ทันทีที่เข้ารับตำแหน่งใหม่ “ครม.เศรษฐา 1” ภายใต้การนำของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ก็เริ่มเดินหน้าทำงานบริหารประเทศ เพื่อแก้ปัญหาด้านเศรษฐกิจ สังคม ความเหลื่อมล้ำ และปัญหาความแตกแยกทางด้านความคิดทั้งหลาย

ด้วยการชูนโยบายเร่งแก้หนี้สินภาคเกษตร ธุรกิจ ประชาชน และปรับลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน สร้างรายได้จากการท่องเที่ยว “แก้ปัญหาความขัดแย้งในเรื่อง รธน.” ทั้งยังมีแผนการสร้างรายได้ สร้างโอกาส และสร้างคุณภาพชีวิตที่ดี กระตุ้นการกระจายรายได้สู่ชุมชนด้วยนโยบายกระเป๋าเงินดิจิทัล 10,000 บาท

กลายเป็นความหวังของคนไทยสะท้อนปัญหาเร่งด่วนที่ต้องแก้ไขจาก นิติรัตน์ ทรัพย์สมบูรณ์ ผู้ประสานงานเครือข่าย We Fair ผ่านเวทีราชดำเนินเสวนาหัวข้อการบ้าน ครม.เศรษฐา 1 แก้วิกฤติประเทศ บอกว่า ก่อนหน้านี้เคยเดินสายคุยพรรคการเมืองนำเสนอ 9 เรื่อง คือ 1.เสนอเงินอุดหนุนเด็ก 0-18 ปี 3,000 บาทจำนวน 17.1 ล้านคน

ข้อ 2.เรียนฟรีอนุบาล-มัธยม 9.2 ล้านคน 3.ระบบสุขภาพ 3 กองทุนมาตรฐานเดียวกัน 47 ล้านคน 4.ที่อยู่อาศัยคุณภาพราคาสอดรับรายได้ให้ 25 ล้านครัวเรือน 5.แรงงานมีคุณค่ามีเวลาดูแลครอบครัว 39 ล้านคน

...

ข้อ 6.ประกันสังคมครอบคลุมสิทธิทุกอาชีพ 39 ล้านคน 7.พัฒนาเบี้ยยังชีพเป็นบำนาญถ้วนหน้า 3,000 บาท/เดือน ปรับขึ้นตามอัตราเงินเฟ้อให้ 12 ล้านคน 8.สวัสดิการเสมอภาคทั้งคนพิการ สตรี 17 ล้านคน 9.ปฏิรูปภาษีเงินเพิ่มมีเงินเติมสวัสดิการให้ 67 ล้านคน เรื่องนี้อดีต หน.พรรคเพื่อไทยเคยรับข้อเสนอ 9 ข้อด้วยความยินดี

แต่นั่นอาจจะเป็นเชิง “เทคนิคหาเสียงหรือไม่เราไม่ทราบ” แต่แน่นอนว่าเอกสารนำมาใช้อยู่นี้มีการยื่นกับ กกต.ไปแล้ว เพราะเรื่องการทำตามสิ่งที่หาเสียงไว้ค่อนข้างมีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับพรรคการเมือง

ถ้ามองจาก “ภาพรวมเกี่ยวกับสวัสดิการ” ดูตามนโยบายหาเสียงพรรคการเมืองยังมุ่งสู่รัฐสวัสดิการ เช่น พรรคพลังประชารัฐ พรรคเพื่อไทย และไม่มีพรรคใดตัดเบี้ยยังชีพ เว้นแต่ ก.มหาดไทยจะตัดให้เฉพาะคนจน

ถัดมาคือ “สถานการณ์ความยากจน” ในปี 2564 มีเส้นแบ่งความจนที่รายได้เดือนละ 2,803 บาท มีอยู่ 4.4 ล้านคน กลุ่มผู้เกือบเป็นคนจนมีรายได้เดือนละ 3,000 บาทขึ้นไป 4.8 ล้านคน ดังนั้นตอนนี้ประเทศไทยมีคนจน 9.2 ล้านคน และภาคใต้มีครัวเรือนยากจนรุนแรงสูงสุดร้อยละ 10.9 ภาคอีสานมีคนจนมากสุด/รายได้ต่อหัวต่ำ

ย้ำครัวเรือนมีรายได้เฉลี่ยเดือนละ 2.7 หมื่นบาท แต่รายจ่ายเฉลี่ย 2.1 หมื่นบาท บุคคลมีรายได้เฉลี่ยเดือน 9.9 พันบาท ค่าใช้จ่าย 7.8 พันบาท กลุ่มคนรวยสุดมีรายได้ 3.4 หมื่นบาท คนยากจนสุดมีรายได้ 2 พันบาท ในปี 2566 หนี้สินครัวเรือน 15.96 ล้านล้านบาทคิดเป็น 90.6% ของ GDP หนี้สินเฉลี่ย 2.5 หมื่นบาทเพิ่มขึ้น 12% จากปี 2562

