ธปท.เปิดงาน “BOT Digital Finance Conference 2023” รวมตัวคนการเงินอนาคต โชว์นวัตกรรมการเงินยุคใหม่ ผู้ว่าการ ธปท.ยืนยันพร้อมสร้างโครงสร้างพื้นฐานการเงินดิจิทัล การเชื่อมโยงข้อมูลและสร้างการแข่งขันที่เพียงพอ ขณะที่ virtual banks อยู่ระหว่างการทำหลักเกณฑ์การขอใบอนุญาต คาดให้บริการปี 2568 ด้านเคทีซีเปิดตัวบัตรใส ไม่มีเลขบัตร เปลี่ยนเลขหลังบัตรได้ตลอดเวลา เน้นความปลอดภัยลูกค้าขั้นสุด

นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ได้กล่าวเปิดงาน “BOT Digital Finance Conference 2023” ซึ่งเป็นการรวมตัวกันของผู้ประกอบการการเงินดิจิทัล และนวัตกรรมการเงินเพื่อที่จะมองไปข้างหน้าถึงอนาคตที่สมบูรณ์แบบของภาคการเงินไทย ว่า BOT Digital Finance Conference 2023 ครั้งนี้ จัดขึ้นภายใต้แนวคิด “Building ecosystem for responsible innovation” หรือการสร้างระบบนิเวศเพื่อรองรับและสนับสนุนการสร้างสรรค์นวัตกรรมอย่างมีความรับผิดชอบต่อสังคม โดย ธปท.จะให้ความสำคัญนโยบายใน 3 ด้านสำคัญ คือ Open Infrastructure หรือพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการชำระเงินที่สามารถใช้ประโยชน์ร่วมกันและเชื่อมโยงกันได้ ภายใต้โครงสร้างธรรมาภิบาลที่ดีและมีโครงสร้างราคาที่เหมาะสม

Open Data การใช้ประโยชน์จากข้อมูลชำระเงินดิจิทัล ผ่านการบูรณาการข้อมูลธุรกรรมชำระเงินของภาคการเงินและภาครัฐ ทั้งข้อมูลทางการเงิน (financial data) และข้อมูลนอกภาคการเงิน (non-financial data) และการใช้ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial intelligence, AI) ซึ่งกำลังจะเข้ามามีบทบาทอย่างมากทั้งในภาคการเงินและในชีวิตประจำวัน รวมทั้งยังเน้นการเปิด Open Competition เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการแข่งขันของผู้ให้บริการชำระเงินและใช้เทคโนโลยีใหม่พัฒนานวัตกรรมบริการชำระเงินในประเทศและระหว่างประเทศ

โดย ธปท.จะให้ความสำคัญกับการให้ความร่วมมือกับทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ และเอกชนในภาคการเงิน ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อช่วยในการดำเนินนโยบายและโครงการสำคัญต่างๆ ที่ประยุกต์ใช้นวัตกรรมทางการเงิน อาทิ การพัฒนาระบบการชำระเงินภายใต้ภูมิทัศน์ใหม่ภาคการเงินไทย การเชื่อมต่อระบบการชำระเงินระหว่างประเทศ การเพิ่มความตระหนักรู้ของประชาชนในการรับมือกับภัยคุกคามทางไซเบอร์ ทำได้อย่างต่อเนื่อง โดยในช่วงต้นไตรมาสที่ 4 ของปีนี้ ธปท.จะออก consultation paper on a digital technology framework หรือ “ภูมิทัศน์ใหม่ภาคการเงินไทยเพื่อเศรษฐกิจดิจิทัลและการเติบโตอย่างยั่งยืน” เพื่อเป็นกรอบในการปรับโครงสร้างของภาคการเงินไทยในอนาคตไปสู่ระบบการชำระเงิน และฐานการเงินดิจิทัล

“สำหรับการเปิดให้ใบอนุญาตธนาคารไร้สาขา หรือ virtual banks นั้น ในขณะนี้อยู่ในขั้นตอนของการออกเกณฑ์การขออนุญาต โดยคาดว่าจากกระบวนการขอใบอนุญาตทั้งหมด virtual banks จะเริ่มเปิดให้บริการได้ในปี 2568” ผู้ว่าการ ธปท.กล่าว

