“ความสำเร็จที่แท้ มิใช่อยู่ที่การเรียนรู้เท่านั้น แต่อยู่ที่ความสามารถในการประยุกต์ใช้ความรู้นั้นให้เกิดประโยชน์แก่มวล มนุษยชาติ”

พระราชดำรัสของ สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก พระบิดาแห่งการแพทย์แผนปัจจุบันของไทย ที่ชาวศิริราชยึดถือเป็นแนวปฏิบัติมาโดยตลอด

ล่าสุดยังจุดประกายนำไปสู่การริเริ่มโครงการ “ก้าวแรกของพระบรมศาสดา” ภายใต้แนวคิด “ศิริราชมอบความรักให้แก่เพื่อนมนุษย์ Love for Humanity by Siriraj” ด้วยการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเทียมให้ผู้ป่วยด้อยโอกาสชาวเนปาล

ศ.นพ.อภิชาติ อัศวมงคลกุล คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า ตลอดระยะเวลา 135 ปีที่ผ่านมา คณะได้พัฒนาการรักษาพยาบาลมาอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งผลิตงานวิจัย สร้างนวัตกรรมใหม่ที่มีประสิทธิภาพสูง เพื่อสร้างสรรค์สุขภาวะที่ดีให้กับประชาชน ไม่เพียงแต่คนไทย ศิริราชยังมอบโอกาสด้านสุขภาพแก่มนุษยชาติบนโลก ตามพระราชดำรัสของ สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก โดยภาควิชาศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิกส์และกายภาพบำบัด ได้จัดทำโครงการ “ก้าวแรกของพระบรมศาสดา” ภายใต้แนวคิด “ศิริราชมอบความรักให้แก่เพื่อน มนุษย์” ด้วยการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเทียมให้แก่ผู้ป่วยด้อยโอกาสและถ่ายทอดวิชาการด้านการแพทย์ที่เมืองลุมพินี ประเทศเนปาล เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่ พระบาทสมเด็จพระมหา ภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และ พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งทีมแพทย์นำโดย ศ.นพ.กีรติ เจริญชลวานิช หัวหน้าภาควิชาศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิกส์และกายภาพบำบัด คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล ในฐานะหัวหน้าโครงการ “ก้าวแรกของพระบรมศาสดา” และคณะรวม 30 คน จะเดินทางไปผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมด้วยนวัตกรรมล่าสุดให้แก่ผู้ด้อยโอกาสจำนวน 35 คน ระหว่างวันที่ 1-6 ต.ค.2566 ที่ รพ.สิทธัตถะ เมืองลุมพินี ประเทศเนปาล

...

ศ.นพ.อภิชาติ อัศวมงคลกุล
ศ.นพ.อภิชาติ อัศวมงคลกุล

ด้าน ศ.นพ.กีรติ เล่าถึงที่มาโครงการว่า เป็นความตั้งใจของภาควิชา ที่จัดทำ โครงการถวายเป็นพระราชกุศลแด่ในหลวงรัชกาลที่ 9 และรัชกาลที่ 10 และได้พิจารณาที่ลุมพินี ประเทศเนปาล เพราะเป็นสถานที่สำคัญ เป็นต้นกำเนิดของพระพุทธศาสนา แต่ด้านการแพทย์ยังมีความไม่พร้อมหลายด้าน จึงเป็นที่มาของโครงการ “ก้าวแรกของพระบรม ศาสดา” ซึ่งได้ระดมความร่วมมือจากหลายฝ่าย โดยเฉพาะการสนับสนุนจาก พระราชภาวนาวชิรากร (หลวงพ่ออินทร์ถวาย สันตุสสโก) เจ้าอาวาสวัดป่านาคำน้อย จ.อุดรธานี พระราชวชิรธรรมาจารย์ (หลวงพ่อสุธรรม สุธัมโม) เจ้าอาวาสวัดป่าบ้านตาด จ.อุดรธานี และ พระธรรมศากยวงศ์วิสุทธิ์ (หลวงพ่ออนิลมาน ธมฺมสากิโย) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศราชวรวิหาร กรุงเทพ มหานคร เจ้าคณะภาค 6-7 ธรรมยุต

หัวหน้าโครงการกล่าวด้วยว่า ภาควิชาได้นำนวัตกรรมใหม่ล่าสุดที่ใช้รักษาผู้ป่วย รพ.ศิริราช ในการทำหัตถการเปลี่ยนข้อเทียม ซึ่งทำให้ผู้ป่วยสามารถเดินได้ตั้งแต่วันแรกหลังการผ่าตัด แผลมีขนาดเล็กมาก และไม่มีการอักเสบ เป็นนวัตกรรมที่จะนำไปใช้รักษาผู้ป่วยที่ รพ.สิทธัตถะ พร้อมทั้งส่งมอบแผนการดูแลรักษาหลังการผ่าตัด นอกจากนี้ยังถ่ายทอดความรู้แก่แพทย์ออร์โธปิดิกส์ที่ รพ.สิทธัตถะในเรื่องความก้าวหน้าการดูแลบาดเจ็บทางกระดูกสันหลัง การผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียม การดูแลรักษาผู้ป่วยมะเร็งเนื้องอกกระดูก ผู้ป่วยบาดเจ็บเอ็นไขว้เข่าฉีกขาด ผู้ป่วยผิดรูปทางเด็ก ผู้ป่วยกระดูกหักรอบข้อสะโพก รวมถึงโรคที่พบบ่อยทางมือ ผ่านระบบ Online และ Onsite

