สะเทือนวงการข้าราชการไทยให้ต้องตื่นตัว “เมื่อหน่วยงานภาครัฐสอบตกคุณธรรม และความโปร่งใสการดำเนินงานจำนวน 1,586 หน่วยงาน” สามารถผ่านตามเกณฑ์ 85 คะแนน จำนวน 6,737 หน่วยงาน จากองค์กรเข้าร่วมทั้งหมด 8,323 หน่วยงานทั่วประเทศ ในการประเมิน ITA ประจำปี 2566
ผลมาจาก “คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)” มีการสำรวจเก็บข้อมูลตัวชี้วัดจากบุคลากรภาครัฐ 4.2 แสนคน และประชาชนผู้รับบริการ 5.8 แสนคน สะท้อนผลการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ “ด้านคุณธรรมและความโปร่งใส” ก่อนสังเคราะห์เป็นคะแนนประเมินผ่านเกณฑ์ 85 คะแนน
ท่ามกลางสังคมสงสัยหลักการให้คะแนนนี้กรณีกรมอุทยานแห่งชาติฯ ได้ 100 คะแนน แต่มีการทุจริตซื้อขายตำแหน่งจนเป็นข่าวอื้อฉาว ดร.มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) บอกว่า
...
การประเมิน ITA นั้น ป.ป.ช.ต้องการให้ประเทศไทยมีเกณฑ์การประเมินคุณธรรม และความโปร่งใส รวมถึงเป็นการติดตามปัญหาการคอร์รัปชันในหน่วยงานภาครัฐ เพราะที่ผ่านมาใช้ดัชนีการรับรู้การทุจริตปัญหาคอร์รัปชันของประเทศ (CPI) ทำให้มีการไปศึกษารูปแบบการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสของประเทศเกาหลีใต้
ก่อนพัฒนาปรับให้เข้าบริบทสถานการณ์ในไทยเสมือนเครื่องมือตรวจสุขภาพ “หน่วยงานภาครัฐ” ตั้งเกณฑ์ประเมิน 88 ข้อ ทั้งการปฏิบัติงาน การบริการ การใช้งบประมาณ การใช้อำนาจ และการแก้ปัญหาการทุจริต
ทว่าผู้มีสิทธิ์ประเมิน ITA แบ่งเป็น 3 ส่วน คือ 1.ข้าราชการภายใน 2.ประชาชนผู้รับบริการ หรือผู้มีส่วนได้เสียภายนอก 3.การเปิดเผยข้อมูลสาธารณะสามารถทำได้ตามมาตรฐานกฎหมายไทย หรือตามหลักเกณฑ์ที่ ป.ป.ช.กำหนดไว้ได้มากน้อยเพียงใด แล้วนำข้อมูล 3 ส่วนนี้มาสังเคราะห์ให้เป็นคะแนนประเมิน ITA ประจำปี 2566
สำหรับผลสามารถเรียงหน่วยงานได้คะแนนมากไปหาน้อย คือ ก.มหาดไทย 94.68 ก.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ 94.37 ก.อุตสาหกรรม 94.14 ก.คลัง 93.96 ก.แรงงาน 93.15 ก.ยุติธรรม 92.50 ก.วัฒนธรรม 92.45 ก.การท่องเที่ยวและกีฬา 92.31 ก.พลังงาน 91.90 ก.เกษตรและสหกรณ์ 91.70 ก.กลาโหม 91.36
ต่อด้วย ก.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 90.61 ก.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม 90.52 ก.พาณิชย์ 89.52 สำนักนายกฯ 89.50 ไม่สังกัดสำนักนายกฯ กระทรวง หรือทบวง 88.61 ก.คมนาคม 88.58 ก.สาธารณสุข 86.06 ก.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม 85.44 ก.ศึกษาธิการ 84.64 และ ก.ต่างประเทศ 77.35
ถ้าหากไล่เรียงระดับกรม หรือเทียบเท่าคะแนนสูงสุด คือ กรมการปกครอง 99.03 สนง.ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 99.01 กรมโรงงานอุตสาหกรรม 98.90 กรมราชทัณฑ์ 98.43 กองทัพเรือ 98.07 กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ 97.76 สนง.นโยบายและแผนพลังงาน 97.55
คะแนนต่ำสุด 10 หน่วยงาน คือ กรมเอเชียตะวันออก 78.14 กรมการกงสุล 77.79 กรมยุโรป 76.51
กรมอุทยานแห่งชาติฯ 75.54 กรมอเมริกาและแปซิฟิกใต้ 72.37 สนง.คณะกรรมการอาหารและยา 72.16 กรมอาเซียน 69.72 สนง.คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ 65.11 สตช. 58.80 กรมองค์การระหว่างประเทศ 51.18
ข้อสังเกตคือ “กระทรวงต่างประเทศ” มีระดับกรมหรือเทียบเท่าเข้าร่วมประเมิน 13 กรม ในจำนวนนี้ผ่านการประเมิน 85 คะแนนขึ้นไปเพียง 2 กรมเท่านั้น สะท้อนให้เห็นว่า “ผู้บริหารระดับสูง” ไม่ใส่ใจบริการประชาชน หรือไม่สนใจในการพัฒนาคุณธรรมและความโปร่งใสในองค์กรหรือไม่ จึงสอบตกการประเมิน ITA มากขนาดนี้...?
