กรมส่งเสริมวัฒนธรรมประกาศ ขึ้นทะเบียน 14 รายการมรดกภูมิปัญญาทางทางวัฒนธรรมของชาติ อาทิ “บ่อเกลือ-อุ้มพระดำน้ำ-เมรุลอย” ชวนคนไทยร่วมลุ้น “สงกรานต์” ประทับตรามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ ปลายปี 2566 ด้านอธิบดีเผยกระแสอาหารถิ่นจากที่คัดเลือก 1 จังหวัด 1 เมนู เชิดชูอาหารถิ่นในประเด็น “รสชาติ...ที่หายไป” ปลุก 77 เมนูเป็นที่ฮือฮาและขายดีเทน้ำเทท่า

เมื่อวันที่ 21 ก.ย. กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม จัดงานมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ในงานมีการจัดแสดงนิทรรศการและสาธิตให้ความรู้ 77 เมนูอาหารถิ่น จากที่คัดเลือก “1 จังหวัด 1 เมนู เชิดชูอาหารถิ่น” ภายใต้โครงการส่งเสริมพัฒนายกระดับอาหารถิ่นสู่มรดกทางวัฒนธรรมและอัตลักษณ์ความเป็นไทย (Thailand Best Local Food) “รสชาติ...ที่หายไป The lost Test” ประจำปี 2566 พร้อมกันนี้มีการประกาศขึ้นทะเบียนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ ประจำปี 2565 ดังนี้ 1.บ่อเกลือ อ.บ่อเกลือ จ.น่าน 2.ตำนานนางผมหอม จ.หนองบัวลำภู 3.ตำนานหลวงพ่อพระใส จ.หนองคาย 4.แห่นกบุหรงซีงอ จ.ปัตตานี 5.นาเกลือ จ.สมุทรสงคราม 6.น้ำผักสะทอน จ.เลย 7.ผ้าไหมหางกระรอกโคราช จ.นครราชสีมา 8.ผ้าซิ่นตีนแดงบุรีรัมย์ จ.บุรีรัมย์ 9.ผ้าโฮลสุรินทร์ จ.สุรินทร์ 10.เมรุลอย จ.เพชรบุรี 11.การเส็งกลองกิ่ง จ.กาฬสินธุ์ 12.การเล่นโหวด จ.หนองคาย 13.เรือบก จ.พิษณุโลก 14.อุ้มพระดำน้ำ จ.เพชรบูรณ์ โดยมีนายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รมว.วัฒนธรรมเป็น ประธาน พร้อมมอบโล่เชิดชูเกียรติให้แก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

นายเสริมศักดิ์กล่าวว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมและมรดกภูมิปัญญาที่นำมาต่อยอดสู่ซอฟต์เพาเวอร์สร้างเศรษฐกิจชาติ ให้ประชาชนมีรายได้ มีอาชีพที่มั่นคง ส่งเสริมการท่องเที่ยว กระทรวงพร้อมขับเคลื่อนนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจรากฐานผ่านโครงการต่างๆอย่างต่อเนื่อง มีการส่งเสริมมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ เป็นทุนทางวัฒนธรรม เป็นสิ่งที่แสดงถึงเกียรติ ความภาคภูมิใจของคนในท้องถิ่นและคนในชาติ มาสร้างคุณค่าทางสังคมต่อยอดให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจ ผลักดันให้เกิดค่านิยมที่มีอิทธิพลกับความคิดของสังคมและประชาชนในประเทศและต่างประเทศ

...

ด้านนายโกวิท ผกามาศ อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กล่าวว่า การขึ้นทะเบียนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ ทำให้เกิดการกระตุ้นให้สังคมได้รับรู้ เป็นการปกป้อง คุ้มครอง ดูแลไม่ให้ภูมิปัญญาต่างๆสูญหายไป รวมทั้งจะนำไปสู่การพิจารณาคัดเลือกรายการต่างๆที่โดดเด่นมีคุณค่า นำเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการอนุสัญญาว่าด้วยการสงวนรักษามรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ขององค์การยูเนสโก เพื่อพิจารณาขึ้นทะเบียนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมวลมนุษยชาติไทย ได้รับการพิจารณาขึ้นทะเบียนไปแล้ว 3 รายการ ได้แก่ โขน นวดไทย และโนรา

นายโกวิทกล่าวอีกว่า ขณะนี้ไทยได้พิจารณารายการเพื่อเตรียมขอขึ้นทะเบียนเบื้องต้นจากยูเนสโก ในปี 2567 จำนวน 3 รายการ ได้แก่ ชุดไทยพระราชนิยม ประเพณีลอยกระทง และมวยไทย ที่สำคัญเป็นนิมิตหมายอันดีที่องค์การยูเนสโกรับรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมประเพณีสงกรานต์ในประเทศไทย เข้าสู่วาระการพิจารณาการขึ้นทะเบียนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติในเดือน ธ.ค.นี้ จึงขอให้คนไทยร่วมอนุรักษ์ สืบสานประเพณีไทยอันงดงามให้คงอยู่และลุ้นการประกาศผลไปด้วยกัน

อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรมกล่าวด้วยว่า ในงานยังได้รวบรวม 77 เมนูอาหารถิ่นประจำจังหวัด ที่กำลังจะเลือนหาย หาได้ยาก เพื่อนำมาสู่การยกระดับ พัฒนา สร้างสรรค์ ขึ้นเป็นอาหารประจำจังหวัด จัดสำรับประจำภาคทั้ง 4 ภาค มองว่าอาหารเป็นหนึ่งในซอฟต์เพาเวอร์ของประเทศที่สร้างมูลค่าเพิ่มต่อไปในตลาดโลกได้ ดังนั้นจะมีแผนโปรโมตอาหารถิ่น โดยใช้การสื่อสารรอบด้าน เพื่อต่อยอด ส่งเสริมเผยแพร่ในวงกว้างมากยิ่งขึ้น ตลอดจนสร้างความยั่งยืนให้กับเมนูอาหารที่หายไป

โดยเฉพาะในกลุ่มนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาประเทศไทย เชิญชวนให้ไปตามรอยชิมรสชาติอาหารทั้ง 77 เมนู ได้รับรายงานว่า จากที่ประกาศเมนูอาหารถิ่นไปแล้ว สามารถปลุกกระแสความนิยมอาหารถิ่นในจังหวัดต่างๆได้อย่างดีเยี่ยม มีผู้คนสนใจตามรอยไปชิมจนเป็นเมนูที่ขายดี มีการหาข้อมูลเพื่อศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม ผู้ประกอบการต่างๆมีรายได้เพิ่มขึ้นอย่างน่าดีใจ และจัดให้เป็นเมนูจานเด็ดที่ต้องมาชิมในจังหวัดต่างๆ ทำให้สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจระดับจังหวัดได้เป็นอย่างดี