ่งโดยการเข้าร่วมกิจกรรมในงานวันพบปะลักษณะนี้ พยายามควบคุมข้อมูลที่คุณนำเสนอให้มีประสิทธิภาพ เพื่อใช้ประโยชน์สูงสุดจากกิจกรรมในวันนั้นของคุณ

(2) เวทีแข่งขันการเป็นผู้ประกอบการ

อันดับที่สองคือเวทีการแข่งขันของผู้ประกอบการ ผมไม่แนะนำให้ผู้ประกอบการเลือกเส้นทางเวทีการแข่งขันของผู้ประกอบการเพื่อจัดหาแหล่งเงินทุน เพราะปัจจุบัน การแข่งขันของผู้ประกอบการในท้องถิ่นส่วนใหญ่ไม่มีความเป็นมืออาชีพอย่างยิ่ง ผู้จัดงานแข่งขันหลายรายไม่รู้ด้วยซ้ำว่านักลงทุนที่พวกเขาเชิญมาเป็นผู้ตัดสินมีความเชี่ยวชาญในสาขาใด และโครงการใดที่พวกเขาอยากลงทุน ดังนั้นพวกเขาจึงจัดกลุ่มแบบสุ่มๆ จัดตารางการแข่งขัน และทำการรีวิวโครงการ มองในด้านหนึ่ง นี่เป็นการไม่รับผิดชอบอย่างยิ่งต่อผู้ประกอบการ ในอีกด้านหนึ่ง นักลงทุนที่ได้รับเชิญก็แบกความทุกข์ไว้มากเช่นกัน พวกเขามักจะถูกมอบหมายให้ทำโครงการที่ไม่ดีนัก และไม่มีอารมณ์ความรู้สึกร่วมที่อยากจะพิจารณาโครงการอย่างจริงจัง เมื่อเวลาดำเนินไป เมื่อนักลงทุนจำนวนมากถูกเชิญให้เป็นผู้ตัดสินในงานมหกรรมการแข่งขันของผู้ประกอบการ พวกเขาจะมีความคิดไปก่อนแล้วว่า "ยังไงๆ การแข่งขันนี้ก็จะไม่มีโครงการที่น่าเชื่อถือ" ดังนั้น พวกเขาจึงไม่ให้ความสนใจมากนักตลอดกระบวนการ การศึกษาโครงการที่ผู้เข้าแข่งขันส่งเข้าประกวด จริงๆ แล้วจึงนับว่าเป็นวงจรชั่วร้าย

(3) ในสำนักงานของผู้ประกอบการ

ประเภทที่สามคือในสำนักงานของผู้ประกอบการ หากเงื่อนไขเอื้ออำนวย อาจเป็นตัวเลือกที่ดีที่ผู้ประกอบการจะเชิญนักลงทุนมาที่สำนักงานของตนเพื่อหารือเกี่ยวกับการลงทุน อันดับแรกสุด นักลงทุนสามารถเห็นการทำงานของคุณในบริษัท เห็นพนักงานในบริษัท และบรรยากาศโดยรวมของทีมของคุณในสำนักงาน สิ่งนี้จะช่วยให้นักลงทุนเข้าใจคุณและบริษัทของคุณได้อย่างรวดเร็ว โครงการนี้ก็จะสร้างความประทับใจแบบสามมิติ ทำให้อีกฝ่ายรู้สึกว่าคุณเป็นทีมที่ทำงานจริงจังและน่าเชื่อถืออย่างแท้จริง

ประการที่สอง การสัมภาษณ์ในสำนักงานของคุณ เมื่อนักลงทุนเรียนรู้เกี่ยวกับโครงการของคุณจากหลากหลายแง่มุม คุณก็จะสามารถเชิญพันธมิตรรายอื่น หรือพนักงานที่เป็นหัวแรงหลักของบริษัทเพื่อเข้าร่วมการสัมภาษณ์ได้ตลอดเวลา เพื่อให้นักลงทุนสามารถเข้าใจข้อมูลได้ดียิ่งขึ้น

