ไม่กี่ปีก่อน ความปรารถนาของคนรุ่นใหม่คือการเป็นเจ้านายตัวเอง ปลดแอกจากความเป็นลูกจ้างและการถูกครอบด้วยกรอบเวลางานแบบออฟฟิศ แต่การเป็นเจ้าของกิจการที่ไม่ได้หอมหวานอย่างที่คิด ทำให้ความปรารถนาที่สดใหม่กว่าก่อกำเนิดขึ้น สู่การทำงานในฐานะพลเมืองโลก ผู้เดินทางข้ามเส้นแบ่งเขตแดนประเทศอย่างอิสระ ซึ่งเป็นอนาคตที่สมบูรณ์แบบ (Future Perfect) ของคนเจเนอเรชันปัจจุบัน

ดร.เอกก์ ภทรธนกุล หัวหน้าภาควิชาการตลาด คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า ก่อนหน้านี้ เด็กจบการ ศึกษาใหม่มักต้องการเป็นสตาร์ตอัพ (StartUp) หรือเจ้าของกิจการ (entrepreneur) เกิดเป็นกระแสมาแรงอยู่ช่วงหนึ่ง แต่จากนั้นไม่นาน เมื่อรุ่นพี่คนเจน Y อายุ 30 ปีขึ้นไป ไม่ได้ประสบความสำเร็จอย่างที่วาดฝันไว้ ประสบความยากลำบากในการทำรายได้ เทรนด์ในการมองอนาคตของคนในเจน Z คาบต่อเจน Alpha (รวมคนอายุต่ำกว่า 20 ปีลงมา) จึงเริ่มเปลี่ยน หันไปมองหาหน้าที่การงานในบริษัทข้ามชาติยักษ์ใหญ่ ซึ่งจะนำไปสู่โอกาสการทำงานในประเทศต่างๆ ทั่วโลก “เด็กจบใหม่จึงกำลังมองหาการทำงานร่วมกับบริษัทข้ามชาติ บริษัทซูเปอร์แอป ที่มีกิจการอยู่ในหลายประเทศ เพื่อที่จะได้มีโอกาสไปทำงานในต่างประเทศ นอกจากนั้นการมองหาบริษัทที่ดูแลสังคม สิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน มีความรับผิดชอบ เคารพความเท่าเทียมและไม่กีดกันทางเพศด้วย”

ดร.เอกก์ ยังกล่าวถึงทักษะที่คนรุ่นใหม่ต้องมี แบ่งเป็น Soft Skills ได้แก่ 1.ความยืดหยุ่น (resilience) โดยจะต้องมีความอดทนและความเข้าใจต่อสิ่งที่ไม่ได้เป็นอย่างที่คิด 2.ทักษะการสื่อสารอย่างละมุนละม่อม โดยเฉพาะความสามารถในการสื่อสารกับกลุ่มซูเปอร์สูงวัย (Super aging)

ในส่วนของ Hard Skills ได้แก่ 1.ความเข้าใจอย่างถ่องแท้ในข้อมูล หรือ Data Literacy มีความสามารถในการแยกแยะข้อมูลที่ดีและนำมาใช้พัฒนาตนและองค์กร 2.ความสามารถในการผสมผสานเครื่องมือดิจิทัลที่มีอยู่หลากหลายเพื่อนำมาซึ่งประโยชน์สูงสุด

หัวหน้าภาควิชาการตลาด คณะพาณิชยศาสตร์ และการบัญชี เปิดเผยอีกว่า ในมุมของนักการตลาด มีการวิเคราะห์และศึกษาพฤติกรรมของผู้บริโภค พบว่า มีความแตกต่างจากการมองโลกผ่าน 3 เลนส์ที่ไม่เหมือนกัน จนหลายครั้งนำไปสู่ความขัดแย้ง ไม่เข้าใจ ไปจนถึงเกลียดชัง เลนส์ที่ 1 คือ เลนส์ที่มองของจริงและของปลอมแตกต่างกัน ยกตัวอย่าง การเล่นเกม ที่คนรุ่นใหม่มองว่าเป็นเรื่องจริง เรียกเกมว่าเป็นกีฬาอี-สปอร์ต บางคนเล่นเป็นอาชีพ ขณะที่คนที่ไม่เข้าใจ มองว่าเกมเป็นของปลอม เป็นการใช้เวลาอย่างเปล่าประโยชน์ เลนส์ที่ 2 คือ เลนส์ที่มองว่าสิ่งใดเหมาะหรือไม่เหมาะ ยกตัวอย่าง การเรียนออนไลน์ ซึ่งคุณครูขอให้เปิดกล้องเพื่อให้พิสูจน์ว่าเด็กนั่งเรียนหนังสืออยู่จริง ขณะที่เด็กเห็นว่าการเปิดหน้าจอทุกคนพร้อมกัน ทำให้อินเทอร์เน็ตกระตุกและเรียนไม่รู้เรื่อง นำไปสู่ความขัดแย้ง

ส่วนเลนส์ที่ 3 คือเลนส์ที่มองความถูกที่ผิด มองความผิดที่ถูก ยกตัวอย่าง อาจารย์หมอที่สอนนักศึกษาแพทย์ให้รักษาผู้ป่วยตัวเป็นๆ ไม่ใช่รักษาผ่านออนไลน์ ขณะที่นักศึกษาแพทย์มองว่าการรักษาคนไข้ออนไลน์เป็นการเปิดโอกาสให้คนไข้ห่างไกลเข้าถึงหมอได้ทั่วถึง เป็นการมองผิด-ถูกด้วยมุมมองที่ต่างกันเท่านั้นเอง

“ทักษะที่คนทุกวัย ไม่เฉพาะคนรุ่นใหม่ต้องมีอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในยุคที่โซเชียลมีเดียก่อให้เกิดความขัดแย้งได้อย่างง่ายดาย นั่นคือความเข้าใจว่าคนเรามองโลกผ่านเลนส์ที่ไม่เหมือนกัน มิหนำซ้ำยังมีเทคโนโลยีอันชาญฉลาด คัดสรรข้อมูลที่รู้ว่าเราชอบ สนใจ ส่งให้ดูผ่านหน้าจอ ทำให้คนขาดแคลนข้อมูลที่รอบด้านมากขึ้นเรื่อยๆ ทักษะในการหาข้อมูลที่มีมิติและหลากหลาย จึงจะช่วยให้ทุกคนมีอนาคตที่สมบูรณ์แบบได้” ดร.เอกก์ กล่าวปิดท้าย

เพื่อมองไปข้างหน้า ค้นหาอนาคตที่สมบูรณ์แบบไปด้วยกัน ไทยรัฐกรุ๊ปได้จัดงาน “Thairath Forum 2023 Future Perfect เปิดมุมคิด พลิกอนาคต” โดยมี เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ให้เกียรติขึ้นเวทีตอบข้อซักถาม ในวันที่ 18 ก.ย. 2566 เวลา 09.00 น. ติดตามรับชมได้ทางไทยรัฐทีวีช่อง 32 และไทยรัฐออนไลน์ รวมทั้งติดตามอ่านข่าวได้ที่หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ.