เมื่อวันที่ 7 ก.ย. ที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา ประธานกรรมการศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) หรือ TCELS เป็นประธานการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านการพัฒนา เรื่องการขับเคลื่อนและติดตามประเมินผลนวัตกรรมด้านการแพทย์และสุขภาพในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ระหว่าง นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการ สปสช. และ ดร.จิตติ์พร ธรรมจินดา ผอ.TCELS โดย ศ.นพ.ประสิทธิ์กล่าวว่า การลงนามครั้งนี้ เนื่องจากประเทศไทยมีคนเก่งคิดเรื่องใหม่ๆ แต่ไม่มีเวทีนำสิ่งเหล่านี้มาก่อประโยชน์ แต่ TCELS เราจะหาคนที่อยู่ในมุมมืดเหล่านี้ นำนวัตกรรมเหล่านี้มาสนับสนุน เกิดการนำไปใช้ได้จริง

พร้อมให้ทุนงานวิจัย เติมเต็มสิ่งที่ขาด เชื่อมโยงกับสิทธิประโยชน์ต่างๆให้สามารถผลิตและขายได้ และมีการติดตามว่าผลดีจริงหรือไม่ สำคัญคือในประเทศต้องใช้ ลูกค้าที่จะใช้มากที่สุดคือ สปสช. สิ่งเหล่านี้เริ่มเห็นภาพและเกิดขึ้นแล้ว อย่างนวัตกรรมที่ทำไปแล้วคือ ถุงอวัยวะเทียมและรากฟันเทียม ที่ผลิตโดยคนไทย วัตถุดิบประเทศไทย สปสช.นำเข้าสิทธิประโยชน์แล้ว โดยนวัตกรรมที่เรากำลังมองมีอีกหลายตัว เวลาเราใช้ของผลิตในประเทศไทย ไม่ใช่แค่ไม่เอาของจากต่างประเทศเข้า แต่วัตถุดิบมาจากต้นทางก็ในประเทศไทย จะเห็นสายธารของผลประโยชน์ที่เกิดขึ้น

ด้าน นพ.จเด็จกล่าวว่า นวัตกรรมที่ สปสช.เพิ่มเข้าไปในสิทธิประโยชน์ หลายตัวเป็นงบประมาณเดิม แต่เปลี่ยนระบบจากให้ รพ.ต่างคนต่างซื้อมาจัดซื้อรวม ค่าใช้จ่ายบางตัวไม่เพิ่มขึ้น แต่เราจัดระบบมุ่งเป้าว่าช่วยสินค้าไทย อย่างถุงทวารเทียมไม่ได้จ่ายเงินเพิ่ม แค่ใช้ยางพาราในไทยช่วยสร้างเศรษฐกิจขึ้นมา หรือรากฟันเทียมเพิ่มงบประมาณก็จริง แต่ที่ซื้อกลับถูกกว่าต่างประเทศ ยังมีอยู่ในไปป์ไลน์หลายตัว เช่น ตรวจปัสสาวะในผู้ป่วยเบาหวานเพื่อป้องกันไตเสื่อม กำลังดูว่าสินค้าไทยออกมาได้ไหม เรื่องนี้จะสอดรับกับนโยบายรัฐบาลในเรื่องการยกระดับบัตรทอง.

...