ตำรวจชุดคลี่คลายคดี “ยิงสารวัตร ทางหลวงเสียชีวิต” กลางงานเลี้ยงบ้านกำนันนกคนดังเมืองนครปฐม ยังคงเดินหน้าเรียกสอบตำรวจและพลเรือนที่อยู่ในเหตุการณ์อย่างต่อเนื่อง ทั้งเร่งรวบรวมพยานหลักฐานอื่นๆ และกู้คืนไฟล์เซิร์ฟเวอร์กล้องวงจรปิด เพื่อเป็นหลักฐานสำคัญเอาผิดคนมีเอี่ยวกับคดีนี้
โดยเฉพาะประเด็น “ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจที่นั่งร่วมในงานเลี้ยง” ที่ปล่อยคนร้ายก่อเหตุหลบหนี แถมยังปล่อยให้มีการทำลายพยานหลักฐานและระบบกล้องวงจรปิด จนถูกตั้งข้อสงสัยเป็นการประพฤติตนไม่สมควรเอื้อต่อกำนันนกอันนำไปสู่กล้าเหิมเกริมก่อเหตุสังหารตำรวจระดับสารวัตรหรือไม่
ในเรื่องนี้ พล.ต.ต.วิชัย สังข์ประไพ อดีตรองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (รอง ผบก.น.) บอกว่า สำหรับลำดับกระบวนการสืบสวนคดีจะแบ่งผู้อยู่ในงานเลี้ยงเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มแรก...“กลุ่มตำรวจที่ควบคุมตัวกำนันนกและมือปืน” แล้วพาหลบหนี ทำลายหลักฐาน กลุ่มนี้ต้องถูกดำเนินคดีทั้งอาญาและวินัยร้ายแรง
กลุ่มที่สอง...“บุคคลหนีออกจากพื้นที่ทันทีหลังเกิดเหตุ” อาจจะมีความผิดวินัยที่มานั่งกินด้วย เพียงแต่บางคนพยายามให้การเท็จช่วยเหลือผู้ต้องหา ส่วนนี้ต้องมีโทษทางอาญา กลุ่มที่สาม...“ผู้นำคนบาดเจ็บส่งโรงพยาบาล” กลุ่มนี้อาจอ้างได้ว่าเป็นห่วงคนถูกยิงต้องรีบนำส่งโรงพยาบาลส่งผลให้อาจหลุดจากคดีอาญาก็ได้
แต่ตำรวจในงานเลี้ยงทุกคนคงหนีไม่พ้น “ความผิดวินัย” เพราะช่วงเกิดเหตุไม่มีการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งตามวิสัยในการสกัดจับกุมคนร้าย “แบบนี้ประชาชนจะพึ่งพาคนเหล่านี้ได้ยังไง...?” จนส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์องค์กรตำรวจเสื่อมเสียอย่างมาก ดังนั้นกรณีนี้อาจเข้าข่ายความผิดฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ด้วยซ้ำ
...
เช่นนี้ ผบ.ตร.ควรสั่งการให้ตำรวจร่วมวงโต๊ะอาหารออกจากราชการไว้ก่อน ถ้าหากว่าคณะกรรมการสอบสวนเห็นว่า “ไม่มีความผิด” ก็สามารถกลับเข้ามารับข้าราชการตำรวจใหม่ได้ดั่งเดิม
ตอกย้ำด้วยสิ่งที่น่าสนใจ “ในเหตุการณ์ยิงตำรวจเสียชีวิตกลางงานเลี้ยงบ้านกำนันคนดังนี้” สะท้อนให้เห็นถึงพฤติกรรมอันเลวร้าย 3 ประการ คือ ประการแรก...เห็นพฤติกรรมตำรวจปล่อยปละละเลย ไม่ยอมจับกุมผู้กระทำความผิด ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย จนทำให้พี่น้องประชาชนเสื่อมศรัทธาต่อองค์กรตำรวจมากยิ่งขึ้น
ต่อมาคือ “ตำรวจร่วมงานเลี้ยงกินฟรี” ที่เป็นการประพฤติตนไม่สมควรขัดต่อจริยธรรมของตำรวจอยู่แล้ว “แถมดื่มเมามายจนเกิดเหตุยิงกัน” แต่ปรากฏว่าตำรวจในที่เกิดเหตุกลับไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย
ความเลวร้ายสุดท้าย “ตำรวจช่วยเสริมบารมีผู้มีอิทธิพล” โดยเฉพาะนักการเมืองท้องถิ่นมักสร้างอิทธิพลด้วยการดึงข้าราชการมาสนับสนุนบางอย่าง เช่นกรณีกำนันนกมีอาชีพรับเหมาก่อสร้าง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องคือ “ตำรวจ” ทำให้มักดึงตำรวจมาเป็นพวกสร้างบารมีจนกลายเป็นคนบ้าอำนาจเคยชินใครขัดใจเป็นไม่ได้