ตอกย้ำว่า “หน่วยงานที่ผ่านการประเมิน ITA ก็ไม่สามารถการันตีได้ว่าจะไม่มีการคอร์รัปชัน” เพราะปัจจุบันกำลังเจอกับปัญหาความไม่ซื่อสัตย์ บางหน่วยงานของรัฐโกงการประเมินให้ได้คะแนนสูงๆ สังเกตจากคะแนน ITA สูงขึ้นทุกปี แต่กลับสวนทางค่าดัชนี CPI ที่ชี้ชัดถึงว่าประเทศไทยมีการคอร์รัปชันปรากฏให้เห็นมากมาย
เท่าที่ทำการตรวจสอบปรากฏพบ “พฤติกรรมการบิดเบือนข้อมูลจริงในการล็อก-ลอก-บัง” ด้วยการประเมิน ITA แต่ละหน่วยงานมักให้ศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริตรับผิดชอบที่มอบหมายให้คนภายในทำไม่กี่คน หรือให้เลขานุการระดับ 8-9 ดำเนินการ ทำให้การนำเสนอปัญหาและการมีส่วนร่วมดูแลองค์กรขาดหายไป
...
เมื่อเป็นเช่นนี้ย่อม “เกิดการลอก” ด้วยการจงใจลอกเลียนข้อมูล ผลงาน หรือลอกคำตอบการประเมินหน่วยงานอื่น ที่อาจเป็นข้อมูลล่วงรู้มาจากผลงานปีก่อนๆ หรือการร่วมการประชุมแลกเปลี่ยนระหว่างหน่วยงาน รวมถึงการสอบถามแลกเปลี่ยนข้อมูลในกลุ่มไลน์ผู้แทนหน่วยงานระหว่างเตรียมรับการประเมินนั้น
ไม่เท่านั้นยังมี “พฤติกรรมการล็อก” ที่ได้จากการวางแผนล็อกคำตอบเพื่อกำหนดผลการประเมิน เช่น การกำหนดตัวบุคคลที่จะตอบแบบประเมิน การโน้มน้าวหรือซักซ้อมให้เกิดคำตอบไปในทิศทางที่ต้องการหรือแม้แต่เป็นการทำแทนกันโดยเก็บเลขที่บัตรประชาชนหรือบัตรข้าราชการของผู้อื่น เพื่อนำมาตอบแบบประเมินก็มี
ยิ่งไปกว่านั้นยังมี “การปิดบังข้อมูลภายใน” เท่าที่เราดำเนินงานมาสิ่งที่ถูกค้นพบมีทั้งการปิดบังโดยตั้งใจ ไม่ตั้งใจ หรือเกิดจากความไม่ใส่ใจ รวมถึงเก็บขึ้นหิ้งไม่ใช้ประโยชน์อย่างเช่น บางหน่วยงานออกระเบียบเพื่อกำหนดว่า “ข้อมูลประเภทใดให้ปกปิดเป็นความลับ” ส่งผลให้ไม่ถูกประเมินตามกติกาของ ป.ป.ช.ด้วยซ้ำ
...
