“ยางพาราจากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ เป็นการร่วมเจรจาและจับมือการพัฒนางานวิจัยด้านต้นน้ำ กับบริษัท Deroose Plants NV ประเทศเบลเยียม มุ่งใช้พันธุ์ยางตามคำแนะนำของไทย เพื่อขยายพันธุ์ยางด้วยนวัตกรรมการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ ต้นยางพาราจะมีโอกาสเติบโตได้ดี เปิดกรีดได้รวดเร็ว และให้ผลผลิตเฉลี่ยสูงขึ้นมากกว่า 30% จะเป็นประโยชน์โดยตรงต่อเกษตรกรชาวสวนยาง ที่จะปลูกยางพาราที่มีคุณภาพดีกว่าเดิม จะมีรายได้หรือผลตอบแทนต่อไร่จากการขายผลผลิตมากยิ่งขึ้น และสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจให้กับประเทศไทยในอนาคต”

ดร.กวีฉัฏฐ ศีลปพิพัฒน์ ประธานกรรมการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) บอกถึงที่มาของยางพาราเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ ระหว่างเดินทางไปหารือกับหน่วยงานของไทยในสหภาพยุโรป ณ กรุงบรัสเซลล์ ประเทศเบลเยียม เรื่อง EUDR หรือกฎหมายว่าด้วยสินค้าที่ปลอดจากการตัดไม้ทำลายป่า ที่สหภาพยุโรปจะบังคับใช้ภายในปี 2567 ยางพาราต้องสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ การนำเข้ายางและผลิตภัณฑ์จากยางทั้งหมด ต้องมาจากสวนยางที่มีเอกสารสิทธิ ถูกต้อง ไม่อยู่ในพื้นที่ต้นน้ำ พื้นที่อนุรักษ์ และพื้นที่ป่า รวมถึงการจัดการสวนยางพารา ต้องเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และไม่ส่งผลกระทบต่อสังคม

...

บริษัท Deroose Plants NV ถือเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืชระดับโลก นับเป็นความร่วมมือกับองค์กรระหว่างประเทศ ที่ กยท.มุ่งมั่นจะพัฒนางานวิจัยด้านต้นน้ำ โดยการศึกษาวิจัยกับพันธุ์ยางตามคำแนะนำของประเทศไทย โดยวิธีการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ เพื่อผลิตต้นยางที่มีคุณภาพสูง

นอกจากนี้ต้นยางยังมีความแข็งแรง สามารถเจริญเติบโตได้เร็วกว่าปกติ เกษตรกรสามารถเปิดกรีดได้เร็วขึ้นจากเดิม 1–2 ปี ซึ่งเป็นนโยบายหลักของ กยท. ในการเพิ่มผลผลิตยางพาราต่อไร่ให้สูงขึ้น และยังสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่ให้ความสำคัญกับการนำนวัตกรรมที่สามารถเสริมและเพิ่มรายได้ โดยการสนับสนุนการเพิ่มประสิทธิภาพ และผลิตภาพของภาคการเกษตร

โดยความร่วมมือนี้ เป็นความร่วมมือที่จะเป็นการปฏิวัติวงการยางพาราไทย เพื่อให้เกษตรกรชาวสวนยางได้มีรายได้และผลตอบแทนที่สูงขึ้น ที่จะเกิดขึ้นได้ในเร็ววัน จากการลงนามความร่วมมือกับบริษัทผู้นำด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืชเกษตรที่มีประสบการณ์มามากกว่า 40 ปี และมีการขยายสาขาเพื่อศึกษา วิจัยทั้งในทวีปยุโรป อเมริกา และเอเชีย

“เราส่งต้นพันธุ์ยางพาราสายพันธุ์ RRIM 600, PB 235, IRCA 825, IRCA 331 และ IRCA 230 ไปให้บริษัท Deroose Plants NV เพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อเมื่อ 3 ปีที่แล้ว จนถึงตอนนี้พร้อมแล้วที่จะนำมาปลูกทดสอบในประเทศไทย โดยในอีก 2 เดือน จะเริ่มทดสอบที่ศูนย์วิจัยยางฉะเชิงเทรา แล้วกระจายสู่เกษตรกรทั่วประเทศ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตยางพาราเฉลี่ยต่อไร่ให้สูงขึ้น อันจะส่งผลให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น และหวังว่าการวิจัยและพัฒนาในครั้งนี้ จะเป็นแนวทางในการผลิตต้นยางที่มีคุณภาพ และเป็นประโยชน์ทางเศรษฐกิจให้เป็นทางเลือกแก่เกษตรกรไทย”.

...

กรวัฒน์ วีนิล

คลิกอ่าน "ข่าวเกษตร" เพิ่มเติม