สืบเนื่องจากงานสัมมนาที่จัดโดยไทยรัฐกรุ๊ป Thairath Forum 2023 ในหัวข้อ “Future Perfect เปิดมุมคิด พลิกอนาคต” เมื่อวันที่ 18 ก.ย. ที่ผ่านมา ซึ่งนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง ได้ตอบข้อซักถามทั้งด้านเศรษฐกิจและการเมืองอย่างชัดเจน
โดยนายกฯ ได้ให้สัมภาษณ์ช่วงหนึ่งว่า รัฐบาลจะช่วยส่งเสริมภาคธุรกิจการค้าไทย โดยช่วยการปรับตัวของเอสเอ็มอี และเปิดตลาดส่งออกใหม่ จากประเด็นนี้ “เอ็กซิมแบงก์” ยืนยันว่า พร้อมเป็นพี่เลี้ยงให้ความรู้คู่ให้ทุน หนุนภาคธุรกิจ-คนตัวเล็กเร่งปรับตัวรับกับกติกาการค้าโลกยุคใหม่พัฒนาสินค้าและบริการให้ได้มาตรฐานสิ่งแวดล้อม
นายรักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.) หรือ เอ็กซิมแบงก์ เปิดเผยว่า เอ็กซิมแบงก์อยู่ระหว่างติดตามการนำมาตรการปรับคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน (Carbon Border Adjustment Mechanism : CBAM) ของสหภาพยุโรป (อียู) ที่จะนำมาเริ่มทดลองใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.2566 ซึ่งจะทำให้สินค้านำเข้าที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงต้องจ่ายค่าธรรมเนียมตามปริมาณคาร์บอนที่ปล่อย ซึ่งสินค้านำร่อง ได้แก่ เหล็กและเหล็กกล้า อะลูมิเนียม ซีเมนต์ ปุ๋ย ไฟฟ้า ไฮโดรเจน ก่อนจะบังคับใช้เต็มรูปแบบเดือน ม.ค.2569
รวมทั้ง กฎระเบียบว่าด้วยสินค้าที่ปลอดจากการตัดไม้ทำลายป่า (EU Deforestation-free products Regulation : EUDR) จะเริ่มมีผลบังคับใช้ในปีนี้เช่นกันกับสินค้าในกลุ่ม โกโก้ กาแฟ ปาล์มน้ำมันและผลิตภัณฑ์ไม้ ผลิตภัณฑ์ยางพารา ถั่วเหลือง และโค ผู้นำเข้าต้องลงทะเบียนแจ้งข้อมูลการผลิตทั้งระบบเพื่อให้ตรวจสอบย้อนกลับได้ว่ามีการตัดไม้ทำลายป่าในการเพาะปลูกหรือเลี้ยงสัตว์หรือไม่ ก่อนจะบังคับใช้เต็มรูปแบบในเดือน ธ.ค.2567
● ชี้กติกาการค้าโลกใหม่ทุบ “คนตัวเล็ก”
“ภาคการส่งออกของไทยจะได้รับผลกระทบจากระเบียบใหม่เริ่มต้นมีผลบังคับใช้ ซึ่งในช่วงแรกอาจจะกระทบในสินค้าไม่กี่กลุ่ม แต่ในระยะยาวจะขยายไปในกลุ่มสินค้าอื่นๆมากขึ้น หากผู้ประกอบการไม่ปรับตัวจะส่งออกได้ยากขึ้นในตลาดที่มีกฎระเบียบเข้มงวด ซึ่งน่าเป็นห่วงผู้ประกอบการขนาดกลางขนาดย่อม หรือ SMEs ที่มีอยู่ 99% ของผู้ประกอบการในประเทศไทย 3.2 ล้านราย โดยผู้ประกอบการขนาดใหญ่นั้นมีเงินทุน มีบุคลากร มีความพร้อมในการปรับตัวกับระเบียบการค้าใหม่มากกว่าคนตัวเล็กที่มีทรัพยากรทุกด้านน้อยกว่า”
นายรักษ์กล่าวต่อว่า ปัญหาของคนตัวเล็กคือ ก่อนจะปรับตัวจะต้องรู้ก่อนว่าธุรกิจของตัวเองมีคาร์บอนฟุตพริ้นต์ (Carbon Footprint) เท่าไร หากพบว่าปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากก็ต้องหาวิธีปรับลด รวมถึงหากสามารถลดคาร์บอนได้ก็อาจนำมาขายเป็นคาร์บอนเครดิตได้ แต่คนที่ประเมินคาร์บอน ต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งประเทศไทยยังมีไม่มาก ผู้ประกอบการรายใหญ่มีทุนในการจ้างบริษัทที่ปรึกษาต่างประเทศ ในขณะที่รายย่อยแค่คำนวณคาร์บอนฟุตพริ้นต์ก็ยากแล้ว เราจึงมีแผนจะร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ความรู้และคำแนะนำแก่คนตัวเล็กเรื่องนี้
● ประกาศปรับองค์กรสู่ “แบงก์สีเขียว”