ในปี 2563 ไทยมีดัชนีคนจนมากอันดับ 55 ของโลก การคุ้มครองทางสังคมอยู่อันดับที่ 69 การศึกษา 62 จาก 82 ประเทศ ส่วนลูกคนร่ำรวยมีโอกาสร่ำรวยต่อไปแต่คนจนก็จนเรื่อยๆ กลายเป็นสถานการณ์ส่งต่อความจน

ส่วนเรื่อง “ความเหลื่อมล้ำ” ติดอันดับ 1 ใน 5 ของโลก เพราะในปี 2564 ครัวเรือนมีมูลค่าทรัพย์สินรวมสูงสุด 31.2% ของ GDP ประเทศ ส่วนแบ่งรายได้กลุ่มรวยที่สุด 31.43% กลุ่มยากจนที่สุด 2.04% ต่างกัน 16.4 เท่า

แบ่งทรัพย์สินการเงินกลุ่มรวยสุดร้อยละ 51.1 สูงกว่ากลุ่มจนสุด 30.2 เท่า ผู้ถือครองที่ดินมากสุด 631,263 ไร่ เป็นโฉนด 61.48% ส่วนผู้ถือครองที่ดินมากสุด กับน้อยสุดครอบครองที่ดินต่างกัน 855 เท่า ค่าสัมประสิทธิ์ความไม่เสมอภาค ถือครองโฉนด 95 ล้านไร่ มีอยู่ 15 ล้านรายในปี 2555 เท่ากับ 0.886

หากดูเฉพาะ “เศรษฐี 40 อันดับแรก” จากปี 2552-2565 มีทรัพย์สิน เพิ่มขึ้น 5.7 เท่าจาก 2.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯเป็น 1.43 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2565 เศรษฐีมีทรัพย์สินมากกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์มีทรัพย์สินมูลค่า 1.36 แสนล้านดอลลาร์ ส่วนเงินฝากไม่เกิน 5 หมื่นบาทมีอยู่ 105 ล้านบัญชี เป็นเงิน 4.44 แสนล้านบาท

บัญชีมากกว่า 50,000 บาท 14.2 ล้านบัญชีเป็นเงิน 15.1 ล้านล้านบาท และเงินฝากมากกว่า 500 ล้านบาท 1,543 บัญชีเป็นเงิน 2.4 ล้านล้านบาท ฉะนั้นความเหลื่อมล้ำจึงผูกพันกันอยู่

...

ตอกย้ำด้วย “สถานการณ์ความเปราะบาง” เด็กและเยาวชนอายุ 0-21 ปีทั่วประเทศมีอยู่ 2.9 ล้านคน อยู่ในครอบครัวมีรายได้เฉลี่ย/คน/เดือน 2,577 บาท ค่าใช้จ่ายการเลี้ยงดูเฉลี่ย 6,250 บาท/เดือน และในปี 2565 ผู้ว่างงาน 5.46 แสนคน แรงงานอิสระนอกระบบ 20.4 ล้านคน และเข้าไม่ถึงระบบประกันสังคม 10 ล้านคน

ผู้สูงอายุ 12 ล้านคนได้เบี้ยยังชีพ 600-1,000 บาท 10.8 ล้านคน และไม่เคยปรับมาตั้งแต่ปี 2554 คนพิการ 2 ล้านคนได้เบี้ยยังชีพ 800 บาท ทำให้องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) เคยชี้สัดส่วนค่าใช้จ่ายการคุ้มครองทางสังคมต่อ GDP เฉลี่ยของไทย 3% ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยโลก 12.9% ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออก 7.5%

ทีนี้เมื่อเปรียบเทียบ “รัฐมนตรี” เรื่องเคยยื่นข้อเสนอเงินอุดหนุนเด็ก การพัฒนาเด็ก และศูนย์เด็กเล็ก หากโฟกัส “รมว.พม.” ไม่ปรากฏในนโยบายหาเสียงของพรรคชาติไทยพัฒนา และพรรคเพื่อไทย “การศึกษา” พรรคภูมิใจไทยที่ดูแลทั้งกระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม

...

