"กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง" ทส.ร่วมบริษัทเอกชน ผนึกกำลัง "ชุมชน-พันธมิตร" เก็บขยะชายหาด-ปลูกป่าชายเลน ฟื้นฟูสมดุลระบบนิเวศทะเลไทยอย่างยั่งยืน ที่ปากน้ำประแส อ.แกลง ระยอง เนื่องในวันอนุรักษ์ชายฝั่งสากล
วันที่ 17 ก.ย. 66 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กลุ่มบริษัทปูนซีเมนต์นครหลวง นำโดย อินทรี อีโคไซเคิล ร่วมกับ สำนักงานทรัพยากรทางทะเลที่ 1 กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พร้อมด้วย ‘ชุมชน-พันธมิตร’ กว่า 200 คน จัดกิจกรรม “เก็บขยะชายหาด” ระยะทาง 1.5 กม. พร้อม “ปลูกป่าชายเลน” จำนวน 400 ต้น ณ ปากน้ำประแส อ.แกลง จ.ระยอง เนื่องในวันอนุรักษ์ชายฝั่งสากล เพื่อช่วยลดปริมาณขยะไม่ให้หลุดรอดสู่สิ่งแวดล้อม สร้างจิตสำนึกการแก้ปัญหาขยะในทะเล และฟื้นฟูสมดุลระบบนิเวศทะเลไทยอย่างยั่งยืน
...
นางสาวสุจินตนา วีระรัตน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อินทรี อีโคไซเคิล จำกัด บริษัทในกลุ่มบริษัทปูนซีเมนต์นครหลวง เปิดเผยถึงกิจกรรมเก็บขยะชายหาด และปลูกป่าชายเลน ภายใต้โครงการ INSEE Green Heart Plus ว่า กลุ่มบริษัทปูนซีเมนต์นครหลวง ให้ความสำคัญด้านสิ่งแวดล้อมเสมอมา ตามกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจให้สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาด้านความยั่งยืน ปี พ.ศ.2573 ของกลุ่มบริษัทฯ จึงได้จัดกิจกรรมเนื่องในวันอนุรักษ์ชายฝั่งสากลประจำปี 2566 ซึ่งตรงกับวันเสาร์ของสัปดาห์ที่ 3 ในเดือนกันยายนของทุกปี เพื่อช่วยลดปริมาณขยะไม่ให้หลุดรอดสู่สิ่งแวดล้อม และมุ่งสร้างจิตสำนึกการแก้ปัญหาขยะในทะเลอย่างยั่งยืน
“อินทรี อีโคไซเคิล ในฐานะผู้ให้บริการจัดการของเสียและบริการภาคอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน ได้สนับสนุนและผลักดันความร่วมมือกับลูกค้า และพันธมิตร ในการจัดการขยะตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนอย่างต่อเนื่อง โดยมองว่า “ขยะ” คือ “ทรัพยากร” ที่ต้องบริหารจัดการให้เหมาะสม และเกิดประโยชน์สูงสุด ปัจจุบันปัญหาที่เกิดจากขยะมูลฝอยสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สิ่งมีชีวิต และสุขภาพของเราทุกคนเป็นอย่างมาก”
สำหรับกิจกรรมเก็บขยะชายหาดในระยะทาง 1.5 กม. พร้อมปลูกต้นโกงกาง 400 ต้น นำโดย คุณสุจินตนา วีระรัตน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อินทรี อีโคไซเคิล จำกัด พร้อมด้วย คุณภุชงค์ สฤษฎีชัยกุล ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 1 กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และ คุณไชยรัตน์ เอื้อตระกูล นายกเทศมนตรีตำบลปากน้ำประแส ซึ่งได้ร่วมให้ข้อมูลป่าชายเลนปากน้ำประแส และการมีส่วนร่วมของชุมชนอีกด้วย
นอกจากนั้นยังมีทีมอินทรีอาสา พร้อมด้วยพันธมิตร ประกอบด้วย บริษัท ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน), บริษัท กรุงเทพโทรทัศน์และวิทยุ จำกัด หรือ ช่อง 7 HD, บริษัท อินโน พรีคาสท์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของพฤกษาโฮลดิ้ง, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ วิทยาเขตระยอง และชุมชนปากน้ำประแส รวมกว่า 200 คน ร่วมเก็บขยะชายหาด และปลูกป่าชายเลน
สำหรับขยะที่ไม่สามารถนำมารีไซเคิลและมีค่าความร้อน จะถูกคัดแยกและส่งไปที่อินทรี อีโคไซเคิล เพื่อนำมาผลิตเป็นเชื้อเพลิงขยะ หรือ RDF (Refuse Derived Fuel) นำความร้อนกลับมาใช้ใหม่ (Energy Recovery) ทดแทนการใช้เชื้อเพลิงในการผลิตปูนซีเมนต์ นอกจากนี้ภายในงานยังมีการจัดนิทรรศการเกี่ยวกับขยะเชื้อเพลิง และให้ความรู้เกี่ยวกับขยะไมโครพลาสติก และอันตรายที่เกิดจากการปนเปื้อนของขยะไมโครพลาสติกในระบบนิเวศ โดย ดร.อุดมศักดิ์ บุญมีรติ คณะวิทยาศาสตร์ พลังงานและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ วิทยาเขตระยอง
...