นอกจากนั้น “ในงาน “BOT Digital Finance Conference 2023” ยังมีนวัตกรรมล่าสุดในด้านการเงินดิจิทัลมานำเสนอ นายธศพงษ์ รังควร ผู้บริหารสูงสุดฝ่ายการตลาดบัตรเครดิต “เคทีซี” หรือบริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ในงานนี้เคทีซีได้เตรียมผลิตภัณฑ์ใหม่ล่าสุดมานำเสนอเป็นโชว์เคส ให้ทดลองใช้ ก่อนจะมีการเปิดตัวอย่างเป็นทางการในช่วงเดือน พ.ย. ปีนี้ ซึ่งเป็นบัตรเครดิตรูปแบบใหม่ “เคทีซี ดิจิทัล” (KTC DIGITAL CREDIT CARD) ซึ่งถือได้ว่าเป็นนวัตกรรมที่สุดของความปลอดภัยครั้งแรกในไทย ที่เคทีซีคัดสรรมาจัดแสดงเพื่องานนี้โดยเฉพาะ

โดยความพิเศษของ KTC DIGITAL CREDIT CARD จะโดดเด่นอย่างมากในเรื่องของความปลอดภัยที่เหนือชั้น โดยมี 3 จุดเด่นที่ชัดเจน จุดเด่นแรกคือ ปลอดภัยกว่า โดยเฉพาะกับการใช้จ่ายออนไลน์มั่นใจขั้นสุด ด้วยเลขหลังบัตรที่เปลี่ยนได้ทุกครั้งที่ขอ (Dynamic CVV/CVC2) และกำหนดให้ใช้ได้ภายใน 24 ชั่วโมงเท่านั้น สร้างความมั่นใจผูกบัตร เมื่อใช้จ่ายออนไลน์ ขณะที่จุดเด่นที่ 2 คือ การควบคุมการใช้งานได้ตามต้องการผ่านแอปพลิเคชัน “KTC Mobile” รวดเร็วกว่า สามารถใช้จ่ายได้ทันทีหลังได้รับการอนุมัติ ทั้งการใช้จ่ายออนไลน์ สแกนจ่ายด้วย QR Pay และผูกบัตรกับระบบชำระบนอุปกรณ์ต่างๆ เช่น กูเกิล เพย์ (Google Pay) สวอทช์ เพย์ (Swatch Pay) ฯลฯ ขณะที่จุดเด่นที่ 3 คือรูปลักษณ์ของบัตรพลาสติก จะเป็นบัตรพลาสติกไร้หมายเลขบนบัตร (Numberless Card)” เน้นการดีไซน์ที่โชว์ความโมเดิร์น ด้วยตัวบัตรที่โปร่งแสง (Translucent) และมีเพียงโลโก้แบรนด์ของเครือข่ายกับเคทีซีในฐานะผู้ออกบัตร กับชื่อของผู้ถือบัตรเท่านั้น โดยปราศจากตัวเลขและข้อมูลสำคัญบนบัตร เพื่อความปลอดภัยของผู้ถือบัตรในการใช้จ่าย

นายธศพงษ์ ยังกล่าวถึงการดำเนินงานของเคทีซีในปี 2566 ด้วยว่า ภาพรวมในครึ่งปีแรกเราเติบโตได้ 16% จากระยะเดียวกันของปีก่อน ขณะที่คาดว่า ในครึ่งปีหลังจะเติบโตได้มากกว่า 10% ทำให้ทั้งปีเคทีซีสามารถเติบโตได้เกิน 10% ซึ่งเป็นเป้าหมายที่ตั้งไว้ โดยในปีนี้บัตรเคทีซีโตมาจากกลุ่มลูกค้าที่มีเงินเดือนมากกว่า 30,000 บาทต่อเดือนเป็นหลัก และเราได้ตั้งเป้าที่จะขยายฐานลูกค้าในกลุ่มนี้มากขึ้น ซึ่งจากเดิมในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา สัดส่วนของลูกค้าส่วนนี้อยู่ที่ 30% ของลูกค้าทั้งหมดประมาณ 2.5 ล้านคน แต่ในปีนี้เพิ่มขึ้นเป็น 40% และจะรักษาสัดส่วนนี้ไว้ต่อเนื่อง.