ในช่วงท้ายๆมีการหาเสียงพูดถึง “การเรียนฟรีในระดับปริญญาตรี” แต่เอกสารส่ง กกต.กลับไม่มีนโยบายเรียนฟรี ไม่มีการพัฒนาคุณภาพการศึกษา การยกเลิกหนี้ กยศ. หรือเงินอุดหนุนการเรียนรู้ในทุกช่วงวัย อันต่างไปจาก “พรรคเพื่อไทย” มีทั้งเรื่องอาหารกลางวัน การเรียนอาชีวะฟรี และปรับโครงสร้างการศึกษา ป.ตรี

ต่อมา “หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า” พรรคเพื่อไทยมีนโยบายยกระดับระบบหลักประกันสุขภาพ 3 กองทุน อัตราเหมาจ่ายรายหัว 3,000 บาท แต่สิทธิข้าราชการ 1.5 หมื่นบาท เป็นโจทย์ทำอย่างไรให้มีสิทธิเท่ากัน “ที่อยู่อาศัยของ พม.” ก็ไม่มีนโยบายตามที่เราเสนอให้ปรับลดดอกเบี้ย มีบ้านเช่ามาตรฐานราคาถูกสำหรับคนทั้งสังคม

ในส่วน “การทำงาน และรายได้” ตรวจสอบแล้วไม่พบว่าพรรคภูมิใจไทยมีนโยบายด้านแรงงานตอบสนองค่าจ้างพื้นฐาน การปรับค่าจ้าง และการลดชั่วโมงการทำงาน สิทธิลาคลอด 180 วัน

ประเด็น “โครงสร้างงบประมาณ” ในปี 2566 สวัสดิการประชาชนทั้งหมด 4.5 แสนล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 14 สวัสดิการข้าราชการราว 4.9 แสนล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 15 แต่หากเป็นสวัสดิการ และรายจ่ายบุคคลากรข้าราชการอยู่ที่ 1.2 ล้านล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 40 ทำให้เห็นภาพสวัสดิการประชาชนไม่ควรตัดลดไปกว่านี้

...

ทว่าถ้าต้องใช้งบประมาณ 5.6 แสนล้านบาท สำหรับนโยบายเงินดิจิทัลนั้นเงินก้อนนี้สามารถนำมาใช้ขับเคลื่อนนโยบายรัฐสวัสดิการด้านอื่นได้ 20% หากต้องการกระตุ้นควรพูดถึงการปฏิรูปภาษีต่างๆ การปฏิรูปกองทัพในปีที่แล้วใช้งบประมาณกว่า 2 แสนล้านบาท ถ้าลดลง 20% ก็เท่ากับจะได้เงินงบประมาณกว่า 4 หมื่นล้านบาท

“ยิ่งสามารถลดเงินซื้อเรือดำน้ำอีก 3 หมื่นล้านบาทก็จะมีเงินเป็นสวัสดิการผู้สูงอายุได้นานถึง 1 ปี สำหรับเงินช่วยเหลือผู้สูงอายุ 3,000 บาทนี้ก็ปรับการให้ปีแรก 1 พันบาท จากเดิมได้ 600 บาทนั้นเท่ากับปรับเพิ่ม 400 บาท แล้วธรรมชาติของผู้สูงอายุเมื่อได้รับเงินแล้วก็มีการใช้จ่ายเลย จึงสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้เช่นกัน” นิติรัตน์ว่า

เรื่องสำคัญคือ “การกู้วิกฤติข้ามขั้ว ครม.หน้าเดิมบวกเพื่อไทย” จริงๆแล้วเราต้องให้โอกาสรัฐบาลพรรคเพื่อไทยก่อน ในส่วนรัฐมนตรีอยู่มา 4 ปีคงไม่ได้หวังโอกาสอะไร แต่จะเร่งในการตรวจสอบมากกว่า

ท้ายสุดเวลาพูด “เรื่องรัฐสวัสดิการ” คงแยกขาดกับการแก้โครงสร้างรัฐธรรมนูญไม่ได้อันมีความจำเป็นต้องเดินหน้าแก้ไขเร่งด่วน และขอยกความในมาตรา 12 ของรัฐธรรมนูญ 2489 บุคคลย่อมมีสถานะเสมอกัน ตามกฎหมายฐานันดรศักดิ์โดยกำเนิดก็ดีโดยแต่งตั้งก็ดี หรือโดยประการอื่นใดก็ดี ไม่ทำให้เกิดเอกสิทธิ์อย่างใดเลย

นี่เป็นการบ้านฝาก“ครม.เศรษฐา 1” เพราะเรื่องสวัสดิการประชาชนนั้นเป็นการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างพัฒนาคุณภาพชีวิตสังคม สามารถทลายกำแพงระหว่างคนรวย และคนจนลงได้จริงๆ.

คลิกอ่านคอลัมน์ "สกู๊ปหน้า 1" เพิ่มเติม