จากรายงานประจำปี 2565 ของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พบว่า ขยะตกค้างชายฝั่งที่เก็บส่วนใหญ่เป็นขยะพลาสติกที่ร้อยละ 81 นอกจากนี้ข้อมูลสถิติจากโครงการอนุรักษ์ชายฝั่งสากล (International Coastal Cleanup™ Results) พบว่า 3 อันดับแรกของขยะที่เก็บได้ของประเทศไทยในปี 2565 คือ ถุงพลาสติก ขวดพลาสติก และหีบห่อบรรจุภัณฑ์อาหาร ตามลำดับ ซึ่งขยะเหล่านี้หากมีการคัดแยกและจัดการอย่างถูกวิธีจะช่วยลดปริมาณขยะที่ต้องส่งไปบ่อขยะ สามารถนำกลับมาใช้เป็นทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและยั่งยืนต่อไป
โดยอินทรี อีโคไซเคิล ในฐานะผู้นำด้านการให้บริการจัดการขยะที่มีประสิทธิภาพ และการบริการภาคอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน มีความเชี่ยวชาญในกระบวนการเผาร่วมในเตาเผาปูนซีเมนต์ (Co-processing) และการนำขยะที่ไม่สามารถรีไซเคิลได้มาใช้เป็นเชื้อเพลิงขยะ (Refuse derived fuel : RDF) ซึ่งจะทำให้ปริมาณขยะที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน และขยะตกค้างสะสมที่อาจหลุดรอดสู่ทะเลมีปริมาณที่น้อยลง
...
อินทรี อีโคไซเคิล ได้ริเริ่มโครงการรื้อร่อนขยะมูลฝอยจากบ่อขยะ และส่งเสริมให้มีจุดรวบรวมขยะที่ไม่สามารถรีไซเคิลได้ โดยเฉพาะพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว ขยะที่ไม่มีการรับซื้อและมีมูลค่าต่ำไม่คุ้มในการนำมารีไซเคิล เช่น ถุงพลาสติก ภาชนะ ช้อนส้อมพลาสติก มาผ่านกระบวนการปรับปรุงคุณภาพและจัดการต่างๆ เพื่อผลิตเป็นเชื้อเพลิงขยะ ซึ่งเป็นการนำขยะมูลฝอยชุมชนมาใช้เป็นพลังงาน เป็นการสนับสนุนการปิดวงจร หรือ Close the Loop ของขยะที่หลงเหลือไม่สามารถนำกลับมารีไซเคิลได้ ไม่ให้รั่วไหลไปสู่บ่อขยะและสิ่งแวดล้อม ตามหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Circular Economy ซึ่งเป็นโมเดลเศรษฐกิจใหม่ "BCG" หรือ Bio-Circular-Green Economy เศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว ในแนวทางของการพัฒนาองค์กรที่ยั่งยืน (SDGs) รวมทั้งขยายความร่วมมือกับพันธมิตรในการป้องกันและแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกอย่างต่อเนื่อง.