นับแต่อดีตจนปัจจุบัน “ประเทศไทย” มีผู้กระทำผิดจากการต่อสู้ทางการเมืองถูกดำเนินคดีพิพากษาถึงที่สุดก้าวสู่การใช้ชีวิตในเรือนจำอันมีกำแพงสี่เหลี่ยมล้อมรอบออกจากโลกภายนอกอยู่บ่อยครั้ง

ท่ามกลางกระแสข่าวลือว่า “เหล่าบรรดานักการเมือง หรือคนรวย” มีอภิสิทธิ์ชนเหนือผู้ต้องขังคนอื่นที่เรียกว่า “คุกวีไอพี” เนรมิตให้อยู่อย่างสะดวกสบายสามารถนอนห้องแอร์มีคนคุมดูแลอย่างใกล้ชิดได้จริงหรือไม่ ในเรื่องนี้ “ทีมสกู๊ปหน้า 1” มีโอกาสพูดคุยกับ จตุพร พรหมพันธุ์ อดีตนักการเมืองที่เคยผ่านเรือนจำมา 5 ครั้ง เล่าว่า

ทันทีที่เปิดประตูเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ รถลำเลียงผู้ต้องขังใหม่จะวิ่งผ่านประตูนอกแล้วจอดให้ผู้ต้องขังเข้าช่องประตูชั้นใน “เดินผ่านเครื่องสแกนร่างกาย” เพื่อตรวจวัตถุสิ่งแปลกปลอมอาจซุกซ่อนนำเข้าไปด้วย ก่อนเข้าสู่ห้องทำประวัติ ทำเอกสารแสดงตัว ทำบันทึกลายนิ้วมือ ตรวจสอบว่าผู้ต้องขังใหม่ถูกต้องตรงตามหมายศาล

เมื่อเสร็จแล้วจะถูกนำตัวเข้าสู่ “แดนแรกรับในพื้นที่แดน 2” เพื่อให้ผู้ต้องขังใหม่มีโอกาสปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมอันจะมีเจ้าหน้าที่เรือนจำคอยจัดการปฐมนิเทศ อบรม แนะนำ กฎ ระเบียบ วินัยข้อปฏิบัติต่างๆประมาณ 15 วัน แล้วเจ้าหน้าที่ตั้งแต่แดน 1-แดน 8 จะเข้ามาจำแนกรับตัวผู้ต้องขังใหม่กระจายไปอยู่ในแดนต่างๆ

...

ยึดหลักเกณฑ์จำแนกตามประเภทของการกระทำความผิดอย่างเช่น “แดน 7” ที่มีเนื้อ 1 ไร่เศษ รองรับผู้ต้องขัง 500 คน ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มผู้ต้องขังในความผิดเสมือนจะโทษร้ายแรงแต่จำคุกไม่เกิน 15 ปี

แต่มักมีคำถามเสมอว่า “นักโทษทางการเมืองมีอภิสิทธิ์ชนกว่าคนอื่นหรือไม่...?” ในเรื่องนี้ขึ้นอยู่กับแต่ละคนหากวางตัวดี “ย่อมได้รับการเคารพมีอภิสิทธิ์เหนือคนอื่นเป็นธรรมดา” แต่ก็ต้องไม่เกินกว่ากฎ ระเบียบของกรมราชทัณฑ์อย่างสมัยอยู่ในเรือนจำ “มักใช้ชีวิตอย่างเรียบง่าย” ก็ถูกสั่งไปประจำป้อมรักษาการณ์

อันเป็นลักษณะการเคารพเอื้อเฟื้อช่วยเหลือซึ่งกันและกันมากกว่าการได้รับอภิสิทธิ์เหมือนคนอื่น

อย่าลืมว่า “เรือนจำมีกล้องวงจรปิดพันๆตัวจับผิดความเคลื่อนไหว 24 ชม.” แม้ตอนกลางคืนยังต้องเปิดไฟให้มีแสงสว่างทุกมุมฉะนั้นการกระทำสิ่งใดอันนอกเหนือไปจากกฎระเบียบย่อมไม่หลุดรอดจากกล้องไปได้

ส่วนกระแสข่าว “เรือนจำมีห้องวีไอพีกินหรูนอนห้องแอร์” ส่วนตัวไม่เคยเห็นห้องประเภทนี้เพราะโรงนอนทุกห้องจะติดพัดลม “อดีตนักการเมือง คนมีชื่อเสียง คนรวย” ล้วนต้องมานอนรวมกันบนพื้นที่เฉลี่ยคนละ 3 แผ่นกระเบื้องประมาณ 45 ซม. แล้วแต่ละคนจะมีผ้าห่ม 3 ผืน ใช้ปูนอน 1 ผืน หนุนหัว 1 ผืน และห่ม 1 ผืน

สำหรับตัวเองใช้หนุนหัว 2 ผืน ห่ม 1 ผืน ไม่ต้องปูก็นอนหลับได้จากความเคยชิน เช่นนั้นกรณีมีกระแสข่าวว่า “เรือนจำมีห้องวีไอพี” คงเป็นเรื่องเข้าใจผิดที่อาจหมายถึงบางคนมีโอกาสอยู่ในห้องนอนคนไม่แน่นอย่างสมัยอยู่แดน 7 มีผู้ต้องขัง 500 คน ทำให้อยู่กันสบายๆ แบบหลวมไม่แออัดมาก