ทำให้ไม่น่าแปลกใจว่า “ทหาร ตำรวจ และอีกหลายแห่ง” ที่น่ากังขาในสายตาประชาชนได้คะแนนสูงๆ แล้วเมื่อเสร็จสิ้นการประเมินมักทราบเพียงว่า “หน่วยงานใดได้เกรดหรือคะแนนเท่าไหร่” แล้วปีหน้าค่อยว่ากันใหม่ โดยไม่มีใครนอกจาก ป.ป.ช.รู้ว่าการประเมิน 88 ข้อ แต่ละหน่วยงานมีอะไรดีขึ้น-แย่ลงที่ต้องปรับปรุงอะไรบ้าง
อีกทั้งหน่วยงานใดมีปัญหาอะไรที่รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรใส่ใจเป็นพิเศษ “ต้องแก้ไขโดยด่วนหรือลงโทษ” แล้วหน่วยงานไหนที่มีผลงานโดดเด่นที่จะเป็นแบบควรยกย่องก็ไม่ถูกเปิดเผยออกมา ดังนั้นข้อมูลจากการประเมิน ITA นอกจากประชาชนไม่ได้รับรู้ถึงสถานการณ์ความเสี่ยงต่อการทุจริตคอร์รัปชันแล้ว
ทำให้เชื่อว่า “แม้แต่ปลัดกระทรวง รัฐมนตรี นายกรัฐมนตรี และ ครม.” ก็ไม่มีผู้ใดได้ล่วงรู้เช่นกัน เหตุนี้จึงไม่แน่ว่าหน่วยงานตรวจสอบอย่าง สตง. ปปท. ปปง. จะล่วงรู้ด้วยหรือไม่ ส่งผลให้การทุจริตคอร์รัปชันในหน่วยงานภาครัฐถูกซุกซ่อนไว้ไม่ได้รับความสนใจในการแก้ปัญหาอย่างจริงจัง
อย่างเช่นกรณี “กรมอุทยานฯ” นับว่าเป็นตัวอย่างที่ค่อนข้างชัดเจน เพราะหน่วยงานนี้ติดอันดับต้นๆ ที่ถูกประเมินจากบุคคลภายนอก (EIT) และบุคคลภายใน (IIT) มาตั้งแต่ปี 2562 ว่า มีหลายอย่างที่เสี่ยงต่อการเกิดคอร์รัปชันเพียงแต่ “ไม่มีใครพูดถึง” จนนำมาสู่การเกิดเรื่องอื้อฉาวขึ้นอย่างที่เป็นข่าวโด่งดังมาในช่วงที่ผ่านมา
...
ประเด็นอยากเสนอ “ยกการประเมิน ITA ให้เป็นที่ยอมรับต่อประชาชนและหน่วยงานภาครัฐ” ด้วยการเปิดเผยผลการสำรวจ ITA ต้องไม่จำกัดแค่ผลคะแนนแต่ต้องเปิดเผยข้อมูลรายประเด็นที่น่าจับตาเป็นพิเศษของแต่ละหน่วยงานว่ามีอะไรดีอะไรไม่ดีแล้ว ป.ป.ช.ต้องตามผลหน่วยงานนั้นมีการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นหรือไม่
นอกจากนี้ “ทุกข้อมูลการประเมิน IIT EIT และ OIT” สะท้อนปัญหาความไม่โปร่งใสส่อเค้าว่าจะเกิดการทุจริตหรือเสื่อมเสียจริยธรรม ต้องนำมาใช้ประโยชน์โดยรายงาน ครม. รัฐมนตรี ปลัดกระทรวงให้ทราบ แล้วสิ่งใดที่ดีควรเชิดชูเป็นแบบอย่าง “เพื่อกำลังใจคนทำงาน” แต่สิ่งใดเป็นปัญหาต้องถูกจับตาแก้ไขและป้องกันความเสียหาย
สุดท้ายควรมีมาตรการป้องกันและบทลงโทษสำหรับพฤติกรรมไม่ซื่อสัตย์ของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง “ในการจงใจลอกเลียนข้อมูล หรือลอกคำตอบในการประเมินของหน่วยงานอื่น” เพราะแต่ละปีใช้งบประมาณดำเนินงานไม่ต่ำกว่า 50 ล้านบาท ฉะนั้นการกำหนดผลประเมินทำให้เกิดความเสียหายย่อมต้องมีบทลงโทษให้ชัดเจน
ย้ำว่าไม่มีสิ่งใดการันตีว่า “หน่วยงานที่ผ่านประเมิน ITA จะไม่มีการคอร์รัปชัน” แต่หน่วยงานที่ปฏิบัติจริงจังตามเกณฑ์ ITA ย่อมสามารถควบคุมการทุจริตคอร์รัปชันของบุคลากรได้ดีขึ้นตามเป้าหมายของ ป.ป.ช.
อนาคตหวังว่า “ป.ป.ช.” จะเปิดเผยผลประเมิน ITA เชิงลึกรายกระทรวง กรม ให้สังคมมีส่วนร่วมตรวจสอบกระตุ้นผู้บริหารเมินเฉยลุกขึ้นมาพัฒนาหน่วยงานให้มีระดับคุณธรรมและความโปร่งใสดีขึ้น.
คลิกอ่านคอลัมน์ "สกู๊ปหน้า 1" เพิ่มเติม