ถัดมาสำหรับ “ปมการจัดงานเลี้ยง” ตามข้อมูลมีนัยสำคัญ 3 เรื่อง คือ เรื่องแรก...จัดเลี้ยงส่งตำรวจระดับผู้กองคนหนึ่งใกล้เกษียณราชการ เรื่องที่สอง... เลี้ยงประจำเดือนอันมีข่าวลือว่าใช้เป็นพื้นที่ในโอกาสการพูดคุยเกี่ยวกับผลประโยชน์มิชอบหรือไม่ และเรื่องที่สาม...เลี้ยงสังสรรค์มีเป้าหมายชวนสารวัตรผู้ถูกยิงเข้าเป็นพวก
เพราะด้วยสารวัตรคนนี้เป็นคนตรงไปตรงมา “ถูกแต่งตั้งจาก ผบช.ก.” เพื่อปราบปรามล้างส่วยทางหลวง แล้วอาจเสนอผลประโยชน์แต่ไม่ยอมคล้อยตามเลยต้องชวนมากินข้าวกัน ก่อนเกิดการขออะไรบางอย่างที่เหนือกว่าการขอแต่งตั้งโยกย้าย ปรากฏว่าสารวัตรไม่ตอบสนอง ดังนั้นกำนันนกคิดว่าตัวเองมีบารมีบ้าอำนาจอยู่แล้ว
ทั้งมีอายุน้อยขาดวุฒิภาวะตัดสินใจบวกกับดื่มสุราก็เกิดความคึกคะนอง “พยักหน้าบอกลูกน้องลงมือก่อเหตุ” แต่คงไม่ใช่เป็นการวางแผนไว้ล่วงหน้าแน่ๆ อย่างไรก็ดีต้องรอผลสอบจากตำรวจชุดคลี่คลายคดีอีกครั้ง
ทว่ามีหลายคนตั้งคำถามว่า “มือปืนถูกยิงเสียชีวิตสาวถึงกำนัน หรือบุคคลอื่นได้หรือไม่...?” ตามปกติเมื่อเกิดเหตุกระบวนการสืบสวนของตำรวจมักพุ่งเป้าพยาน 2 กลุ่ม คือ พยานแรก...“บุคคลอยู่ในที่เกิดเหตุ” แม้ผู้อยู่ในเหตุการณ์ส่วนใหญ่คงให้การไม่ตรงกับความจริง เพื่อให้ตัวเองหลุดรอดจากความผิดนั้น
...
ถ้าหากถูกซักถามบ่อยๆ “ความจริงบางส่วนมักปรากฏออกมา” สิ่งนี้จะถูกนำมาต่อเป็นจิ๊กซอว์ของข้อเท็จจริง อันจะนำไปสู่การชี้เป้าตัวบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดได้
พยานกลุ่มที่สอง...“เซิร์ฟเวอร์กล้องวงจรปิด” อันเป็นวัตถุพยานสำคัญในคดีที่ถูกโยนทิ้งน้ำจนสามารถค้นหามากู้ข้อมูลเห็นภาพได้ชัดเจนครบ 100% เห็นพฤติกรรมของแต่ละคนที่อยู่ในงานนั้น และจะนำไปพิจารณาออกหมายจับเพิ่มเติม ดังนั้นงานนี้กำนันนกหลุดรอดจากการสั่งยิงสารวัตรทางหลวงได้ยาก
อีกทั้งยังมีอาวุธปืนใช้ก่อเหตุเดิมเป็นของตำรวจชั้นประทวนคนหนึ่ง และขายต่อให้กำนันนก สุดท้ายมาอยู่ในมือของคนร้ายใช้ก่อเหตุยิงสารวัตรได้อย่างไร สิ่งนี้อาจสันนิษฐานได้ว่ามีการส่งปืนให้ใช้ก่อเหตุหรือไม่...?
ประการต่อมา “กำนันนกเข้าข่ายผู้มีอิทธิพล” ความจริงกำนันนกถือเป็นผู้มีเงินคนหนึ่ง ถ้าหากไม่มีเหตุการณ์ยิงตำรวจก็เป็นนักประมูลรับเหมาก่อสร้างทั่วไป อีกด้านมีตำแหน่งเป็นกำนัน หรือเจ้าพนักงานของรัฐ ทำหน้าที่ดูแลช่วยเหลือสังคม ดังนั้นจึงถูกมองเป็นบุคคลกว้างขวางมีอำนาจใหญ่โตใน จ.นครปฐม พอสมควร
แต่ก็ยังไม่เข้าข่าย “ซุ้มมือปืน” เพราะกรณีจะเป็นซุ้มมือปืนได้ต้องมีการจ้างสังหารบุคคลอื่น อย่างสมัยก่อนมักคุ้นหูบ่อยคือ “มือปืน 4 ภาค” อันประกอบด้วย “ภาคตะวันตก” ที่มีซุ้มมือปืนใน จ.เพชรบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ โดยมีเอกลักษณ์ก่อเหตุด้วยปืน 11 มม. “ภาคใต้” ก็มีซุ้มใน จ.นครศรีธรรมราช จ.สุราษฎร์ธานี
ส่วน “ภาคเหนือ” มีซุ้มมือปืนใน จ.นครสวรรค์ จ.พิจิตร จ.ตาก นิยมใช้อาวุธปืนลูกซองอีโบ๊ะ “ภาคตะวันออก” มีใน จ.ชลบุรี จ.ตราด ใช้ปืนลูกโม่ก่อเหตุเป็นหลัก แล้วซุ้มมือปืนเวลารับงานต้องผ่านซุ้มไม่มีสิทธิรับงานเอง “ใครฝ่าฝืนถือว่าทรยศ” เจ้าของซุ้มมักสั่งเก็บเพราะขนาดซุ้มตัวเองยังทรยศหากถูกตำรวจจับความลับซุ้มคงแตก
...