ประเด็นถัดมา “คนดูแลนักโทษการเมืองใกล้ชิด” น่าจะเป็นเรื่องของความสัมพันธ์กัน ด้วยนักโทษมีโอกาสกินนอนร่วมกันเป็นเวลานานๆ ย่อมผูกพันนำมาซึ่งความเห็นอกเห็นใจไม่ว่าคนนั้นจะเข้ามาจากโทษใดก็ตาม

อย่างกรณี “นักโทษสูงอายุ 70 กว่าปีช่วยเหลือตัวเองไม่ได้” ที่มีเพียงนักโทษคดีอุกฉกรรจ์คอยทำหน้าที่ดูแลมาเป็นสิบปี แล้วนักโทษอุกฉกรรจ์คนนี้ก็กำลังจะได้พักโทษในอีก 3 เดือน แต่ก็ตัดสินใจยอมสละสิทธิ์ขอดูแลนักโทษชราคนนั้น ทำให้เห็นว่าในสิ่งที่เลวร้ายๆ ก็ยังมีความงดงามของความมีน้ำใจต่อกันอยู่

เช่นเดียวกับตัวเองบางครั้ง “มักมีน้องๆนักโทษคนอื่นเข้ามาช่วยซักผ้า” อันเป็นการดูแลซึ่งกันและกัน ทำให้คนไม่มีรายได้อยากมาดูแลเราแล้วแต่ละคนคดีอุกฉกรรจ์ทั้งนั้น เพราะทุกคนรู้ดีในเรือนจำนี้ต้องหลีกเลี่ยงมีเรื่องมีราวต่อกันให้มากที่สุด เพราะมีผลต่อการพิจารณาชั้น และลดโทษ ทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ต้องมีแต่มิตรไมตรี

สำหรับกิจวัตรประจำวันเริ่มตื่นนอนเวลา 05.00 น.สวดมนต์ออกกำลังกาย อาบน้ำ รับประทานอาหารเวลา 08.00 น. เข้าแถวเช็กยอด เคารพธงชาติ แยกย้ายเข้ากองงาน แล้วความใฝ่ฝันของนักโทษคือ “ทำงานขุดลอกท่อ” ที่คัดเลือกเฉพาะคนใกล้พ้นโทษเท่านั้น เพราะงานสาธารณะจะได้เบี้ยเลี้ยงค่าจ้าง และลดโทษวันต่อวัน

...

เวลา 14.30 น.เลิกงานอาบน้ำกินข้าวเย็น เวลา 16.00 น. เช็กยอดขึ้นเรือนนอน เวลา 21.00 น.เข้านอน

ในส่วน “อาหารการกินมีเลี้ยงฟรี 3 มื้อ” เพียงแต่บางคนไม่อยากกินข้าวหลวงก็สั่งอาหารของกรมราชทัณฑ์ด้วยการสั่งวันนี้ได้กินวันรุ่งขึ้น โดยมีการ์ดรูดบัตรให้ใช้ได้วันละ 300 บาท เดือนละ 9,000 บาท นอกจากนี้ยังมีอาหารญาติมาเยี่ยมทำให้ไม่ค่อยลำบากมีกินจนเหลือต้องแจกให้นักโทษคนอื่นเป็นการถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน

เพราะด้วยในเรือนจำทุกคนล้วนมีฐานะเท่าเทียมคือ “นักโทษ” ต้องลืมอดีตที่เคยเป็นใครแล้วคิดอยู่กับโลกปัจจุบันให้ได้ “อย่ายึดติด” เพื่อให้ความคิดหลุดพ้นให้เวลาแต่ละวันผ่านไปได้ ถ้าติดคุกแล้วไม่ปล่อยวางจะทำให้นอนไม่หลับส่งผลให้ร่างกายอ่อนเพลีย เหตุนี้อย่าคิดว่าอดีตเป็นใคร และอนาคตออกไปแล้วจะทำอะไร

...

สิ่งนี้ล้วนทำให้เกิดทุกข์วนเวียนอยู่เหมือนเดิม แต่ถ้ามองรอบๆห้องก็ยังมีเศรษฐี นักธุรกิจบริษัทหมื่นล้าน และคนฐานะร่ำรวย ต้องกลายมาเป็นนักโทษนอนกระเบื้อง 3 แผ่นเหมือนเราแล้วแบบนี้จะทุกข์กันไปทำไม

ประการถัดมา “การเลื่อนชั้นลดโทษ” ผู้ต้องขังเด็ดขาดเข้ามาในเรือนจำต้องเริ่มจาก “ชั้นกลาง” ถ้าต้องการเลื่อนชั้นต้องแสดงให้เห็นถึงความประพฤติดี มีอุตสาหะ ความก้าวหน้าในการศึกษา ทำการงานเกิดผลดี หรือทำความชอบแก่ทางราชการเป็นพิเศษ ทำให้ได้รับประโยชน์เลื่อนนักโทษชั้นดี ชั้นดีมาก และชั้นเยี่ยม ตามลำดับ