ดังนั้น เอ็กซิมแบงก์ในบทบาทของธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งประเทศไทย โดยไม่ทิ้งคนตัวเล็ก มีเจตนารมณ์แน่วแน่และเป้าหมายเป็นกลไกสำคัญผลักดันให้เกิดการทำธุรกิจอย่างยั่งยืน คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) ทำให้ธุรกิจไทยเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้นผ่านเครื่องมือทางการเงินสีเขียว สอดคล้องกับทิศทางการเติบโตของ Climate Finance ในช่วงที่ผ่านมาที่เติบโตอย่างต่อเนื่องเฉลี่ยปีละ 9% ตามรายงานของ Climate Policy Initiative และคาดว่าในปี 2573 ความต้องการ Climate Finance จะเพิ่มขึ้นอีก 6 เท่าจากปัจจุบัน ภายใต้การดำเนินงานดังกล่าว เอ็กซิมแบงก์ พร้อมยกระดับองค์กรสู่การเป็น Green Development Bank
“ในการประกาศเจตนารมณ์สู่การเป็น Green Development Bank นั้น เอ็กซิมแบงก์ทำหน้าที่เสมือนตัวทำเกมที่เล่นได้ทั้งเกมรับและเกมรุก โดยตั้งเป้าเพิ่มสัดส่วนสินเชื่อเพื่อความยั่งยืนของธนาคารที่สนับสนุนโครงการ ESG มากขึ้น โดยในเกมรับเอ็กซิมแบงก์ระดมทุนผ่านการออกพันธบัตรเพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม (Green Bond) เพื่อใช้เป็นเงินทุนสนับสนุนธุรกิจสีเขียว หรือธุรกิจที่ดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน โดยลอตแรกจำหน่ายแล้วเมื่อวันที่ 9 ก.ย.2565 จำนวน 2 รุ่น วงเงินรวม 5,000 ล้านบาท และออกพันธบัตร SME Green Bond เป็นลอตที่ 2 เมื่อวันที่ 6 มิ.ย.ที่ผ่านมา วงเงินรวม 3,500 ล้านบาท ซึ่งการจำหน่ายพันธบัตรทั้ง 2 ครั้งได้รับความสนใจจากนักลงทุนสูงมาก และมียอดการจองซื้อเกินจำนวนที่ออกจำหน่ายเป็นเท่าตัว และได้ดอกเบี้ยที่ดีท่ามกลางภาวะดอกเบี้ยขาขึ้น”
● รุกปล่อยสินเชื่อเป็นมิตรสิ่งแวดล้อม
นายรักษ์ กล่าวต่อว่า เอ็กซิมแบงก์พร้อมให้สินเชื่อเติมเงินทุนให้แก่โครงการ หรือธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น สินเชื่อ EXIM Green Start เป็นเงินทุนหมุนเวียน เพื่อเสริมสภาพคล่องผู้ประกอบการในทุกขนาดธุรกิจ (SML) และทุกกลุ่มอุตสาหกรรม ส่งเสริมให้ดำเนินธุรกิจเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม วงเงินหมุนเวียนสูงสุด 200 ล้านบาทต่อราย ระยะเวลากู้สูงสุด 3 ปี อัตราดอกเบี้ยต่ำสุด 4.5% ต่อปี
นอกจากนี้สินเชื่อ Solar Orchestra วงเงิน 100% ของเงินลงทุน ดอกเบี้ยต่ำสุด 4.00% ต่อปี (Prime Rate-2.75% ต่อปี) เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการที่ต้องการลงทุนติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ได้แก่ Solar Rooftop, Solar Farm และ Solar Floating สำหรับใช้ภายในกิจการ รวมถึงเงินลงทุนสำหรับปรับปรุงหลังคาก่อนการติดตั้ง Solar Rooftop พร้อมได้สิทธิการขึ้นทะเบียนและรับรองคาร์บอนเครดิตตลอด 7 ปี
อีกทั้ง ยังมีสินเชื่อ EXIM SOLAR D-Carbon Financing สนับสนุนการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ไม่ว่าจะเป็น Solar Rooftop, Solar Farm และ Solar Floating วงเงินสูงสุด 100 ล้านบาทต่อโครงการ ดอกเบี้ยต่ำสุด 4.25% ต่อปี ระยะเวลากู้สูงสุด 7 ปี เบิกกู้ 90% ของเงินลงทุน โดยได้รับสิทธิการขึ้นทะเบียนและรับรองคาร์บอนเครดิต “โครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานประเทศไทย (T-VER)”
“หากสามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้เข้าถึงได้ง่าย และอัตราดอกเบี้ยจูงใจจะทำให้คนตัวเล็กปรับตัวได้มากขึ้น ซึ่งธนาคารมีหมุดหมายที่ชัดเจนว่าพร้อมที่จะสนับสนุนให้เกิดการเริ่มต้นที่จะเปลี่ยนแปลง โดยเติมความรู้ เติมโอกาส เติมเงินทุนให้เกิดธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมุ่งสู่ความยั่งยืน โดยเฉพาะองค์ความรู้การจัดการคาร์บอน เพื่อให้เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ให้ได้เร็วที่สุด”.