ศ.นพ.กีรติ เจริญชลวานิช
ศ.นพ.กีรติ เจริญชลวานิช

ศ.นพ.กีรติ ยังฉายภาพถึงการทำงานว่า ทีมแพทย์ได้เดินทางลงพื้นที่ประเทศเนปาลตั้งแต่ต้นปี 2566 เพื่อตรวจคัดกรองสุขภาพประชาชนที่มารับบริการถึง 703 คน จนคัดเลือกผู้ป่วยมาได้ 35 คนอายุระหว่าง 60-80 ปีที่เข้าเกณฑ์รับผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม แต่ละคนไม่ได้มีปัญหาเพียงข้อเข่า ยังมีปัญหาสุขภาพอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นโรคความดันสูง ความซีดขาดเกลือแร่ โรคปอด โรคหัวใจ ทีมแพทย์ต้องดูแลทั้ง

ระบบ ซึ่งอุปสรรคการดำเนินโครงการมีมากมาย เนื่องจากเป็นการผ่าตัดใหญ่ในต่างแดน ค่าใช้จ่ายจึงค่อนข้างสูง จำเป็นต้องใช้บุคลากรให้เต็มศักยภาพมากที่สุด แทนที่ 1 คนจะรับงานด้านเดียว ก็ต้องทำงานกว้างขึ้น 3-4 ด้าน ซึ่งทีมแพทย์ที่ไป มีศัลยแพทย์กระดูกและข้อ 10 คน วิสัญญีแพทย์ 4 คน พยาบาลส่งเครื่องมือ 8 คน พยาบาลประสานงานดูแลผู้ป่วย 4 คน และนักกายภาพบำบัด 3 คน ทุกคนต้องทำงานเป็นทีมในเวลาจำกัดให้เกิดประสิทธิภาพและมีความปลอดภัยสูงสุด มีการแบ่งงานรับผิดชอบวางระบบการดูแลอย่างทั่วถึง อุปสรรคอีกด้านคือการสื่อสารทั้งกับแพทย์ในพื้นที่ และผู้ป่วยรวมถึงญาติพี่น้องที่ต้องทำความเข้าใจทั้งก่อนรับบริการในการเตรียมความพร้อมด้านต่างๆ

...

รวมถึงการปฏิบัติตนหลังผ่าตัด มีการออกคู่มือปฏิบัติตนล่วงหน้า มีการประสานกับท้องถิ่นเพื่อช่วยทำความเข้าใจ นอกจากนี้ยังมีข้อจำกัดด้านอุปกรณ์เครื่องมือของ รพ. ซึ่งเครื่องมือเฉพาะทางส่วนใหญ่เราต้องขนไป ขณะที่บางอย่างต้องประยุกต์และประสานขอยืม รพ.ใกล้เคียง เช่น ตู้ปลอดเชื้อที่ รพ.มีขนาดเล็กมาก ต้องขนจากเราไปและประสานยืมจาก รพ.ที่ใกล้สุดแต่ห่างไกลถึง 50-60 กม. หรือแม้แต่ตู้เย็นที่ รพ.มีเพียงตู้เดียว ก็ต้องประยุกต์นำถังพลาสติกขนาดใหญ่แช่น้ำแข็งใส่เกลือเพื่อแช่เจลประคบ ที่สำคัญคือการสำรองเลือด เพราะเป็นการผ่าตัดใหญ่ครั้งแรกของ รพ.สิทธัตถะ ต้องระดมคนในครอบครัว คนท้องถิ่นช่วยกันบริจาค สิ่งเหล่านี้เป็นความท้าทายที่เราได้ร่วมกันแก้ไขและเดินหน้าอย่างเต็มที่จนถึงวันที่เราพร้อมจะเดินทางไปในวันที่ 1-6 ต.ค.นี้

“เป็นครั้งแรกของศิริราชที่ผ่าตัดใหญ่ข้อเข่าในต่างแดน เป็นสิ่งที่ท้าทายอย่างมาก ซึ่งแรกๆก็หวั่นว่าจะทำได้ดีหรือไม่ เพราะห่วงเรื่องความปลอดภัยเป็นที่สุด แต่ยิ่งนานวันเราก็ได้เห็นถึงธรรมะจัดสรรที่ทำให้เราได้พบกับคนที่ช่วยสนับสนุนดูแลซึ่งกันและกันไม่ว่าเบื้องหน้าและเบื้องหลัง จนเดินหน้าโครงการไปได้ ทำให้เราเกิดความมั่นใจในความสำเร็จมากขึ้นเรื่อยๆ หมอคิดเสมอว่า สปิริตความเมตตาช่วยเหลือกัน เป็นสิ่งสำคัญของการอยู่ร่วมกัน ทั้งยังช่วยลดช่องว่างระหว่างกันและกันได้” ศ.นพ.กีรติ กล่าวถึงความมุ่งมั่น

...

ทั้งนี้โครงการยังเปิดโอกาสให้ผู้มีจิตศรัทธาร่วมเป็นผู้ให้ โดยบริจาคได้ที่บัญชีศิริราชมูลนิธิ ธนาคารไทยพาณิชย์ เลขที่บัญชี 016-300049-4 หรือบัญชีวัดป่าบ้านตาดเพื่อผู้ยากไร้และกระดูก ธนาคารไทยพาณิชย์ เลขที่บัญชี 510-458808-1

ทีมข่าวสาธารณสุข ขอร่วมส่งกำลังใจและเชื่อมั่นใน “ทีมคณะแพทย์ศิริราช” ที่จะปฏิบัติภารกิจครั้งสำคัญกับการส่งมอบความรักจากโครงการ “ก้าวแรกของพระบรมศาสดา” ได้สำเร็จลุล่วงด้วยดี

เพื่อช่วยเหลือดูแลรักษาเพื่อนมนุษย์ด้วยกันยังดินแดนพุทธภูมิให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น.

ทีมข่าวสาธารณสุข