อันมีการพิจารณาในวันที่ 30 มิ.ย. และวันที่ 31 ธ.ค.ของทุกปี แต่หากทำผิดวินัยฝ่าฝืนระเบียบจะต้องถูกลงโทษอย่างเช่น งดเลื่อนชั้น ลดชั้น ตัดการเยี่ยมเยียนเว้นแต่เป็นกรณีติดต่อกับทนาย งดประโยชน์รางวัล ขังเดี่ยว และตัดวันลดโทษ กลายเป็นนักโทษชั้นปรับปรุง และชั้นปรับปรุงมากที่มักไม่ค่อยได้ลดโทษตามมา

ทว่าหากในช่วงนั้น “ประกาศพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ” ผู้ต้องขังชั้นดีจะได้ลดโทษ 1 ใน 5 ชั้นดีมากจะได้ลด 1 ใน 3 และชั้นเยี่ยม 1 ใน 2 เว้นแต่เป็นคดีการทุจริต ป.อาญา ม.157 มักถูกตัดสิทธิ์เหลือลดกึ่งหนึ่ง เช่น นักโทษชั้นเยี่ยมปกติลดโทษครึ่งหนึ่งของโทษก็เหลือเพียง 1 ใน 3 แทน

นอกจากนี้การเลื่อนชั้นนั้นยังได้รับการลดวันต้องโทษจำคุกรายเดือนอันเป็นไปตามชั้นด้วย เช่น “ชั้นเยี่ยม” ได้ลดโทษเดือนละ 5 วัน “ชั้นดีมาก” ได้ลดโทษเดือนละ 4 วัน “ชั้นดี” ได้ลดโทษเดือนละ 3 วัน

ถัดมากรณีนักโทษป่วย “สถานพยาบาลของเรือนจำ” โดยเจ้าหน้าที่พยาบาลจะคอยดูแลเป็นหลัก “แพทย์” มักหมุนเวียนมาสัปดาห์ละ 1-2 ครั้ง หากสถานพยาบาลรักษาไม่ได้ต้องนำตัวไป รพ.ราชทัณฑ์เท่านั้น แต่กรณีนักโทษป่วยหนักกลางดึกกระบวนการค่อนข้างหลายขั้นตอนใช้เวลานานทำให้นักโทษเสียชีวิตในเรือนจำเกิดขึ้นบ่อยๆ

...

“แตกต่างจากนักโทษผู้มีชื่อเสียงมักได้รับการดูแลเป็นพิเศษ เมื่อเจ็บป่วยต้องถูกส่ง รพ.ราชทัณฑ์ แล้วถ้าเกินศักยภาพจะถูกส่งต่อไปรักษาในโรงพยาบาลภายนอกเรือนจำ อย่างกรณีล่าสุดอดีตนักการเมืองชื่อดังถูกส่งไป รพ.ตำรวจกลางดึกด้วยโรคกล้ามเนื้อขาดเลือด ปอด ความดัน กระดูกสันหลังเสื่อมอย่างกะทันหันนั้น” จตุพร ว่า

ความจริงแล้ว “ผู้ต้องขัง” ที่ต้องโทษเข้ามาในเรือนจำมักเผชิญการนอนไม่หลับ กินไม่ได้ และมีปัญหาการขับถ่ายเป็นเรื่องปกติ บางคนนอนหลับวันนึงอีกวันนึงนอนไม่หลับทำให้รุ่งเช้าร่างกายอ่อนเพลีย แต่กรณีอดีตนักการเมืองชื่อดังถูกส่ง รพ.ตำรวจได้รับอภิสิทธิ์ชนหรือไม่ เรื่องมีข้อเท็จจริงอยู่ในกล้องวงจรปิดในเรือนจำ

ตามปกติแล้วนักโทษป่วยมักถูกส่งไป รพ.ราชทัณฑ์เท่านั้น แต่ด้วยอดีตนักการเมืองชื่อดังเป็นคนสำคัญทำให้ถูกส่งไป รพ.ตำรวจ เรื่องนี้ความจริงต้องดูกล้องวงจรปิดจะบ่งบอกได้ว่าใครเป็นอะไรยังไง แต่สิ่งนี้ทำให้โรคกล้ามเนื้อขาดเลือด ปอด ความดัน กระดูกสันหลังเสื่อมเป็นโรคใหม่ของเรือนจำส่งไปรักษาโรงพยาบาลภายนอกได้

สุดท้ายฝากไว้ว่า “ชีวิตการติดคุกควรทำตัวเหมือนอยู่ในสุสานคนเป็น” อย่ายึดติดเพื่อให้ความคิดหลุดพ้นจากการคิดมากให้ใช้ชีวิตอยู่กับการเป็นนักโทษปล่อยเวลาแต่ละวันผ่านไปให้ได้ก็พอ...

คลิกอ่านคอลัมน์ "สกู๊ปหน้า 1" เพิ่มเติม