ทว่าปัจจุบัน “ซุ้มมือปืนเหล่านั้นสลายตัวหมดแล้ว” แต่มือปืนบางคนกลายร่างมาหลบซ่อนอาศัยใต้ปีกของนักการเมือง นักธุรกิจ และผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่นที่สามารถคุ้มครองดูแลให้เงินใช้จ่ายได้ประจำ ขณะที่คนเลี้ยงมือปืนก็เพื่อประดับบารมี และคอยให้ช่วยเหลืองานธุรกิจผิดกฎหมายเล็กๆน้อยๆ บางอย่างเช่นกัน
แต่ก็ยังมีกฎเหล็กห้ามออกนอกลู่นอกทางโดยเฉพาะ “การรับงานนอกเอง” เพราะเป็นความเสี่ยงส่งผลกระทบจะย้อนกลับมาถึง “ผู้ดูแลมือปืน” ดังนั้นมือปืนยุคนี้เมื่อมาอยู่กับนักการเมืองมักไม่รับงานนอกกันแล้ว
ปัญหาว่าคดีนี้ถูกดึงโยงเป็นข้ออ้างต่อ “การปฏิรูปตำรวจ” อันที่จริงสิ่งที่เกิดขึ้นไม่เกี่ยวข้องกับองค์กรตำรวจแม้แต่น้อย เพราะ สตช.มีระเบียบให้ปฏิบัติเข้มงวดไม่ต่างจากตำรวจในต่างประเทศ เพียงแต่ภาพลักษณ์ที่กำลังเสื่อมเสียอยู่นี้ล้วนเกิดจาก “ตัวบุคคลประพฤติตนไม่ดี” จนส่งผลกระทบระบบองค์กรตำรวจเสื่อมเสียไปด้วย
“ฉะนั้นถ้าอยากให้ผู้มีอิทธิพลเกรงกลัวกฎหมาย และตำรวจก็ไม่ควรไปยุ่งเกี่ยวกับผลประโยชน์อันไม่ควรได้ ด้วยเมื่อใดก็ตามรับเงินเขามาแล้วความเกรงอกเกรงใจมักจะหมดลงทันที อย่างสมัยเป็นรอง ผบก.น.ไม่เคยแม้แต่ไปกินข้าวฟรีตามร้านอาหาร เพราะกลัวถูกดึงเป็นพวก หรือถูกลำเลิกบุญคุณกันภายหลัง” พล.ต.ต.วิชัยว่า
...
ส่วนในเรื่องการปฏิรูปตำรวจเคยมีการเรียกร้องกันมาทุกยุคสมัยแต่สุดท้ายมักทำไม่ได้ เพราะตำรวจขึ้นตรงกับสำนักนายกรัฐมนตรี คงเป็นไปได้ยากที่ “นายกฯ” จะปฏิรูปยอมให้ตำรวจหลุดออกจากมือไปโดยง่าย แม้แต่กรณี พ.ร.บ.ตํารวจแห่งชาติ พ.ศ.2565 ตัวเองเคยเสนอให้ ก.ตร. มาจากการเลือกตั้งทั้งหมดยังถูกตีตกไม่ผ่านมติด้วยซ้ำ
สุดท้ายฝากย้ำถึง “ข้าราชการตำรวจ” ตอนนี้สังคมกำลังจับจ้องการปฏิบัติหน้าที่อยู่ตลอดเวลา “สิ่งใดประพฤติตนไม่ดี” ควรหันหลังมาระลึกถึงจริยธรรมตำรวจโดยเฉพาะ “ตำรวจชั้นผู้ใหญ่” ที่เป็นเสมือนฟันเฟืองในองค์กรต้องปฏิบัติตนให้เป็นแบบอย่างที่ดีแล้วผู้ใต้บังคับบัญชาจะทำตามเอง...
คลิกอ่านคอลัมน์ "สกู๊ปหน้า 1" เพิ่มเติม