ประการที่สาม การสัมภาษณ์ในสำนักงานสามารถสร้างความรู้สึกที่เป็นทางการ ซึ่งแตกต่างจากการประชุมในบรรยากาศที่ไม่เป็นทางการ ผู้คนจำนวนไม่น้อยมักจะได้รับอิทธิพลจากสิ่งแวดล้อม สภาพแวดล้อมที่เป็นทางการและเหมาะสมจะทำให้ทั้งสองฝ่ายสามารถพูดคุยกันได้จริงจังยิ่งขึ้น และให้ความสนใจซึ่งกันและกันมากขึ้น และสุดท้าย ถึงแม้ว่าสำนักงานจะเป็นสถานที่สำหรับทำงาน แต่ก็ยังมีความเป็นส่วนตัวมากกว่าเมื่อเทียบกับการพบปะแบบสาธารณะ เช่น วันมหกรรมพบผู้ประกอบการ และเวทีแข่งขันผู้ประกอบการ ในสถานการณ์เช่นนี้ คุณจะสามารถพูดคุยกับนักลงทุนได้อย่างจริงจังเกี่ยวกับโครงการของคุณโดยไม่ต้องกังวลว่าจะไม่สามารถเปิดเผยข้อมูลที่เป็นความลับได้

(4) การประชุมทางโทรศัพท์/วิดีโอ

เนื่องจากข้อจำกัดด้านเวลาและสถานที่ ผู้ประกอบการจำนวนมากจำเป็นต้องติดต่อนักลงทุนผ่านทางโทรศัพท์หรือการประชุมทางวิดีโอ จากประสบการณ์ที่ผ่านมาของผม วิธีการเช่นการประชุมทางโทรศัพท์หรือวิดีโอมักจะนำมาซึ่งปัญหาใหญ่ที่สุดประการหนึ่ง นั่นก็คือ การได้ข้อมูลไม่ครบและความเข้าใจผิด เนื่องจากเมื่อเปรียบเทียบกับการสื่อสารแบบเห็นหน้ากัน สมาธิของผู้คนจะลดลงในระหว่างการสื่อสารทางไกล และความสามารถในการรับรู้ข้อมูลของอีกฝ่ายก็จะลดลงอย่างมากเช่นกัน แต่ผู้ประกอบการก็ไม่ควรปฏิเสธการสื่อสารทางไกลโดยสิ้นเชิงด้วยสาเหตุนี้ เพียงแค่ทำใจให้เป็นปกติ หากคุณต้องสื่อสารกับนักลงทุนทางไกล อย่าคาดหวังมากเกินไปจากการสื่อสาร แต่ควรตั้งเป้าหมายแรกไว้ที่ "ให้อีกฝ่ายเข้าใจคุณ"

(5) เครื่องมือ IM เช่น LINE

สุดท้ายนี้ ยังมีอีกช่องทางหนึ่งสำหรับผู้ประกอบการในการติดต่อกับนักลงทุน นั่นก็คือผ่านการแชตด้วยเครื่องมือ IM ต่างๆ ที่นำเสนอโดย LINE ในประเด็นนี้ ผมรู้จักนักลงทุนเพียงไม่กี่คนที่พึ่งพาเครื่องมือ IM เป็นอย่างมาก พวกเขาไม่ออกไปพบปะนักลงทุนเลย แต่ใช้ Facebook และ LINE เพื่อแชตออนไลน์ และพวกเขาก็ดูมีประสิทธิภาพในการทำงานอย่างมากด้วย

แต่ส่วนตัวแล้ว ผมคิดว่าไม่ว่านักลงทุนจะพูดคุยกับผู้ประกอบการทางออนไลน์ได้ดีแค่ไหน พวกเขาก็ยังคงต้องพบปะกันในตอนท้ายของการสนทนา ในเบื้องต้น เครื่องมือแชตอาจช่วยให้คุณเริ่มต้นการสนทนากับนักลงทุนได้ดีขึ้น แต่ไม่ได้ผลักดันให้การสนทนาไปสู่ระดับของ "การตัดสินใจ"

และนี่คือความรู้ส่วนหนึ่งที่กลั่นจากประสบการณ์ของ “มาวิน ธนะปรีดากุล” ซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นความรู้ที่สามารถนำไปปรับใช้สำหรับการสื่อสารและพบปะผู้ประกอบการของคุณ เพื่อให้การออกเดตออกมาอย่างน่าประทับใจได้อย่างดีเลยทีเดียว